xs
xsm
sm
md
lg

ภัยแล้งเยือนหนองคายน้ำโขงลดหาดทรายผุด ตั้งศูนย์ช่วยเหลือทุกอำเภอ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หนองคาย -น้ำโขงบริเวณจังหวัดหนองคายเริ่มแห้ง วัดได้เพียง 1 เมตรเศษ จังหวัดประกาศตั้งศูนย์แก้ปัญหาภัยแล้งทุกอำเภอ ขณะที่ส่วนอุทกวิทยา คาด ปีนี้อาจแล้งกว่าปีก่อน แนะเกษตรกรไม่ควรปลูกพืชที่ต้องใช้น้ำมากเกินไป

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดหนองคาย เริ่มเกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะปริมาณน้ำโขงได้ลดระดับลง ในวันที่ 18 ก.พ.2552 วัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ ได้ 1.72 เมตร และเกิดมีหาดทรายโผล่ขึ้นตามริมฝั่งแม่น้ำโขง รวมถึงเกิดสันดอนบริเวณกลางแม่น้ำโขงหลายแห่งแล้ว

ที่บ้านท่ามะเฟือง ต.โพนสา อ.ท่าบ่อ ได้เกิดดอนแตง ปรากฏชัดเจนจนชาวบ้านสามารถนั่งเรือข้ามแม่น้ำโขงไปปลูกพืชผักสวนครัวภายในดอนแตงได้แล้ว ชาวบ้านเล่าว่า ในปีนี้น้ำโขงลดระดับลงเร็วกว่าปีที่ผ่านมา และเกรงว่า ปัญหาภัยแล้งจะรุนแรงกว่าทุกปีก็เป็นได้ ถึงแม้ว่าปีที่ผ่านมา จ.หนองคาย จะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาภัยแล้งในปีนี้ดีขึ้นเท่าใดนัก ชาวนาที่ทำนาปรังต้องเสี่ยงกับการขาดแคลนน้ำในไร่นา และจากการที่เกิดหาดทรายขึ้นริมฝั่งโขง

โดยเฉพาะที่หาดจอมมณี ต.มีชัย อ.เมืองหนองคาย พ่อค้าแม่ค้าก็ได้ใช้โอกาสนี้หารายได้เสริม ด้วยการเปิดร้านอาหาร บริการอาหาร เครื่องดื่ม ให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ต้องการเล่นน้ำโขง และรับประทานอาหารพื้นเมืองย

ด้าน นายสุวิทย์ บัวเผื่อน หัวหน้าส่วนอุทกวิทยาหนองคาย กรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า ระดับน้ำโขงในปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมาจะมีความใกล้เคียงกัน แต่ระดับค่าเฉลี่ย 40 ปี ที่ใช้เปรียบเทียบระดับน้ำโขงนั้น พบว่า ระดับน้ำโขงในขณะนี้ยังสูงกว่าประมาณ 10 ซม.กล่าวคือ ขณะนี้ระดับน้ำโขงอยู่ที่ 1.72 เมตร แต่ระดับค่าเฉลี่ย 40 ปี อยู่ที่ 1.60 เมตร แสดงให้เห็นว่า ระดับน้ำโขงยังปกติ แต่ก็ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้

ทั้งนี้ เนื่องจากเฉลี่ยแล้ว ระดับน้ำโขงจะลดลงวันละ 0.5-1 ซม.และจะลดลงเรื่อยๆ ไปจนถึงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ดังนั้น เกษตรกรที่ทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้ง ทั้งนาปรัง หรือพืชสวน ควรงดการปลูกพืชที่ต้องการน้ำมาก เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและภาวะขาดทุนได้

ส่วน นายชรินทร์ สุวรรณภูเต ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดหนองคาย ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ทั้ง 17 อำเภอ ครอบคลุมทั้งจังหวัดแล้ว โดยให้แต่ละอำเภอรายงานสภาพความแห้งแล้งในพื้นที่ ความต้องการได้รับการช่วยเหลือทั้งแหล่งน้ำ น้ำดื่ม น้ำใช้ และอื่นๆ ที่จำเป็น เพื่อทางจังหวัดจะได้เร่งพิจารณาหาทางช่วยเหลือแก่ประชาชน

ศูนย์นี้จะตั้งอยู่ที่ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ สามารถแจ้งขอรับความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ดังกล่าว เบื้องต้นเจ้าหน้าที่จะจัดหารถน้ำนำน้ำไปแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้

กำลังโหลดความคิดเห็น