xs
xsm
sm
md
lg

นักสื่อสารวิทย์บีบีซีชี้ วิทยาศาสตร์ไม่มีคำตอบอะไรจริงแท้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.โทบี มัวร์คอทท์
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์จากบีบีซีบินตรงบรรยายพิเศษให้แก่ครูไทย ชี้วิทยาศาสตร์ไม่มีคำตอบว่าอะไรจริงแท้ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าอะไรถูก แต่พิสูจน์ได้ว่าอะไรผิด แนะนักข่าววิทยาศาสตร์นำเสนอข่าวงานวิจัย อย่าสนใจแค่ผล แต่ให้สนใจไปถึงกระบวนการในการศึกษาและทดลอง

ในฐานะที่เป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ จึงได้เข้าฟังการบรรยายพิเศษเรื่อง "เทคนิคการสื่อสารวิทยาศาสตร์" ที่จัดขึ้นโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เมื่อกลางเดือน มิ.ย.52 ที่ผ่านมา ซึ่งได้เชิญ ดร.โทบี มัวร์คอทท์ (Dr.Toby Murrcott) และ ศ.มาร์ก เบรก (Prof.Mk Brake) 2 นักสื่อสารวิทยาศาสตร์จากหน่วยวิจัยการสื่อสารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยกลามอร์แกน (Glamorgan University) สหราชอาณาจักรมาเป็นวิทยากร

ศ.เบรก นักเขียน นักจัดรายการและผู้ริเริ่มหลักสูตรวิทยาศาสตร์และนิยายวิทยาศาสตร์ (Science and Science Fiction) กล่าวถึงการสื่อสารวิทยาศาสตร์ว่า นิยายวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ โดยเรื่องแฟรงเกนสไตน์ถือเป็นตัวอย่างนิยายวิทยาศาสตร์ที่สะท้อนวิทยาศาสตร์ ในยุคนั้น ซึ่งเขียนขึ้นในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมของอังกฤษ เป็นช่วงที่คนสงสัยว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นดีจริงหรือมีปัญหาอะไรหรือไม่ และสิ่งหนึ่งที่หนังสือพูดไว้คือ วิทยาศาสตร์มีพลังอำนาจ ขณะเดียวกันผู้ใช้ก็ต้องมีความรับผิดชอบ

"ผมขอยกคำพูดของ วิลเลียม เวิร์ดสเวิร์ธ (William Wordsworth) กวีอังกฤษที่บอกไว้ว่า ถ้าผลงานของนักวิทยาศาสตร์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อม กวีก็คงไม่อยู่นิ่งเฉย แต่จะตามติดทุกฝีก้าว เพื่อเป็นเงาสะท้อนของวิทยาศาสตร์ และยังจะตามเข้าไปถึงหัวใจของวิทยาศาสตร์" ศ.เบรกกล่าว

ศ.เบรกจำแนกว่า สิ่งที่นิยายวิทยาศาสตร์จะกล่าวถึงคือเรื่องอวกาศ (space) เวลา (time) เครื่องจักร (machine) และสัตว์ประหลาดหรือปีศาจ (monster) ทั้งนี้ นิยายวิทยาศาสตร์เป็นงานเขียนที่ใช้จินตนาการ แต่ไม่ได้เป็นการสร้างเรื่องโดยปราศจากพื้นฐานความจริง เหมือนเรื่องแฮร์รี พอตเตอร์ (Harry Potter) หรือ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง (Lord of The Rings) เป็นต้น ซึ่งคนอ่านจะรับรู้ได้ว่าอะไรที่เป็นจริงหรือไม่เป็นจริง ต่างจากการอ่านเรื่อง ไอ แอม เลเจนด์ (I am Lagend) ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นวิทยาศาสตร์อยู่

ทางด้าน ดร.มัวร์คอทท์ผู้มีประสบการณ์ทำวิจัยด้านชีวเคมีกว่า 7 ปี ก่อนจะผันตัวเองไปเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ กล่าวว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่พิสูจน์ว่าอะไรถูกต้อง เพราะวิทยาศาสตร์ไม่สามารถให้คำตอบถึงสิ่งที่จริงแท้ ถ้าเปรียบความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ เหมือนการก้าวเดินจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง ก้าวถัดไปของแต่ละก้าวจะหดสั้นลงครึ่งเสมอ สิ่งที่รู้เพิ่มจะเป็นสิ่งที่รู้เพิ่มน้อยมาก และเป็นความรู้ที่เกิดขึ้นช้าลงทุกที

"วิทยาศาสตร์ไม่ได้สร้าง ข้อเท็จจริงแต่วิทยาศาสตร์ได้สะสมองค์ความรู้ให้เราตั้งประเด็นคำถามชุดใหม่ การค้นคว้าวิจัยไม่เคยหยุดนิ่ง และทุกการวิจัยจะมีคำถามอื่นๆ ตามมาเสมอ ผมเองทำวิจัยมา 7 ปี ทุกครั้งที่ได้คำตอบจากงานวิจัยหนึ่ง ก็จะมีคำถามตามมาอีก ไม่เคยจบสิ้น แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าถึงความจริงที่สุด แต่งานวิจัยเป็นงานที่จะเข้าใกล้ความจริงมากที่สุด" ดร.มัวร์คอทท์กล่าว

พร้อมกันนี้เขาได้ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ตรง กรณีแมวที่เขาเลี้ยงมานาน 11 ปี ว่า เขาสังเกตเห็นถึงความเชื่องช้าของแมวที่เลี้ยง จึงได้นำไปหาสัตวแพทย์ ซึ่งจากการตรวจร่างกายแมวสัตวแพทย์ได้บอกกับเขาว่าถึงเวลา "กล่าวลา" แล้ว เนื่องจากตับของแมวไม่แข็งแรง หลังจากนั้นเขาจึงนำแมวไปพบสัตวแพทย์ที่รักษาแบบพื้นบ้าน แม้จะรู้ว่าไม่มีทางรักษาหาย เนื่องจากเขาเองทำวิจัยมาและรู้ดีว่าตัวยาที่สัตวแพทย์พื้นบ้านใช้นั้น เจือจางมากจนแทบไม่เหลือสารออกฤทธิ์สำคัญ และสัตวแพทย์พื้นบ้านได้วินิจฉัยว่าแมวของเขามีอาการ "ไตเกรี้ยวกราด" (angry kidney) เมื่อให้แมวกินยาพื้นบ้านที่เขารู้ดีว่าไม่มีทางรักษาหายนั้น ปรากฏว่าแมวเขาอยู่ต่อไปได้อีกปี

"เรื่องนี้บอกอะไรแก่เราบ้าง?" เป็นคำถามจาก ดร.มัวร์บอทท์ ซึ่งทิ้งช่วงห้ผู้ฟังสัมมนาคิดก่อนจะตอบว่า "ไม่มีอะไรเลย" เพราะเราไม่สามารถสรุปได้ว่าสัตวแพทย์ปัจจุบันนั้นผิดหรือสัตวแพทย์พื้นบ้านถูกต้อง เนื่องจากกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นกับแมวของเขาตัวเดียว และเขาก็ไม่สามารถผ่าแมวของเขาออกเป็นสองซีกเพื่อพิสูจน์ว่ารักษาด้วยยา ปัจจุบันหรือยาพื้นบ้านจึงหาย หรือไม่สามารถหาแมวมาทดลองว่ารักษาแบบไหนจะได้ผล เรื่องดังกล่าวเป็นตัวอย่างหนึ่งของความท้าทายที่นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ต้องเผชิญ และตระหนักถึงความสำคัญของการรายงานข่าววิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่รายงานผล แต่ยังต้องอธิบายถึงขั้นตอนความเป็นมาของการทดลองนั้นๆ

นอกจากนี้กรณี ภาพถ่ายใบหน้าคนบนดาวอังคาร ที่องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) บันทึกไว้ได้ ซึ่งหลายคนบอกว่านั้นคือหลักฐานว่าดาวอังคารมีสิ่งมีชีวิตทรงปัญญา และหากเสิร์ชกูเกิล (Google) จะพบรายงานจำนวนมากที่เสนอทฤษฎีอารยธรรมบนดาวอังคาร แต่เมื่อค้นจริงๆ จะพบว่ารายงานเหล่านั้นไม่เคยได้รับการตีพิมพ์เลย นอกจากต้องทราบว่านักวิทยาศาสตร์เขียนรายงานการวิจัยอย่างไรแล้ว อีกทักษะที่นักข่าววิทยาศาสตร์ต้องทราบว่า เขาประเมินรายงานกันอย่างไร ซึ่งหากไม่มีทักษะเช่นนี้จะถูกหลอกได้ง่ายๆ

"ภาพถ่ายล่าสุดของ ใบหน้าบนดาวอังคารที่บันทึกโดยนาซาอีกเช่นเคย พบว่าไม่ใช่ใบหน้าแต่อย่างใด ซึ่งน่าผิดหวัง แต่ลองคิดดูว่านาซาต้องส่งยานไปสำรวจกันนาน 6-9 เดือน ไปถึงแล้วยังต้องโคจรรอบดาวอังคาร และมีกล้องติดตามถ่ายภาพและส่งกลับมายังโลก อีกทั้งยังต้องค้นหาหน้าบนดาวอังคาร ซึ่งยากกว่าหากุญแจบ้านอีก แต่เราก็ได้พบความตื่นเต้นบนดาวอังคาร ถ้า บก.มาชี้นิ้วสั่งเขียนเรื่องอารยธรรมบนดาวอังคาร เราก็บอกว่าจะเขียนเรื่องความพยายามสำรวจดาวอังคารแทน" ดร.มัวร์บอทท์กล่าว

อีกงานวิจัยที่ ดร.มัวร์บอทท์ยกตัวอย่างคืองานวิจัยที่รายงานในวารสารเนเจอร์ (Nature) บอกว่าเกสรดอกข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรม เป็นพิษต่อผีเสื้อโมนาร์ช (Monarch butterfly) ผีเสื้อที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์ประจำชาติของสหรัฐฯ เหมือนแพนด้าของจีน และเป็นสิ่งที่สะท้อนความเปราะบางของธรรมชาติในสหรัฐฯ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้นำเกสรดอกข้าวโพดจีเอ็ม ซึ่งดัดแปลงพันธุกรรมให้เป็นพิษ ต่อศัตรู ไปให้หนอนผีเสื้อโมนาร์ชกิน ปรากฏว่าทำให้หนอนผีเสื้อตาย

ข่าวดังกล่าวถือเป็นข่าวดีของนักข่าวเพราะความตายมักเป็นข่าวนำ แต่นักวิทยาศาสตร์ที่รายงานเรื่องดังกล่าวไม่ได้เล่าเรื่องทั้งหมด เนื่องจากการทดลองทำในห้องทดลองเท่านั้น และความจริงในธรรมชาติคือหนอนโมนาร์ชไม่ได้กินข้าวโพดและในธรรมชาติข้าวโพด ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหนอนผีเสื้อนี้เลย ซึ่งเป็นความท้าทายของนักสื่อสารที่ต้องเข้าใจความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์นี้ก่อน ทำไมเขาจึงทำการทดลองนี้ และยังต้องทำความเข้าใจว่าผลวิจัยดังกล่าวมีความหมายอย่างไรต่อโลกจริงและมี ผลต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

"ไม่ใช่แค่การเข้าใจการทดลองซึ่งยากอยู่แล้ว แต่ยังต้องทำความเข้าใจในความหมายของการทดลองนั้นๆ ซึ่ง บก.ทั่วไปจะพาดหัวว่า พืชจีเอ็มฆ่าผีเสื้อน่าสนใจกว่าพืชจีเอ็มฆ่าหนอนผีเสื้อในห้องแล็บเท่านั้น" ดร.มัวร์บอทท์กล่าว

ทั้งนี้ หลังเลิกทำวิจัย ดร.มัวร์บอทท์ได้ผันตัวเองมาทำงานด้านสื่อสารวิทยาศาสตร์ ทั้งพูด เขียน ผลิตรายการโทรทัศน์ โดยปัจจุบันเขียนบทความให้นิตยสารไทม์ (Time) และผลิตรายการ Home Plane ให้สถานีวิทยุบีบีซี และเป็นอาจารย์ด้านสื่อสารวิทยาศาสตร์ของศูนย์วิจัยการสื่อสารวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยกลามอร์แกน.
ศ.มาร์ก เบรก
ผู้เข้าสัมมนา (ภาพจาก อพวช.)
กำลังโหลดความคิดเห็น