xs
xsm
sm
md
lg

William Herschel ผู้พบดาวยูเรนัส (จบ)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Voyager 2 กับวงแหวนรอบดาวยูเรนัส
การค้นพบที่ยิ่งใหญ่นี้ ทำให้ Herschel มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก จนทำให้ได้รับเลือกเป็น Fellow of the Royal Society (F.R.S.) และได้รับพระราชทานบำนาญจากสมเด็จพระเจ้า George ที่ 3 แห่งกรุงอังกฤษให้เป็นนักดาราศาสตร์ประจำราชสำนัก และเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูและความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ Herschel จึงเรียกดาวเคราะห์ดวงใหม่ว่า Georgium Sidus (ซึ่งแปลว่า ดาวแห่งกษัตริย์ George) แต่ในฝรั่งเศสดาวดวงนี้มีชื่อว่า Herschel ซึ่งเป็นชื่อที่ยอมรับกัน จนกระทั่งถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 Johann Elert Bode นักดาราศาสตร์ชาวเยอรมันได้เสนอดาวดวงใหม่ว่า Uranus ตามชื่อของเทพยดากรีกที่ชื่อ Ouranos

ในความเป็นจริง Herschel มิได้เป็นบุคคลแรกที่เห็นดาว Uranus นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีชื่อ Galileo Galilei ได้เคยเห็นจุดสว่างใสเหมือนมุกในกล้องโทรทรรศน์ของเขามาก่อน แต่ Galileo คิดว่ามันเป็นดาวฤกษ์ เมื่อถึงปี 2233 John Flamsteed นักดาราศาสตร์แห่งราชสำนักก็ได้เห็น Uranus อีกในกลุ่มดาววัว Taurus เขาจึงเรียกมันว่า 34 Tauri โดยไม่รู้ว่ามันเป็นดาวเคราะห์ ส่วน Jame Bradley ในราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 ได้เห็น Uranus รวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง แต่ก็ไม่ตระหนัก เมื่อถึงปี 2314 Pirre Charles Le Monnier นักดาราศาสตร์ฝรั่งเศสได้รายงานการเห็น ทั้งสิ้น 12 ครั้ง แต่ก็ไม่คิดว่ามันเป็นดาวเคราะห์ จนอีก 10 ปีต่อมา Herschel ก็ได้ข้อสรุปว่า มันเป็นดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่มนุษย์สามารถเห็นได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ Herschel จึงทำให้คนทั่วโลกตระหนักว่า ลำพังตาเปล่าจะไม่สามารถเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในเอกภพได้ ผลการพบครั้งนั้น Herschel ได้นำลงตีพิมพ์ในวารสาร Philosophical Transactions of the Royal Society of London

ในปี 2529 องค์การ NASA ของสหรัฐฯ ได้ส่งยานอวกาศ Voyager 2 ให้โคจรผ่านดาว Uranus ข้อมูลที่ได้รับแสดงให้เห็นว่าแสงจากดวงอาทิตย์ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 45 นาทีในการเดินทางถึงดาว และดาวหมุนรอบตัวเองค่อนข้างเร็วด้วยความเร็วที่เส้นศูนย์สูตรเท่ากับ 18 กิโลเมตร/วินาที บรรยากาศของดาวประกอบด้วยไฮโดรเจนและแอมโมเนีย ดาวมีสีน้ำเงิน-เขียว และยานได้รายงานการเห็นเมฆ นอกจากนี้ก็เห็นดวงจันทร์ Oberon ในบรรดาดวงจันทร์ทั้งสิ้น 27 ดวง ข้อมูลยังแสดงอีกว่า Uranus โคจรรอบดวงอาทิตย์โดยใช้เวลา 84 ปี และมีวงแหวนล้อมรอบ 13 วง (ทำให้ดาวเสาร์มิใช่ดาวดวงเดียวที่มีวงแหวน) โดยวงแหวนวงในสุดอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของดาว 40,000 กิโลเมตร มีขนาดกว้าง 3,500 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากผิว 14,000 กิโลเมตร วงแหวนประกอบด้วยอนุภาคขนาดเล็กระดับไมครอน นอกจากนี้ Voyager 2 ก็ยังรายงานอีกว่า ความเข้มของแสงอาทิตย์ที่ Uranus ได้รับมีค่าประมาณ 0.25% ของที่โลกได้รับ และแกนหมุนของดาวเกือบจะอยู่ในระนาบวงโคจร การหมุนลักษณะนี้ ทำให้ฤดูต่าง ๆ บนดาวมีอุณหภูมิแตกต่างกันมาก เช่นเมื่อ 20 ปีก่อน ขั้วใต้ของดาวซึ่งหันเข้าหาดวงอาทิตย์เป็นฤดูร้อน และขั้วเหนือซึ่งหันออกเป็นฤดูหนาว ในอีก 20 ปี ขั้วใต้จะชี้ออกและขั้วเหนือจะชี้เข้าหาดวงอาทิตย์เป็นต้น

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ดาว Uranus หมุนในลักษณะแปลกมากนี้ ในปี 2549 A. Brunini นักดาราศาสตร์ชาว Argentina ได้เสนอในวารสาร Nature ว่า เมื่อประมาณ 1,000 ล้านปีก่อนนี้ ดาวได้ถูกดาวหางขนาดใหญ่พุ่งชนทำให้แกนที่อยู่ในแนวเกือบตั้งฉากกับระนาบโคจรเหมือนดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ เอนลงทำมุม 98 องศากับแนวดิ่ง แต่ในขณะเดียวกันนักดาราศาสตร์คนอื่น ๆ ก็คิดว่า ดาว Uranus ได้ถูกดาวเสาร์และดาวพฤหัสบดีซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าดึงดูด ทำให้มันหมุนในลักษณะผิดปกติเช่นนั้น ดังนั้นสาเหตุที่ทำให้ดาวดวงนี้หมุนรอบตัวเองในลักษณะประหลาดนี้ จึงยังไม่มีข้อสรุป

นอกจากผลงานการพบ Uranus แล้ว วงการดาราศาสตร์ยังยกย่อง Herschel ในฐานะผู้พบเนบิวลา (ซึ่งเป็นแก๊สร้อนและฝุ่นดาวฤกษ์ที่มีความหนาแน่นน้อย) นอกทางช้างเผือกด้วย

ความจริง Charles Messier คือนักดาราศาสตร์คนแรกในสมัยต้นคริสต์ศตวรรษ์ที่ 18 ที่ได้เห็นแถบสว่างมัว ๆ ขนาดสั้นมากมายบนท้องฟ้า เขาจึงจัดกลุ่มของแถบสว่างได้ 68 กลุ่ม เพื่อให้รู้ชัดว่าสิ่งที่เห็นไม่ใช่ดาวหาง

เมื่อ Herschel ใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยาย 460 เท่าดูแถบสว่างที่สั้นๆ เหล่านี้ เขาได้พบว่ามันมีลักษณะวงรีบ้าง กลมบ้าง และส่วนใหญ่ประกอบด้วยดาวฤกษ์ที่เป็นกระจุก เขาจึงเรียกแถบสว่างว่า planetary nebula และใช้เวลาอีก 20 ปีต่อมาศึกษาเนบิวลาเหล่านี้ในเวลากลางคืนร่วมกับ Caroline ผู้เป็นน้องสาวในสวนหลังบ้านที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำ Thames และได้เห็น nebula มากถึง 1,000 กลุ่ม

นอกจากจะได้เห็นเหล่า nebula แล้ว Herschel ยังได้เสนอทฤษฎีกำเนิดของ nebula ด้วย ว่าแรงโน้มถ่วงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดลักษณะของมัน และระบบสุริยะกำลังเคลื่อนที่ไปในอวกาศที่ว่างเปล่า แต่ Herschel ก็ไม่รู้ว่า ระบบสุริยะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกาแล็กซีทางช้างเผือก และเขาคิดผิดที่เชื่อว่าผิวดาวอาทิตย์มีเมฆปกคลุม

ถึงกระนั้น Herschel ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักดาราศาสตร์ผู้ที่ได้ขยายขอบเขตของระบบสุริยะออกไปให้นักดาราศาสตร์รุ่นหลังได้ท่องเที่ยวอย่างสนุกสนานตั้งแต่วันที่เขาพบ Uranus จนกระทั่งวันนี้ และ จะต่อไปอีกในอนาคต

สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.
ดาวเคราะห์ทั้ง 7 ของระบบสุริยะ
ดวงจันทร์บริวารของยูเรนัส
กำลังโหลดความคิดเห็น