xs
xsm
sm
md
lg

เนคเทคดันเทคโนโลยีสู่ "สมาร์ทฟาร์ม" นำร่องที่ทุ่งกุลาร้องไห้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูล (ชุดขาว) และทีมวิจัยเนคเทคที่พัฒนาอุปกรณ์เซ็นเซอร์ และเทคโนโลยีต่างๆที่จะนำไปใช้ช่วยเกษตรกรในทุ่งกุลาร้องไห้ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มคุณภาพข้าวไทย
เกษตรกรไทยไฮเทค ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยจัดการแปลงปลูกข้าวในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เนคเทคเอื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตรวจวัดสภาพดินฟ้าอากาศ ช่วยวางแผนการเพาะปลูก ลดใช้ปุ๋ยเคมี ควบคุมคุณภาพและความหอมของข้าวไทย ผู้บริโภคตรวจสอบย้อนกลับได้ ร่วมมือ ส.ป.ก. ใช้กลไกสร้างยุวเกษตรกรรุ่นใหม่ ผลักดันให้เกิดชุมชนต้นแบบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเกษตร

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ริเริ่มทำโครงการสมาร์ฟาร์ม (Smart Farm) นำผลงานวิจัยด้านซอฟต์แวร์ เซ็นเซอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ช่วยเกษตรกรเพิ่มมูลค่าผลผลิตจากฟาร์มสู่ตลาด เริ่มลงพื้นที่ 5 ชุมชนต้นแบบในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ โดยเบื้องต้นได้นำผลงานไปร่วมจัดแสดงนิทรรศการภายในงานพิธีเปิด "งานชุมนุมยุวเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน ครั้งที่ 2" ณ ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา

ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูล รองผู้อำนวยการเนคเทค ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ว่าโครงการสมาร์ทฟาร์ม เป็นส่วนหนึ่งในโครงการคลังสมองยุวเกษตรกร (YOUTH :- ALRO CYBER BRAIN) ของ ส.ป.ก. ที่เนคเทคได้เข้าไปมีส่วนร่วมโดยการพัฒนาเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ คอมพิวเตอร์ และสารสนเทศ สำหรับเกษตรกรและนักวิชาการด้านการเกษตรใช้ในการวางแผน จัดการการเพาะปลูก

พร้อมกับใช้กลไกการพัฒนายุวเกษตรกรสู่เกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อเป็นตัวเชื่อมโยงโรงเรียน ชุมชน ภาครัฐ และเอกชน ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งยุวเกษตรกรเหล่านี้ก็คือนักเรียนที่เป็นลูกหลานของเกษตรกรในชุมชน และจะเติบโตเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ต่อไปในอนาคต

อีกทั้งใช้กลไกการสร้างพลังชุมชนด้วยเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการผลผลิตของตนเองได้ และเชื่อมโยงกับภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเกษตรในการจัดการผลผลิต และติอต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือขอคำปรึกษากับนักวิชาการเกษตรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้

โครงการ สมาร์ท ฟาร์ม มีระยะเวลา 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 52-56 โดยเนคเทคจะนำเทคโนโลยีเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรในชุมชนต้นแบบ 5 แห่ง ที่อยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีช่วยตั้งแต่การวางแผนการผลิต ควบคุมคุณภาพ ไปจนถึงการบริหารจัดการและการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดความสิ้นเปลือง เพิ่มคุณภาพของผลผลิต และเป็นแนวทางในการพัฒนาสู่ตลาดโลกต่อไปในอนาคต

เริ่มจากกระบวนการผลิตที่จะต้องมีการตรวจวัดค่าความเป็นกรดด่างและความอุดมสมบูรณ์ โดยเซ็นเซอร์วัดพีเอช (pH) และเซ็นเซอร์วัดปริมาณแร่ธาตุสำคัญในดิน คือ เอ็นพีเค (NPK) หรือไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) ซึ่งใช้หัวอิเล็กทรอนิกส์วัดความอุดมสมบูรณ์ของดินได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมีช่วยในการวัดแบบวิธีเดิม และนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนการให้ปุ๋ยแก่พืช ทว่าเซ็นเซอร์วัด NPK อยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่เดือนนี้ ส่วนเซ็นเซอร์วัด pH พัฒนาเสร็จเรียบแล้ว

"จากข้อมูลของนักวิจัยด้านการเกษตรพบว่าในแต่ละปีประเทศไทยมีการใช้ปุ๋ยเคมีคิดเป็นมูลค่าประมาณ 80,000 ล้านบาท ซึ่งบางครั้งใช้มากเกินไปโดยไม่จำเป็น แต่หากเราตรวจวัดความอุดมสมบูรณ์ในดินก่อน จะช่วยลดการความสิ้นเปลืองในการใช้ปุ๋ย ลดต้นทุนการผลิต และลดการใช้สารเคมีได้ และสามารถผลิตปุ๋ยในสูตรที่เหมาะสมกับความต้องการได้ในรูปแบบปุ๋ยสั่งตัด โดยใช้เครื่องผสมปุ๋ยอัตโนมัติที่เนคเทคพัฒนาขึ้น แล้วเชื่อมต่อเข้ากับซอฟต์แวร์เพื่อควบคุมการผลิตปุ๋ยสั่งตัดโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นปุ๋ยที่มีแร่ธาตุอาหารเพียงพอกับความต้องการของดินและพืช" ดร.อัศนีย์ อธิบาย โดยขณะนี้ได้ร่วมกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาสูตรปุ๋ยสั่งตัดที่เหมาะสมกับข้าวและข้าวโพดได้แล้ว และจะขยายไปสู่พืชอื่นๆ ต่อไป

นอกจากนี้จะติดตั้งเครื่องวัดสภาพอากาศขนาดเล็กในชุมชนนำร่องทั้ง 5 แห่ง เพื่อตรวจวัดและติดตามข้อมูลสภาพอากาศในแปลงเพาะปลูก ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสง ทิศทางและความเร็วลม ซึ่งมีผลต่อการปลูกข้าว และข้อมูลที่ตรวจวัดได้จะช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาผลผลิตข้าวได้ดียิ่งขึ้น และช่วยในการวางแผนการปลูกในครั้งต่อไปได้

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดความอุดมสมบูรณ์ของดิน และสภาพอากาศ จะถูกรวบรวมและจัดเก็บเป็นฐานข้อมูล พัฒนาแผนที่ N-P-K โดยการเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร นักวิชาการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการผลิตหรือแก้ปัญหาต่างๆ ในกระบวนการผลิต

ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ที่จะถ่ายทอดให้ชุมชนนำร่องนำไปใช้ในการควบคุมผลผลิตข้าวของชุมชน ได้แก่ เครื่องวัดความชื้นข้าวเปลือกแบบพกพา และจมูกอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยควบคุมความชื้นทั้งในการจัดเก็บเมล็ดพันธุ์ และความชื้นในข้าวเปลือก ทำให้เกษตรกรขายข้าวได้ราคาสูงขึ้น และช่วยควบคุมคุณภาพความหอมและใช้กำหนดมาตรฐานความหอมของข้าวหอมมะลิจากชุมชนแต่ละแห่งที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป รวมทั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับชุมชนที่อยู่ห่างไกลเขตชลประทาน หรือต้องการใช้พลังงานสะอาด

นอกจากนี้ผู้บริโภคจะยังสามารถตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ของชุมชนในโครงการสมาร์ทฟาร์มได้ด้วยเทคโนโลยีบาร์โค้ด 2 มิติ หรือ คิวอาร์โค้ด (QR CODE) ที่ติดอยู่บนบรรจุภัณฑ์ โดยใช้โทรศัพท์มือถือ หรือตรวจสอบย้อนกลับโดยตรงผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยกรอกรหัสสินค้าเข้าไปในเว็บไซต์ของระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร (http://203.185.132.42)
ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูล (ชุดขาว) อธิบายโครงการสมาร์ทฟาร์มให้สื่อมวลชนและผู้สนใจฟัง
เครื่องตรวจวัดสภาพอากาศที่จะนำไปติดตั้งในบริเวณชุมชนต้นแบบในโครงการสมาร์ทฟาร์ม
เซ็นเซอร์ตรวจวัดค่าความเป็นกรดด่างในดิน ส่วนเครื่องตรวจวัดความอุดมสมบูรณ์ในดินที่อยู่ระหว่างการพัฒนาก็มีลักษณะคล้ายกัน
เซ็นเซอร์ตรวจวัดความชื้นในข้าวเปลือก ช่วยเกษตรกรควบคุมความชื้นในข้าวได้และทำให้ขายได้ราคาดียิ่งขึ้น
จมูกอิเล็กทรอนิกส์ จดจำและแยกแยะกลิ่นข้าวหอมมะลิของแต่ละพื้นที่เพาะปลูกได้ ช่วยในการควบคุมความหอมของข้าวแต่ละพื้นที่ให้ได้มาตรฐานและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
นักวิจัยสาธิตการตรวจสอบย้อนกลับด้วยบาร์โค้ด 2 มิติ หรือ QR CODE ซึ่งจะเป็นระบบตรวจสอบย้อนกลับที่นำมาใช้กลับผลผลิตจากสมาร์ทฟาร์ม
กำลังโหลดความคิดเห็น