สกว.ประกาศ 24 ผลงานวิจัยปี 51 "จมูกอิเล็กทรอนิกส์" ติดอันดับ ด้านนักวิจัยเผย ประยุกต์ใช้งานจริงแล้ว ในไร่องุ่นและการออกแบบน้ำหอมสังเคราะห์ เลียนแบบน้ำหอมสกัดจากกล้วยไม้ช้างกระ ซึ่งให้กลิ่นใกล้เคียงสารสักดจากธรรมชาติ
ภายในงานประกาศผลงานวิจัยเด่นประจำปี 2551 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.51 ณ โรงแรมเซนจูรี ปาร์ค ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผลงานเครื่อง "จมูกอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเกษตรและอาหาร" ของเขาเป็นหนึ่งใน 24 ผลงานเด่นของสกว. สาขากลุ่มงานวิจัยวิชาการและโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)
ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ เผยว่าได้พัฒนาจมูกอิเล็กทรอนิกส์ให้ใช้งานในภาคสนามได้แล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือการออกแบบเซนเซอร์ภายในจมูกอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับตรวจวัดดิน ภูมิอากาศท้องถิ่น (micr-climate) ภายในไร่ ความชื้น โดยความร่วมมือกับอาจารย์สถาปัตย์ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งได้มีความตกลงร่วมมือกันแล้ว
ปัจจุบันจมูกอิเล็กทรอนิกส์ของทีมวิจัย ผศ.ดร.ธีเกียรติ์ได้นำไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์กลิ่นไวน์ของไร่องุ่นกรานมอนเต้ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา สำหรับควบคุมคุณภาพการผลิตองุ่นและไวน์ อาทิ ระยะเวลาในเพาะบ่มที่ให้ไวน์รสชาติดี ระยะเวลาที่เหมาะสมในการดื่มไวน์ให้หมดขวด เป็นต้น และใช้จมูกอิเล็กทรอนิกส์ในการออกแบบน้ำหอมสังเคราะห์เลียนแบบน้ำหอมสกัดจากกล้อวยไม้ช้างกระ โดยความร่วมมือกับศูนย์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร
"ปกติต้องใช้กล้วยไม้ช้างกระจำนวนมากเพื่อสกัดน้ำหอมให้ได้ 1 หยด จึงมีความพยายามสังเคราะห์สารที่ให้ความหอมใกล้เคียงกับสารธรรมชาติ ซึ่งจมูกอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยในการดมกลิ่นว่าได้น้ำหอมที่มีกลิ่นใกล้เคียงหรือยัง แต่หากใช้คนดมกลิ่นต้องใช้คนจำนวนมากและมีกระบวนการยาวนานเป็นปี ขณะที่การใช้จมูกอิเล็กทรอนิกส์ช่วยย่นเวลาเหลือแค่ 1 เดือน และตอนนี้ทางศูนย์ผลิตน้ำหอมที่มีกลิ่นใกล้เคียงน้ำหอมสกัดได้แล้ว" ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์กล่าว
ทั้งนี้ ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ซึ่งพัฒนาจมูกอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกับ ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ อธิบายหลักการทำงานของจมูกออิเล็กทรอนิกส์กับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ในจมูกอิเล็กทรอนิกส์มีเซนเซอร์ตรวจวัดก๊าซ 1 ตัวต่อก๊าซ 1 ชนิด และมีซอฟต์แวร์วิเคราะห์ว่าเป็นกลิ่นหรือก๊าซอะไร ซึ่งมีเซนเซอร์มากก็ยิ่งวิเคราะห์ได้ละเอียดมาก
นอกจากจมูกอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ยังได้พูดคุยกับ รศ.ดร.ปิติเขต สู้รักษา จากภาควิชาวิศวกรรมสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งผลงาน "การสร้างตัวดึงดูดอลวนและการประยุกต์" ของเขาเป็นหนึ่งใน 24 ผลงานเด่นของสกว. สาขากลุ่มงานวิจัยวิชาการและโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) เช่นกัน โดยเขาได้ร่วมกับ นายกฤดากร กล่อมการ จากภาควิชาเดียวกันศึกษาเรื่องนี้
รศ.ดร.ปิติเขต ระบุว่าศาสตร์สัญญาณอลวน (Chaotics) กำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 โดยนักพยากรณ์อากาศของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นสัญญาณอลวนหรือไม่มีหลักในการพิจารณาคือ 1.คล้ายจะทำนายไม่ได้แต่ทำนายได้ หากทราบเงื่อนไขเบื้องต้น 2.ไวต่อค่าเริ่มต้น เงื่อนไขเปลี่ยนนิดเดียว ทำให้เกิดผลต่างอย่างมาก เหมือนคำพูดที่ว่าผีเสื้อกระผือปีกที่บราซิลแต่ทำให้เกิดพายุทอร์นาโดที่สหรัฐฯ และ 3.สุดท้ายหากไม่ทราบค่าเริ่มต้นจะไม่สามารถทำนายได้
กว่า 40 ปีที่ศาสตร์ทางด้านสัญญาณอลวนถือกำเนิดขึ้น รศ.ดร.ปิติเขตระบุว่ามีการประยุกต์ใช้งานหลากหลายทั้งเชิงเศรษฐศาสตร์ สังคม วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ และเขาเองได้นำศาสตร์ทางด้านนี้ไปประยุกต์ใช้ในงานวิศวกรรมที่หลากหลาย อาทิ การเข้ารหัสลับสำหรับเอกสารลับของทางราชการ หรือประยุกต์ใช้กับเครื่องตัดหญ้า ทำให้มีรูปแบบในการตัดหญ้าแบบไม่ซ้ำและตัดหญ้าได้โดยอัตโนมัติ
"หากเทียบกับปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ สัญญาณอลวนก็เหมือนกระดูกสันหลังที่ทำงานได้อย่างอัตโนมัติและราคาถูกกว่า ขณะที่เอไอเป็นปัญญาชั้นสูงและราคาแพงกว่า" รศ.ดร.ปิติเขตกล่าว
ทั้งนี้ สกว.ได้ประกาศให้งานวิจัยซึ่งรับทุนสนับสนุนจาก สกว. 24 ผลงานเป็นผลงานเด่นประจำปี 2551 ใน 3 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มงานวิจัยเชิงวิชาการและโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) จำนวน 8 ผลงาน กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา 8 ผลงาน และกลุ่มงานวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นจำนวน 8 ผลงาน ซึ่งมีตัวอย่างผลงานที่น่าสนใจ อาทิ การฝากครรภ์แบบพอเพียงตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก การพัฒนาผ้าฝ้ายป้องกันรังสีอุลตร้าไวโอเลต แผ่นยางธรรมชาติปูพื้นในคอกปศุสัตว์
ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า ผลงานเด่นของ สกว.หลายผลงานมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2551 สกว.ได้ใช้งบประมาณ 1,837 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนโครงการวิจัยใหม่ 1,625 โครงการ สร้างนักวิจัย 4,436 คน และสนับสนุนโครงการวิจัยเดิมที่กำลังดำเนินการจำนวน 5,428 โครงการ มีผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ 1,150 เรื่อง.