สวทช. เตรียมจัดประชุมวิชาการประจำปี ชูวิทยาศาสตร์เพื่อสังคมโลก โชว์ "จักรยานไฟฟ้าครบวงจร" ฝีมือนักวิจัยไทย ปั่นสร้างกระแสไฟฟ้ากักเก็บในแบตเตอรี พร้อมเพิ่มเทคโนโลยีดึงพลังงานคืนกลับขณะเบรก ช่วยยืดเวลาการใช้งานโดยไม่ต้องชาร์จบ่อย เตรียมถ่ายทอดผลงานสู่เอกชน หวังทดแทนการนำเข้าจักรยานไฟฟ้าและลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เตรียมจัดงานประชุมวิชาการประจำปี (NAC 2010) ภายใต้หัวข้อ "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสังคมและโลก" ในวันที่ 29-31 มี.ค. ที่จะถึงนี้ โดยมีนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยจากกว่า 140 ผลงาน พร้อมเปิดเวทีเจรจาธุรกิจระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการ หวังต่อยอดผลงานจากแล็บสู่อุตสาหกรรม
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า งานประชุมวิชาการของ สวทช. จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมุ่งเน้นการนำเสนอผลงานวิจัยที่พร้อมจะนำไปใช้ประโยชน์หรือต่อยอดในเชิงพาณิชย์ พร้อมกับเป็นเวทีเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิตผลงานวิจัยและผู้ที่จะนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์หรือสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างนักวิจัยและผู้ประกอบการ เพื่อนำโจทย์วิจัยจากภาคธุรกิจไปพัฒนาผลงานวิจัยที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมได้
"หัวข้อของการจัดงานประชุมวิชาการในปีนี้มุ่งเน้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคมและโลก ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ความกังวลของมนุษย์ในปัจจุบัน ที่เคยใช้ทรัพยากรอย่างไม่ระมัดระวังจนทำให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศมากเกินไปจนเกิดปัญหา เราจึงต้องมาคิดร่วมกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ในวันข้างหน้าให้ดีขึ้นและยั่งยืน โดยที่เราสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศได้ หรืออย่างน้อยไม่ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มไปมากกว่านี้" รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวในระหว่างแถลงข่าวการจัดงาน NAC2010 ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา
"จักรยานไฟฟ้าครบวงจร" เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยที่เป็นไฮไลต์ของงาน NAC2010 ที่ย้ำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสามารถตอบโจทย์ของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งเป็นผลงานจากการวิจัยและพัฒนาของ ดร.พงศ์พิชญ์ วิภาสุรมณฑล นักวิจัยห้องปฏิบัติการควบคุมและระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และคณะ
ที่ต้องการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการนำเข้ารถจักรยานไฟฟ้าหรือมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ
จุดเด่นของจักรยานไฟฟ้าที่นักวิจัยเนคเทคพัฒนาขึ้น คือมีชุดมอเตอร์ที่สามารถแปลงพลังงานจากการปั่นจักรยานให้เป็นกระแสไฟฟ้าและกักเก็บไว้ในแบตเตอรีได้ และเทคโนโลยีการดึงพลังงานคืน (Regenerative energy technology) โดยสามารถดึงพลังงานส่วนหนึ่งกลับคืนสู่แบตเตอรีขณะเบรก และยังสามารถปรับเป็นจักรยานออกกำลังกายได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะปั่นในขณะใช้งานจริง หรือปั่นเพื่อออกกำลังกาย ก็สามารถชาร์จไฟให้แบตเตอรีได้ในตัว
แบตเตอรีของจักรยานไฟฟ้ายังสามารถชาร์จพลังงานได้จากไฟฟ้าตามบ้านเรือนได้ โดยสามารถขี่ได้ระยะทางไกลสุด 30 กิโลเมตร ต่อการชาร์จแบตเตอรี 1 ครั้ง และวิ่งได้ความเร็วสูงสุด 35 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเหมาะสำหรับใช้เป็นพาหนะเพื่อสัญจรในหมู่บ้าน โรงงานอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา รวมทั้งเส้นทางสัญจรของรถจักรยานทั่วไปที่จะมีแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต
ขณะนี้เนคเทคกำลังเจรจากับภาคเอกชนทั้งผู้ผลิตจักรยานไฟฟ้าและผู้ผลิตแบตเตอรี เพื่อต่อยอดต้นแบบจักรยานไฟฟ้าครบวงจรสู่เชิงพาณิชย์ และมีสถานีบริการเปลี่ยนแบตเตอรี เพื่อเพิ่มความสะดวกในระหว่างการเดินทางหากแบตเตอรีพลังงานใกล้หมด ซึ่งจักรยานไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยไทยมีต้นทุนประมาณ 10,000 บาท หรือถูกกว่าจักรยานไฟฟ้านำเข้าประมาณเท่าตัว
นอกจากนี้ สวทช. ยังมีผลงานเด่นที่พร้อมนำมาจัดแสดงในงาน NAC2010 อีกมากมาย อาทิ ระบบสื่อสารระหว่างยานพาหนะ ระบบบริการอ่านข่าวอัตโนมัติ จมูกอิเล็กทรอนิกส์ไร้สาย เทคโนโลยีการสแกนแบบสามมิติสำหรับกระบือ แป้งทนการย่อยด้วยเอนไซม์ เอนไซม์อุตสาหกรรมและการประยุกต์ใช้ทางเทคโนโลยีชีวภาพ ข้อเข่าขาเทียมแบบสี่จุดหมุน ฟิล์มเปลี่ยนสีตามอุณหภูมิ และตัวเร่งปฏิกิริยานาโนจากเปลือกไข่และเปลือกหอย
ภายในงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย ในโครงการในพระราชดำริเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรไทย และมีการสัมมนาวิชาการวิชาการนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาต่างๆ โดย ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะบรรยายพิเศษเรื่อง "การรับมือกับภาวะโลกร้อน : นโยบายประเทศไทย"
ทั้งนี้ นักวิชาการ นักธุรกิจ นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจทั่วไปสามารถเข้าร่วมงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ได้ตั้งแต่วันที่ 29-31 มี.ค. 2553 เวลา 09.00-16.00 น. โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานในวันที่ 28 มี.ค. นี้ เวลา 17.00-20.00 น.