xs
xsm
sm
md
lg

บุกบ้าน "สวทช." ชมกองทัพผลงานเด่นฝีมือนักวิจัยไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชื่อว่านานๆ ที สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเปิดบ้านให้ใครต่อใครได้เข้าไป "ทึ่ง" และ "ตื่นตะลึง" ในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของประเทศสักที จึงน่าสนใจไม่น้อยที่จะนำมาบอกเล่าเก้าสิบกัน

หลังจากฟังบรรยายพิเศษถึงสิ่งที่เห็นและเป็นไปใน สวทช. โดย "รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน" นายใหญ่ประจำถิ่นอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี แล้ว ก็ถึงคิวที่คณะของเจ้ากระทรวงอย่าง "วุฒิพงศ์ ฉายแสง" และ "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" จะได้บุกชมผลงานเด่นๆ ของศูนย์วิจัยแห่งชาติทั้ง 4 ศูนย์ทันที

เริ่มตั้งแต่การนั่ง "รถรางพลังงานแสงอาทิตย์ -ดีโซฮอล" ของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) - ศูนย์แรกที่เราได้เยี่ยมชม เพื่อบุกตะลุยห้องปฏิบัติการโพลิเมอร์เพื่อการเกษตร ชั้น 4 อาคารเอ็มเทค ซึ่งนำผลงานวิจัยโพลิเมอร์ชนิดต่างๆ ที่ใช้ในการเกษตรมาจัดแสดง

ที่น่าสนใจมาก เช่น แผ่นพลาสติกคลุมโรงเรือนปลูกพืชที่เรียกได้ว่า "อัจฉริยะ" เพราะสามารถเลือกช่วงแสงที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืชให้ส่องผ่านลงมาได้ ขณะเดียวกันก็กันรังสียูวี รังสีอินฟราเรด หรือแม้แต่เม็ดฝนและลูกเห็บไม่ให้เข้าทำลายพืชผล ตลอดอายุการใช้งาน 2 -3 ปีของมันจึงทำหน้าที่ได้คุ้มค่าเงิน 20 บาท/ตร.ม.ซะจริงๆ

ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นก็น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือ วัสดุฉลาดบ่งชี้สภาวะปลอดเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในผลิตภัณฑ์แหนม โดยอาศัยความรู้ที่ว่าในภาวะความเป็นกรดต่ำกว่าพีเอช 4.5 -4.6 จุลินทรีย์จะไม่สามารถอยู่ได้ นักวิจัยจึงพัฒนาวัสดุธรรมชาติเพื่อบ่งชี้ความเป็นกรดของแหนม ซึ่งจะเปลี่ยนสีเมื่อแหนมมีค่าพีเอช 4.5 -4.6 นั่นหมายความว่าเราจะอุ่นใจในการบริโภคแหนมว่าจะไม่มีจุลินทรีย์ก่อโรค แถมยังมีรสเปรี้ยวกำลังดี

ศูนย์ที่สองที่คณะของเราได้มีโอกาสเยี่ยมชมคือ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ซึ่งได้ขนงานวิจัยเด่นๆ มาจัดแสดงเป็นนิทรรศการย่อมๆ ให้ชม เช่นการนำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และเทคโนโลยีการสำรวจทางไกลมาจัดเขตปลูกอ้อยพันธุ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นอ้อยอาหารสัตว์ หรือว่าอ้อยน้ำตาล

ไบโอเทคยังมี "ธนาคารจุลินทรีย์" ที่ครบครันที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศกว่า 20,000 ตัวอย่าง ที่แยกได้จากแมลง แหล่งน้ำ ไม้ผุ เมล็ดพืช ดิน ไลเคน ฯลฯ ซึ่งจะนำไปศึกษาหาสารสำคัญที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อไปไม่รู้จบ

นอกจากนี้ ผลงานที่ต่อยอดออกสู่เชิงพาณิชย์หลายต่อหลายชิ้นที่นำมาอวดกันและคุ้นหน้าค่าตากันดี เช่น งานวิจัยข้าวทนน้ำท่วมฉับพลัน งานวิจัยกระบวนการผลิตน้ำปลา ชุดน้ำยาตรวจนับเม็ดเลือดขาวในผู้ป่วยเอดส์ ชุดตรวจไวรัสไข้หวัดนกแบบไบโอเซ็นเซอร์ และชุดทดสอบหาพาหะแอลฟาธาลัสซีเมียแบบแถบสี เป็นต้น

ขณะที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ก็นำนานาสารพัดงานวิจัยมาอวดกัน ยกมาเป็นตัวอย่างพอหอมปากหอมคอ เช่น พิพิธภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ 3 มิติที่มีความเสมือนจริง และเก็บได้แทบทุกรายละเอียดตลอด 360 องศาของสถานที่นั้นๆ แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถบันทึกภายมาฝากกันได้ แต่จะเปิดตัวให้ขมกันไม่ช้านี้แน่นอน

แต่ที่ไม่ต้องรอฃและเห็นผลการทำงานไปบ้างแล้วคือ "ระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ" ที่นำเทคโนโลยีไอซีทีและการสื่อสารโทรคมนาคมมาผสานกันเพื่อรายงานสภาพการจราจรในกรุงเทพฯ แบบเรียลไทม์ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและทันท่วงที ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ

ส่วนยานยนต์ติดแท็กอาร์เอฟไอดีก็ถือเป็นความคิดที่เข้าท่าไม่น้อยสำหรับการประยุกต์ใช้ในพื้นที่ความไม่สงบ ซึ่งระบบจะตรวจสอบรถผู้ต้องสงสัยที่อยู่นอกสารบบไม่ให้เข้าออกสถานที่ทางการเพื่อก่อเหตุร้ายได้ตามใจชอบอีกต่อไป

เดินทางต่อมายังศูนย์วิจัยที่ 4 คือ "ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ" (นาโนเทค) ได้จัดแสดงผลงานย่อมๆ ไว้เช่นเดียวกัน แต่ที่สะดุดตาเล็กน้อยคืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตรวจวัดกลิ่นที่มีชื่อว่า "จมูกอิเล็กทรอนิกส์" ซึ่งแยกแยะกลิ่นของอาหาร เครื่องดื่ม สารเคมี หรือแก๊สเชื้อเพลิงที่ปะปนในอากาศได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน

ในอีกด้านหนึ่ง "นาโนแคปซูล" ก็เป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่น่าสนใจของศูนย์นี้ โดยตอนนี้ได้นำไปใช้เก็บกักและค่อยๆ ปล่อยกลิ่นหอมให้กับข้าวของเครื่องใช้หรือวัสดุตกแต่งในสปาเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีในสถานที่ต่างๆ ได้นานนับเดือน ที่สำคัญคือเพิ่มคุณค่าให้กับข้าวของใกล้ตัวที่ไม่มีราคาค่างวดมากนักให้ "โกอินเตอร์" ไปวางบนชั้นขายสินค้าห้างหรูได้สบายใจเฉิบ

อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่ 4 ศูนย์วิจัยหลักเท่านั้นที่เราได้เยี่ยมชมการทำงาน โดยยังมีโอกาสชมห้องทำงานของสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ (ไอเซ็ท) ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง (แอดเทค) ตลอดจนผลงานเล็กๆ น้อยๆ จากศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) ด้วย


ทั้งนี้ ตลอดเวลากว่า 4 ชั่วโมงของการเยี่ยมชม เรียกได้ว่าได้รับความรู้กันจนเหนื่อยทีเดียว ทว่าก็รู้สึกปลื้มใจในความสามารถของนักวิจัยเลือดไทยอย่างมากมายในคราเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น