xs
xsm
sm
md
lg

ไบโอเทคใช้ชีวินทรีย์กำจัดลูกน้ำยุงลาย อนามัยโลกรับรองปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช (ซ้าย)
นักวิจัยพัฒนาชีวินทรีย์กำจัดลูกน้ำยุงลาย หวังตัดวงจรชีวิตพาหะโรคไข้เลือดออก ผลิตจากแบคทีเรียในธรรมชาติ องค์การอนามัยโลกรับรองความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์และสัตว์อื่น ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว เตรียมวางตลาดเร็วๆ นี้ เบื้องต้นกระทรวงวิทย์ลงพื้นที่ นำร่องใช้กับชุมชนย่านบางนา เตรียมเจราจากับ กทม. ขยายผลใช้ทั่วกรุง

ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) พร้อมด้วยคณะ นำชีวภัณฑ์กำจัดลูกน้ำยุงลายมอบให้แก่ชุมชนกลางนา และโรงเรียนเพี้ยนพินอนุสรณ์ เขตบางนา เพื่อควบคุมยุงลายและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกและชิคุนกุนยา เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.52 ที่ผ่านมา ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเกิดจากผลงานวิจัยของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเอกชนสำหรับผลิตในเชิงพาณิชย์แล้ว

ดร.มงคล อุตมโท นักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมจุลินทรีย์ ไบโอเทค เปิดเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ว่า บาซิลสัส ธูรินจิเอนซิส อิสราเอลเอนซิส หรือ บีทีไอ (Bacillus thuringiensis subsp. israelensis: BTI) เป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ และเป็นศัตรูธรรมชาติของลูกน้ำยุงลาย โดยแบคทีเรียดังกล่าวจะสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีความเป็นพิษต่อลูกน้ำยุงลาย แต่ไม่เป็นอันตรายกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ

"เมื่อลูกน้ำยุงลายกินแบคทีเรียบีทีไอเข้าไป แบคทีเรียนี้จะสร้างผลึกโปรตีนชนิดหนึ่งออกมา ซึ่งโปรตีนผลึกนี้จะไปทำลายกระเพาะอาหารของลูกน้ำยุงลาย ทำให้ลูกน้ำยุงขาดอาหารและตายในที่สุด ส่วนลูกน้ำยุงชนิดอื่นจะออกฤทธิ์ได้ไม่ค่อยดีนัก" ดร.มงคลกล่าว

นักวิจัยได้ทำการคัดเลือกแบคทีเรียบีทีไอสายพันธุ์ไอพีเอส 82 (IPS 82) จากธรรมชาติ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกก็ให้การรับรองแล้วว่าปลอดภัยต่อมนุษย์ นำมาเพาะเลี้ยงในอาหารเลี้ยงเชื้อ จากนั้นนำไปหมักในถังหมักเป็นเวลา 2-3 วันเพื่อให้แบคทีเรียมีการสร้างโปรตีนผลึกในปริมาณที่เหมาะสม แล้วเพิ่มความเข้มข้นของเซลล์โดยการแยกน้ำออกและอบให้แห้งที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส แล้วนำไปขึ้นรูปเป็นเม็ดสำหรับนำไปใช้เป็นชีวินทรีย์กำจัดลูกน้ำยุงลาย

ทั้งนี้ นักวิจัยได้จดสิทธิบัตรเทคนิคการผลิตแล้ว และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัท ทีเอฟไอ กรีนไบโอเทค จำกัด ในการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และคาดว่าจะวางตลาดได้ในเร็วๆ นี้ โดยจะจำหน่ายในราคาซองละประมาณ 30 บาท (22 กรัม ต่อ 1 ซอง)

จากการทดลองใช้แบคทีเรียกำจัดยุงลายดังกล่าวในพื้นที่ชุมชน อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา และ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี รวม 200 หลังคาเรือน โดยใส่ผลิตภัณฑ์แบคทีเรียกำจัดลูกน้ำยุงลายลงในภาชนะที่บรรจุน้ำใช้ หรือที่มีน้ำขัง บีทีไอจะออกฤทธิ์ทันที และทำให้ลูกน้ำยุงลายเริ่มตายในวันที่ 3 และออกฤทธิ์อยู่ได้นาน 3 เดือน โดยใช้ชีวินทรีย์ประมาณ 1 ซอง ต่อน้ำ 1 โอ่ง หรือประมาณ 20 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร และไม่ควรใช้กับน้ำดื่ม

ล่าสุดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้นำชีวินทรีย์กำจัดลูกน้ำยุงลายไปมอบให้โรงเรียนเพี้ยนพินอนุสรณ์ และชุมชนกลางนา ในเขตพื้นที่เลียบทางด่วนบางนา รวม 5,000 ซอง ซึ่งชุมชนดังกล่าวมีประชาชนอาศัยอยู่ร่วม 175 หลังคาเรือน บนพื้นที่ประมาณ 17 ไร่ และเป็นพื้นที่เสี่ยงโรคไข้เลือดออก เพราะมีน้ำท่วมขังตลอดทั้งปี

"ขณะนี้โรคไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยากำลังระบาดในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ และยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ทางเดียวคือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายหรือตัดวงจรชีวิตของยุงลาย เพื่อควบคุมไม่ให้เป็นพาหะแพร่กระจายเชื้อโรคดังกล่าว และหลังจากนี้เราจะขยายผลโดยจะประสานงานร่วมกับกรุงเทพมหานครเพื่อนำชีวินทรีย์จากแบคทีเรียบีทีไอไปใช้กำจัดลูกน้ำยุงลายในชุมชนต่างๆของกรุงเทพฯต่อไป" ดร.คุณหญิงกัลยาเผย.
ดร.มงคล อุตมโท (ขวา) นักวิจัยไบโอเทค และ รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลิตภัณฑ์ชีวินทรีย์จากแบคทีเรียสำหรับกำจัดลูกน้ำยุงลาย
กำลังโหลดความคิดเห็น