"มอส" พืชสีเขียวๆ ขนาดเล็กๆ ที่มักพบขึ้นอยู่ในกระถางกล้วยไม้ หรือปลูกเป็นพรมสีเขียวปกคลุมดินตามสวนสวยที่จัดตกแต่งอย่างดีในสถานที่ต่างๆ แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าพืชจิ๋วชนิดนี้ มีคุณค่าแจ๋วขนาดไหน และยังมี "ลิเวอร์เวิร์ต" กับ "ฮอร์นเวิร์ต" ที่มีสายวิวัฒนาการใกล้ชิดกัน มากด้วยคุณค่าพัฒนาคุณภาพชีวิตได้เป็นอย่างดี ในยุคที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมและโรคภัยไข้เจ็บรุมเร้า
ผศ.ดร.รสริน พลวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า พืชจิ๋วหรือพืชกลุ่มไบรโอไฟต์ (Bryophyta) แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ มอส (moss), ลิเวอร์เวิร์ต (liverwort) และฮอร์นเวิร์ต (hornwort) เป็นพืชกลุ่มแรก ที่วิวัฒนาการจากพืชน้ำมาสู่พืชบก และจัดเป็นพืชในกลุ่มที่ไม่มีท่อลำเลียง โดยที่ฮอร์เวิร์ตนั้นเป็นกลุ่มที่เชื่อมต่อไปยังพืชที่มีท่อลำเลียงในลำดับวิวัฒนาการขั้นสูงขึ้นไป
จากหลักฐานฟอสซิลบ่งชี้ว่า พืชกลุ่มนี้กำเนิดขึ้นบนโลกเมื่อกว่า 400 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเป็นยุคที่บรรยากาศของโลกไม่คงที่ มีก๊าซชนิดต่างๆ มากมาย และมีความร้อนสูง ทำให้พืชกลุ่มนี้ต้องพัฒนากลไกพิเศษขึ้นเพื่อการอยู่รอด เช่น การเติบโตแบบไร้ทิศทาง เพื่อให้สามารถขยายจำนวนออกไปได้อย่างไม่มีขีดจำกัด มีโครงสร้างที่ดูดซับน้ำและความชื้นได้เร็วและมาก รวมทั้งสามารถสืบพันธุ์ได้ ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ มักชอบอยู่ในที่ที่มีความชุ่มชื้นสูง โดยพืชเหล่านี้มีความทนทานสูง สามารถฟื้นตัวได้หากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง
"มอสมีหลากหลายชนิด แต่ละชนิดอาจมีสีสันของสปอโรไฟต์สวยงามแตกต่างกัน และมักขึ้นอยู่รวมกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ปกคลุมพื้นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความชุ่มชื้นสูง พืชกลุ่มไบรโอไฟต์เปรียบเสมือนฟองน้ำที่มีชีวิต ช่วยกักเก็บน้ำและความชื้นไว้ในดินหรือต้นไม้ได้มาก โดยกักเก็บไว้ในเซลล์ใบที่มีการเรียงตัวของเซลล์แบบพิเศษ ป้องกันการสูญเสียน้ำภายในดิน ทำให้ดินคงความชุ่มชื้นได้นาน และไม่แย่งน้ำกับต้นไม้" ผศ.ดร.รสริน กล่าวกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ในระหว่างการเสวนาเรื่อง "มอส...พืชจิ๋ว คุณค่าไม่จิ๋ว" ที่จัดโดยโครงการพัฒนาองค์ความรู้และการศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (บีอาร์ที) ณ อาคาร สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 21 พ.ค.52 ที่ผ่านมา
จากคุณสมบัติดังกล่าว จึงมีการนำมอสมาใช้ประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้มอสข้าวตอกฤๅษี (Sphagnum moss) คลุมดินในกระถางต้นไม้ ใช้ในการจัดสวน หรือในประเทศเมืองหนาว เช่น นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ มีการปลูกมอสในลักษณะคล้ายทุ่งนา โดยส่วนของมอสที่ตายแล้วจะอัดแน่นทับถมกันอยู่ด้านใต้ ส่วนที่ยังมีชีวิตอยู่จะเจริญเติบโตอยู่ชั้นบน ซึ่งส่วนบนนั้นนำไปใช้จัดสวนหรือประดับตกแต่งอาคารบ้านเรือน ส่วนที่ทับถมอยู่ด้านใต้จะนำไปขายเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเตาผิงในบ้านเรือน หรือในเยอรมนีมีการปลูกมอสริมถนนหนทาง แทนการปลูกหญ้า ซึ่งช่วยเพิ่มความสดชื่นได้และลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาด้วย
น.ส.กาญจนา วงค์กุณา นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับทุนจากบีอาร์ทีในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับมอส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในประเทศไทยก็มีการนำมอสมาใช้ในการจัดสวน หรือตกแต่งอาคารบ้านเรือน ตู้ปลา แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นการนำเข้ามอสจากต่างประเทศ ที่เพาะปลูกภายในประเทศยังมีไม่มากนัก และยังมีข้อจำกัดในการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์มอส ซึ่งสามารถทำได้เพียงบางชนิดเท่านั้น เช่น สวนมอสฮ่อมดอย จ.เชียงใหม่ ที่เพาะปลูกมอสและส่งออกในรูปแบบต่างๆ ทั้งแผ่นมอส, กรอปรูปมอส, บ้านกุ้งมอส ซึ่งเป็นที่นิยมมากในประเทศที่มีการเลี้ยงกุ้งสีสวยงาม
"หากมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์มอส น่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจการจำหน่ายมอสสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้นับล้านบาท และช่วยขยายการใช้ประโยชน์มอสในด้านสิ่งแวดล้อมได้มากยิ่งขึ้น เพราะมอสเปรียบเสมือนเครื่องฟอกอากาศที่มีชีวิต ช่วยผลิตออกซิเจนแล้วยังช่วยดักจับฝุ่นละอองในอากาศได้เป็นอย่างดี ช่วยให้อากาศบริสุทธิ์ขึ้น รักษาอุณหภูมิและความชุ่มชื้นให้คงที่" น.ส.กาญจนา กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์
นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นตัวช่วยศึกษาหรือเฝ้าระวังการปนเปื้อนสารพิษหรือโลหะหนักในดินได้ เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ซึ่งนักวิจัยสามารถนำตัวอย่างมอสมาวิเคราะห์หาสารปนเปื้อน และระยะเวลาในการปนเปื้อนโดยดูจากซากมอสที่ทับถมอยู่ใต้พื้นดินบริเวณนั้น หรือในประเทศจีนมีการใช้มอสเป็นเหมือนยาสมุนไพรมานานแล้ว เช่น ชามอส ช่วยบำรุงระบบไหลเหวียนโลหิต ระบบปัสสาวะ ช่วยขับก้อนนิ่วในไต เป็นต้น
ส่วนลิเวอร์เวิร์ต ซึ่งเป็นพืชใกล้ชิดกับมอสนั้นก็ถูกนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรด้วยเช่นกันในประเทศจีน เช่น เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ ยารักษาโรคกลากเกลื้อน โดย น.ส.สุนทรี กรโอชาเลิศ นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้รับทุนจากบีอาร์ทีศึกษาวิจัยเกี่ยวกับลิเวอร์เวิร์ต ให้ข้อมูลว่าในเซลล์ของลิเวอร์เวิร์ตมีโครงสร้างพิเศษที่ต่างจากไบรโอไฟต์กลุ่มอื่น โดยมีหยดน้ำมัน (oil body) อยู่ภายในเซล์ ซึ่งมีสารบางชนิดที่มีฤทธิ์เป็นยาได้
"ในต่างประเทศมีการศึกษาสารสกัดจากหยดน้ำมันของลิเวอร์เวิร์ตกันมาก โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่สามารถสกัดสารจากลิเวอร์เวิร์ตได้แล้วกว่า 1,000 ชนิด โดยเป็นสารชนิดใหม่ถึง 400 ชนิด เช่น ลิเวอร์เวิร์ตชนิด มาร์แคนเทีย โพลิมอร์ฟา แอล. (Marchantia polymorpha L.) ซึ่งได้มีการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่าสารบางชนิดมีฤทธิ์ยับยังเซลล์มะเร็ง ยับยั้งแบคทีเรีย เป็นยาลดไข้ และช่วยรักษาอาการฝีหนองได้ ซึ่งประเทศไทยมีความหลากหลายของพืชในกลุ่มไบรโอไฟต์มากกว่า 1,000 ชนิด และมีหลายร้อยชนิดที่พบเฉพาะในไทย หากมีการศึกษาในด้านนี้มากขึ้น และนำมาใช้ในประโยชนในรูปของสารสกัด น่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้พืชจิ๋วได้อีกมาก" น.ส.สุนทรี กล่าว
สำหรับฮอร์นเวิร์ตนั้น ก็มีการศึกษาสารสำคัญกันอยู่บ้าง แต่ยังไม่มากเท่าลิเวอร์เวิร์ต ซึ่งสารที่พบในฮอนเวิร์ตส่วนใหญ่เป็นสารในกลุ่มไพรีนอยด์ (Pyrenoids) และนอกจากนั้นในฮอนเวิร์ตยังมีช่องว่างระหว่างเซลล์ที่สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินมักเข้าไปอาศัยอยู่ด้วย โดยชนิดของฮอร์เวิร์ตแตกต่างกันไป ชนิดของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่เข้าไปอิงอาศัยก็ต่างกันด้วย เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจศึกษาด้วยเช่นกัน
ด้าน ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ผู้อำนวยการโครงการบีอาร์ที กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ในตอนท้ายว่า พืชจิ๋วเหล่านี้นับว่าเป็นพืชที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อย และเศรษฐกิจบนพื้นฐานของความหลากหลายทางชีวภาพเป็นประเด็นสำคัญของประเทศไทย แต่เรายังไม่มีการศึกษาสิ่งเหล่านี้กันอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่ององค์ความรู้ การนำไปใช้ประโยชน์ และการตลาด เพราะคนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นประโยชน์ของมัน มีเพียงไม่กี่คนที่สนใจศึกษาในด้านนี้ ซึ่งบีอาร์ทีก็ได้สนับสนุนให้มีการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับไบรโอไฟต์ในประเทศไทย เพื่อให้มีข้อมูลพื้นฐานที่จะสามารถนำไปต่อยอดและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ต่อไป