xs
xsm
sm
md
lg

"แม่น้ำแห่งชีวิต" สะท้อนปัญหา "ลุ่มน้ำโขง" หวังกระตุ้นจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ยศ สันติสมบัติ โชว์หนังสือ แม่น้ำแห่งชีวิต ที่รวบรวมข้อมูลจากการลงพื้นที่ศึกษาวิจัยธรรมชาติและชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงทางตอนบนของประเทศไทย
นักวิจัย มช. ลงพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนบนของไทย พบความหลากหลายของธรรมชาติลดลง โดยเฉพาะสัตว์น้ำ บางชนิดใกล้สูญพันธุ์ เพราะส่วนใหญ่ใช้แหล่งน้ำไว้แสวงหาผลประโยชน์ ไม่ได้คิดถึงระบบนิเวศน์ ยิ่งส่งผลต่อปากท้องของชาวบ้าน ซ้ำร้ายยังกระทบต่อวัฒนธรรมดั้งเดิม ภูมิปัญญาท้องถิ่นเริ่มสูญหาย เรียกร้องรัฐบาลให้สนใจแก้ปัญญาให้ตรงจุด พร้อมวางนโยบายกระจายอำนาจจัดการสู่ท้องถิ่น

โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (บีอาร์ที) จัดเสวนาเรื่อง "น้ำลด ปลาหาย ตั้งรับอย่างไรกับสภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย" เมื่อวันที่ 18 มี.ค.52 ณ อาคารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ซอยโยธี) พร้อมเปิดตัวหนังสือ "แม่น้ำแห่งชีวิต" ที่รวบรวมขึ้นจากการศึกษาธรรมชาติและวิถีชุมชนลุ่มน้ำโขงโดย ศ.ดร.ยศ สันติสมบัติ และคณะวิจัยจากภาควิชาสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ศ.ดร.ยศ กล่าวว่าเมื่อพูดถึงลุ่มน้ำโขง หลายประเทศมักจะพูดถึงเรื่องการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่จะมองข้ามความหลากหลายทางชีวภาพ ธรรมชาติ และวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรมของธรรมชาติ ไปจนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศในการช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติ

ทั้งที่จริงแล้วแม่น้ำคือชีวิต เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาน้อยใหญ่กว่า 1,700 ชนิด และสัตว์น้ำอีกหลายชนิดจำนวนมาก รวมทั้งหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนอีกหลายล้านชีวิต เป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมและภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดมาหลายชั่วคน

"ปัญหาสำคัญที่ทำให้ลุ่มน้ำโขงเสื่อมโทรมลงคือวิธีคิดเชิงเดี่ยว ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เป็นการลดทอนแม่น้ำจากระบบนิเวศน์สำคัญเป็นเพียงแค่แหล่งน้ำที่ต้องมีการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ สร้างทำนบกั้นน้ำ หรือระเบิดแก่งเพื่อเปิดเส้นทางเดินเรือสินค้า โดยมิได้มองลึกลงไปถึงระบบนิเวศน์ที่มีความหลากหลายและมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งนำไปสู่การปิดล้อมธรรมชาติ ปิดล้อมชุมชน" ศ.ดร.ยศ กล่าวถึงสาเหตุสำคัญที่สร้างความเสื่อมโทรมให้ลุ่มน้ำโขง

จากการลงพื้นที่ไปศึกษาและเก็บข้อมูลชุมชนลุ่มน้ำโขงบริเวณจีนตอนใต้ ลาวและไทยตอนบน เป็นเวลากว่า 3 ปี ทำให้นักวิจัยได้ข้อมูลว่าวิธีคิดเชิงเดี่ยวของคนส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำโขง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชุมชนด้วยจำนวนสัตว์น้ำที่ลดน้อยลงไปมากจนบางชนิดใกล้สูญพันธุ์ เช่น กุ้งน้ำอู ทำให้ชาวบ้านหากินด้วยวิถีดั้งเดิมยากขึ้น ต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าจะจับปลาได้เท่ากับเมื่อก่อน ชาวบ้านบางส่วนต้องละทิ้งถิ่นฐานออกไปทำงานรับจ้าง ซึ่งส่งผลให้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นสูญหาย โดยเฉพาะวิธีการและเครื่องมือจับปลา ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนก็พยายามหาวิธีอนุรักษ์สิ่งต่างๆเหล่านั้นเอาไว้

"หน่วยที่สำคัญที่สุดไม่ใช่รัฐชาติหรือรัฐบาล แต่เป็นชุมชนเล็กๆที่อยู่กับธรรมชาติมายาวนาน รัฐบาลไม่รู้ประเด็นปัญหา แต่ชาวบ้านรู้ หากเราไม่รีบหาทางแก้ไขและอนุรักษ์ธรรมชาติเอาไว้ ในวันข้างหน้าอาจจะไม่มีสิ่งเหล่านี้หลงเหลือให้เราไว้ใช้ประโยชน์อีกแล้วก็ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีคำว่าสายเกินไปหากเราคิดจะลงมีทำ" ศ.ดร.ยศ กล่าว

ศ.ดร.ยศ เสนอแนะว่านักวิชาการ สื่อมวลชน หรือใครก็ตาม ควรจะลงไปเรียนรู้และรับฟังปัญหาจากชาวบ้าน ช่วยส่งเสริมให้กระบวนการอนุรักษ์ของเขาดำเนินต่อไปได้ และขยายให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น เพื่อกดดันให้รัฐบาลหันมาสนใจที่จะแก้ไขประเด็นปัญหาเหล่านี้มากขึ้น รัฐบาลควรมีการกำหนดนโยบายกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรธรรมชาติไปสู่ท้องถิ่น เพราะชาวบ้านมีความรู้ในเรื่องธรรมชาติมากมาย ที่ผ่านมาชาวบ้านก็ได้แต่จัดการ แต่ไม่มีอำนาจตัดสินใจหรือต่อรอง

รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้แก่เยาวชน ซึ่งอาจต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบการศึกษา เพื่อให้เยาวชนเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น มีความคิดลึกซึ้ง และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ส่วนในมิติของเศรษฐกิจก็ควรคิดใหม่โดยนำความหลากหลายของธรรมชาติรวมเข้าไปด้วย ซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้จากความหลากหลายในธรรมชาติมีมากมายมหาศาล แต่ที่ผ่านมาเรามักมองไม่เห็นกัน

ทั้งนี้ ศ.ดร.ยศ ได้รับทุนจากบีอาร์ทีในการศึกษาพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำโขงทางตอนใต้ของประเทศจีนลงมาถึงประเทศไทยและลาวตอนบนเป็นเวลาประมาณ 3 ปี และรวบรวมข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยออกมาเป็นหนังสือ "แม่น้ำแห่งชีวิต" โดยได้เปิดตัวหนังสือในระหว่างการเสวนา และหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นแหล่งข้อมูลให้กับนักวิชาการ นักศึกษา และคนทั่วไป รวมทั้งกระตุ้นให้คนหันมาสนใจปัญหาในส่วนนี้กันมากขึ้นเพื่อช่วยกันหาทางแก้ไขต่อไป

อย่างไรก็ดี ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้ ผอ.บีอาร์ที กล่าวเพิ่มเติมว่าความหลากหลายนั้นคือสิ่งที่ทำให้สิ่งมีชีวิตอยู่รอดได้โดยไม่สูญพันธุ์ เพราะฉะนั้นสังคมจะอยู่รอดและยาวนานได้บนฐานของความหลากในหลายธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นฐานทรัพยากรที่นำไปสู่ความมั่นคงทางด้านอาหารต่อไป

แต่หากเป็นการทำไร่ทำนาเชิงเดี่ยวที่อยู่บนฐานของเศรษฐกิจ จะไม่ก่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร แต่ในเอเชียส่วนใหญ่รวมทั้งประเทศไทยเราด้วยยังอยู่บนฐานของความหลากหลายของธรรมชาติ ถึงแม้เศรษฐกิจตกต่ำแค่ไหน แต่เราก็ยังไม่ขาดแคลนอาหาร เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้วิถีแบบนี้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไปได้.
ศ.ดร.วิสุทธิ์ ใบไม้
กำลังโหลดความคิดเห็น