นักวิจัยจุฬาฯ เผยผลวิเคราะห์รหัสพันธุกรรม "ไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009” ใช้เวลากลายพันธุ์กว่า 20 ปี เกิดการผสมไวรัสข้าม 3 สายพันธุ์ ที่พบในคน-หมู-นกภายในสิ่งมีชีวิตที่ยังชี้ชัดไม่ได้มากกว่า 1 รุ่น ชี้เป็นความท้าทายของนักวิทยาศาสตร์ ที่จะหากำเนิดของไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งยังไม่มีใครบอกได้ชัดเจนและใครจะตั้งสมมติฐานอย่างไรก็ได้ แต่ไม่เชื่อว่าจะเป็นไวรัสหลุดที่ออกจากห้องแล็บ
ระหว่างการสัมมนา "วช.กับการแก้วิกฤติโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิด A 2009 H1N1” เมื่อวันที่ 15 พ.ค.52 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็น 1 ในวิทยากรของงานสัมมนาดังกล่าว เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์และสื่อมวลชนว่า ได้ถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่พบในเมืองไทยโดยใช้ข้อมูลชีวสารสนเทศ (Bioinformatics) เพื่อหาแหล่งที่มาของไวรัสดังกล่าวที่คนไทยติด พบว่าไวรัสดังกล่าวมีแหล่งที่มาใกล้เคียงกับไวรัสสายพันธุ์ที่มีต้นตอระบาดจากเม็กซิโก โดยมีเบสที่แตกต่างกัน 2 ตัว และข้อมูลดังกล่าวยังสอดคล้องกับข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขว่าคนไข้มีประวัติได้รับเชื้อจากที่ไหน
ทั้งนี้ เมื่อหาต้นตอของไวรัสโดยมองย้อนผ่าน "นาฬิกาโมเลกุล" (molecular clock) ซึ่งต่างประทศศึกษาค่อนข้างเยอะ พบว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้มีวิวัฒนาการนานกว่า 20 ปี และมีการผสมข้ามสายพันธุ์โดยอาศัยเจ้าบ้าน (Host) ที่ติดไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้งชนิดที่พบในคน หมูและนกพร้อมกันถึง 3 ชนิด แต่คาดว่าน่าจะเกิดการผสมข้ามพันธุ์ของไวรัสในสิ่งมีชีวิตที่เป็นเจ้าบ้านซึ่งยังไม่สามารถระบุชนิดได้มากกว่า 1 รุ่น (generation) แล้วจึงเกิดไวรัสลูกผสมชนิดใหม่ขึ้น
“การเกิดไวรัสลูกผสมจากการติดไวรัสพร้อมๆ กัน 3 แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์มากกว่า 1 รุ่น มีโอกาสเกิดน้อย แต่เมื่อดูจากเวลาที่ใช้ในการกลายพันธุ์ที่ใช้เวลาเป็นสิบๆ ปีแล้วก็เป็นไปได้ แต่จุดเริ่มต้นของไวรัสก่อนที่จะมาติดถึงคนนี้ยังไม่มีใครรู้ กำลังตั้งสมมติฐานกันอยู่ ซึ่งใครจะตั้งสมมติฐานอะไรก็ได้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายนักวิทยาศาสตร์" ศ.นพ.ยงกล่าว
อย่างไรก็ดี ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้สอบถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ไวรัสชนิดใหม่นี้ จะเล็ดลอดออกมาจากห้องปฏิบัติการดังที่มีการลือกันบางส่วน ซึ่ง ศ.นพ.ยงให้ความเห็นว่าเราสามารถสร้างไวรัสไข้หวัดใหญ่ในห้องปฏิบัติการได้ เพราะคนเราสามารถโคลนสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ได้ การโคลนไวรัสจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ส่วนตัวแล้วไม่อยากเชื่อว่าไวรัสดังกล่าวจะหลุดออกมาจากห้องปฏิบัติการ
สำหรับการสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีนักวิจัย นักศึกษาและผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 500 คน ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนจำนวนให้ความสนใจเข้าร่วมด้วย.