จุฬาฯ คิดค้นชุดตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่พันธุ์ใหม่ 2009 นอกห้องปฏิบัติการประสบความสำเร็จเป็นแห่งแรกของโลก รู้ผลเร็วใน 1 ชั่วโมง แม่นยำเทียบเท่าผลตรวจจากห้องแล็บ ราคาเพียง 350 บาท แต่ถูกกว่า 7 เท่า พร้อมส่งต่อให้หน่วยงานที่คัดกรองผู้ป่วยนำไปใช้ได้ทันที่ที่ลงจากเครื่องบิน
วันที่ 15 พ.ค. ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ ชอุ่มพฤกษ์ อาจารย์ประจำห้องปฏิบัติการทรานสเจนิคเทคโนโลยีในพืชและไบโอเซ็นเซอร์ ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ประสบความสำเร็จในการคิดค้นชุดตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ภายใต้ชื่อ ซียู ดีเทค (CU-DETECT) ซึ่งเป็นชุดทอสอบที่สามารถดำเนินการได้นอกห้องปฏิบัติการได้เป็นที่แรกของโลก โดยใช้เวลาในการตรวจเชื้อเพียง 1 ชั่วโมง สามารถยืนยันผลได้ว่าผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือไม่
ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าวต่อว่า ผลการตรวจเชื้อที่ได้จากการทดสอบด้วยชุดซียูดีเทคมีความแม่นยำเทียบเท่ากับผลที่ตรวจได้จากห้องปฏิบัติการ แต่วิธีการนี้สามารถดำเนินการได้เร็วกว่า โดยรู้ผลภายใน 1 ชั่วโมง ขณะที่ในห้องปฏิบัติการต้องใช้เวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง อีกทั้ง ค่าใช้จ่ายในการทดสอบต่อครั้งเพียง 350 บาทถูกกว่าการทดสอบในห้องปฏิบัติการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 2,500 บาทต่อครั้งถึง 7 เท่า ที่สำคัญชุดทดสอบนี้สามารถนำไปใช้ตรวจเชื้อผู้ต้องสงสัยได้ในทุกพื้นที่ที่ต้องการ
“เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้ริเริ่มคิดค้นชุดทดสอบนี้ทันทีที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในประเทศเม็กซิโก เมื่อทราบลำดับข้อมูลลำดับหน่วยย่อยที่เล็กที่สุดของสารพันธุกรรม หรือนิวคลิโอไทด์ของยีนไวรัสชนิดนี้ โดยไม่ต้องใช้ตัวอย่างของเชื้อไวรัสก็สามารถสังเคราะห์ดีเอ็นเอ (DNA) ทางเคมี ทั้งนี้ ชุดซียูดีเทคจะมี 2 ขนาด ได้แก่ ขนาดบรรจุหลอดน้ำยาสำเร็จรูปที่เป็นสูตรที่คิดค้นขึ้น 10 หลอดใช้ทดสอบได้ 10 ครั้งและ 20 หลอดสามารถใช้ทดสอบได้ 20 ครั้ง” ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าว
ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับวิธีการทดสอบเชื้อจะเริ่มจากการเก็บตัวอย่างเชื้อไวรัสจากน้ำลายหรือน้ำมูกของผู้ต้องสงสัย จากนั้นนำไปเข้ากระบวนการสกัดอาร์เอ็นเอ (RNA) ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมของไวรัส แล้วนำตัวอย่างที่ได้ประมาณ 2 ไมโครลิตร หยดใส่หลอดน้ำยาสำเร็จรูปพร้อมกับหยดเอนไซม์ 2 ชนิด ชนิดละ 1 ไมโครลิตรลงไป นำไปบ่มในเครื่องบ่มที่อุณหภูมิ 63 องศาเซลเซียส ใช้เวลา 40 นาที - 1 ชั่วโมง ก่อนนำมาอ่านผล โดยใช้หลักการของการเรืองแสง หากเชื้อที่นำมาตรวจเป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เมื่อส่องด้วยแสงสีม่วงจะเรืองแสงเป็นสีเขียว หากไม่ใช่ไวรัสชนิดนี้จะไม่เรืองแสง
“การตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้ที่ผ่านมา ดำเนินการภายในห้องปฏิบัติการทั้งสิ้น แต่ชุดทดสอบนี้สามารถนำไปตรวจเชื้อผู้ป่วยได้นอกห้องปฏิบัติการ ทำได้ง่ายและรวดเร็ว เช่น การตรวจที่สนามบิน ทำให้มีความสะดวก เมื่อพบผู้ป่วยที่มีความร้อนสูงกว่าเครื่องเทอร์โมสแกน ก็สามารถนำผู้ป่วยมาตรวจเชื้อได้ทันที หากผู้ป่วยไม่ได้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็ไม่ต้องนำผู้ป่วยไปกักตัวไว้ที่โรงพยาบาล” ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์กล่าว
ผศ.ดร.ปิยะศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้จุฬาฯ ประสบความสำเร็จในการคิดค้นชุดทดสอบนี้ คาดหวังที่จะให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยนำไปใช้งาน ซึ่งขณะนี้คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯพร้อมที่จะให้การสนับสนุนหน่วยงานเหล่านี้ แต่ไม่จำหน่ายชุดทดสอบหรือรับตรวจเชื้อไวรัสชนิดนี้ให้แก่ประชาชนทั่วไป เพราะโดยปกติทั่วไปการตรวจโรคต้องดำเนินการโดยผู้ที่มีความรู้เท่านั้น