xs
xsm
sm
md
lg

ผลวิจัยระบุ "ลิเธียม" ในน้ำดื่ม ช่วยลดอัตราฆ่าตัวตายได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิจัยญี่ปุ่นพบว่าปริมาณลิเธียมในน้ำประปาที่ดื่มได้ของ 18 ชุมชนในประเทศญี่ปุ่น มีส่วนสัมพันธ์กับอัตราการฆ่าตัวตายของประชาชนในชุมชน โดยชุมชนที่มีลิเธียมในน้ำดื่มสูงกว่า มีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำกว่า (ภาพจากเทเลกราฟ)
ใช้ "ลิเธียม" เป็นยารักษาผู้ป่วยโรคจิตมานาน แต่เพิ่งรู้ว่าในคนปกติที่ดื่มน้ำที่มีแร่ธาตุลิเธียมอยู่ด้วย ก็สามารถช่วยปรับสภาพอารมณ์และลดอัตราเสี่ยงต่อการคิดสั้นฆ่าตัวตายได้เหมือนกัน จากผลการศึกษาของทีมนักวิจัยในประเทศญี่ปุ่น ด้านจิตแพทย์แนะให้ศึกษาเพิ่มเติมเพื่อหวังเป็นข้อมูลสนับสนุนการเสริมธาตุลิเธียมในน้ำดื่มให้ประชาชนมีสุขภาพจิตที่ดีในอนาคต

ทีมนักวิจัยญี่ปุ่นจากมหาวิทยาลัยโออิตะ (Oita University) เมืองโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น ศึกษาและเก็บข้อมูลความสัมพันธ์ระหว่างแร่ธาตุลิเธียม (lithium) ในน้ำดื่ม กับอัตราการฆ่าตัวตาย พบว่าธาตุลิเทียมในน้ำดื่มอาจจะช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายของประชาการได้ ซึ่งบีบีซีนิวส์รายงานว่าผลการวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารจิตเวชศาสตร์ของอังกฤษ (British Journal of Psychiatry)

ในการศึกษาวิจัยเรื่องนี้นักวิจัยได้วัดปริมาณธาตุลิเธียมที่มีอยู่ในน้ำประปาโดยธรรมชาติของชุมชน 18 แห่ง ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น พบธาตุลิเธียมในน้ำประปาในปริมาณตั้งแต่ 0.7-59 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งนับว่ายังอยู่ในระดับที่น้อยมากๆ และเมื่อนักวิจัยศึกษาข้อมูลและคำนวณอัตราการการฆ่าตัวตายของประชากรในชุมชนที่ศึกษาย้อนหลังไปถึงช่วงทศวรรษที่ 80 พบว่าชุมชนที่มีธาตุลิเธียมในน้ำดื่มสูงที่สุด มีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำกว่าชุมชนอื่นๆ

หนังสือพิมพ์เทเลกราฟด้วยว่า นักวิจัยได้เขียนไว้ในรายงานที่ตีพิมพ์ว่า การศึกษาวิจัยของพวกเขาให้ข้อเสนอแนะว่าปริมาณธาตุลิเธียมที่น้อยมากๆ ในน้ำดื่ม สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการคิดฆ่าตัวตายได้ หรืออาจมีผลในทางต่อต้านการทำอัตวินิบาตกรรมนั่นเอง ซึ่งแม้ว่าปริมาณลิเธียมที่วัดได้ในน้ำดื่มจะมีอยู่น้อยมากๆ แต่นักวิจัยสันนิษฐานว่าผลด้านบวกต่อสมองอาจเกิดจากการสะสมลิเธียมในร่างกายจากการดื่มน้ำที่มีลิเธียมมาเป็นเวลาหลายปี

ทั้งนี้ ลิเธียมเป็นธาตุโลหะที่พบได้ในธรรมชาติ ทั้งในอาหารและน้ำดื่มในปริมาณที่มากน้อยแตกต่างกันไป และในทางการแพทย์ยังได้มีการใช้ลิเธียมปริมาณมากเป็นยารักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปรกติทางอารมณ์หรือผู้ป่วยจิตเวช ทว่ายังไม่เคยมีใครศึกษาอย่างละเอียดลึกซึ้งมาก่อนเกี่ยวกับการใช้ลิเธียมปริมาณน้อยๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ทีมนักวิจัยจึงต้องการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นไปอีกและในพื้นที่อื่นๆที่นอกเหนือจากนี้ด้วย

ขณะที่ศาสตราจารย์อัลแลน ยัง (Professor Allan Young) จิตแพทย์จากสถาบันสุขภาพจิต (Institute for Mental Health) เมืองแวนคูเวอร์ กล่าวว่า งานวิจัยเรื่องนี้น่าทึ่งมากและยังกระตุ้นให้เกิดการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้อีกด้วย

"การศึกษาในระดับที่กว้างมากขึ้นอาจมีส่วนช่วยให้การเสริมปริมาณธาตุลิเธียมในน้ำดื่มเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น แม้ว่าอาจจะก่อให้เกิดหัวข้อโต้แย้งที่สำคัญขึ้นมาอีกได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลย ซึ่งการติดตามผลของการค้นพบในเรื่องนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายหรือทำได้ในราคาย่อมเยานัก แต่ผลในตอนท้ายที่สุดที่จะแก่สุขภาพจิตของผู้คนในชุมชนอาจเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องพิจารณากัน" ศาสตราจารย์ยัง กล่าวแสดงความเห็น

ด้านโซฟี คอร์เลตต์ เจ้าหน้าที่จากไมด์ (Mind) ซึ่เป็นมูลนิธิทางด้านสุขภาพจิตของอังกฤษ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า ตอนนี้เรารู้อยู่แล้วว่าลิเธียมสามารถออกฤทธิ์ช่วยปรับสภาพอารมณ์ของผู้ที่มีความผิดปรกติทางจิตได้ และการใช้ลิเธียมบำบัดรักษาคนกลุ่มนี้ก็สามารถลดอัตราการฆ่าตัวตายลงได้

"อย่างไรก็ตาม ลิเธียมจะออกฤทธิ์ได้และมีผลข้างเคียงร่วมด้วยเมื่อใช้ในปริมาณที่มากพอ อีกทั้งยังอาจทำให้เกิดความเป็นพิษได้ด้วย ฉะนั้นการแนะนำใดๆที่ให้มีการเติมลิเธียมเข้าไปในน้ำดื่ม แม้ว่าจะในปริมาณที่น้อยน้อยก็ตาม ควรทำด้วยความระมัดระวังและควรมีศึกษาวิจัยให้มีข้อมูลที่ละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน" คอร์เลตต์กล่าว
ลิเธียมใช้เป็นยาปรับสภาพอารมณ์สำหรับผู้ป่วยจิตเวชมานาน แต่ในอนาคตอาจมีการเสริมลิเธียมในน้ำดื่มเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตของประชาชน หากมีหลักฐานยืนยันได้ชัดเจนว่าลิเธียมปริมาณน้อยในน้ำดื่ม มีผลดีต่อสุขภาพจิตจริงและไม่มีผลข้างเคียง (ภาพจากแฟ้ม)
กำลังโหลดความคิดเห็น