เผยพบแบตเตอรี่มือถือเกลื่อนกว่า 9 พันตัน กทม.จับมือเอกชนรณรงค์แยกทิ้งช่วยลดโลกร้อน เตรียมวางกล่องรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ชนิดนี้ในทุกหน่วยงานสังกัด กทม.-ห้างสรรพสินค้า
นายประทีป จิรกิติ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายชวลิต มโนวิลาส ประธานกรรมการบริษัท คอมมี่ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด แถลงข่าวการจัดกิจกรรม Think Better Think Cool รณรงค์ให้ประชาชนแยกทิ้งขยะแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือจากขยะทั่วไป เพื่อให้นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี และไม่ให้สารพิษในแบตเตอรี่ เช่น ตะกั่ว ทองแดง ลิเทียม แคดเมียม ปนเปื้อนในดิน น้ำ และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นมาตรการหนึ่งในการลดโลกร้อน
นายประทีปกล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าพื้นที่ กทม.มีอิเล็กทรอนิกส์ประเภทแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ จำนวน 9,000 ตันต่อปี ซึ่ง กทม.ใช้วิธีทำลายด้วยการฝังกลบ และเผาทำลายด้วยเตาเผา ซึ่งในอนาคตเกรงว่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพปนเปื้อนอยู่ในดิน น้ำ และอากาศ ดังนั้น การรณรงค์ดังกล่าวเชื่อว่าจะทำให้มีการกำจัดขยะที่ถูกวิธี ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน ซึ่ง กทม.ได้รณรงค์ในกลุ่มของข้าราชการ ลูกจ้าง กทม.เพื่อเป็นการนำร่องก่อน โดยบริษัท คอมมี่ฯ ได้ทำกล่องรับทิ้งแบตเตอรี่จำนวน 82 กล่อง ตั้งไว้ยังหน่วยงานของ กทม.อาทิ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ศาลาว่าการ กทม. สำนักการโยธา สำนักระบายน้ำ โรงพยาบาลสังกัด กทม.เป็นต้น นอกจากนี้ บริษัทยังได้นำไปตั้งวางไว้ตามจุดต่างๆ ในห้างสรรพสินค้าและศูนย์ไอทีมอลล์ เพื่อให้ประชาชนได้นำแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือมาทิ้งได้สะดวกขึ้น โดยทางสำนักสิ่งแวดล้อมจะหมุนเวียนออกไปจัดเก็บทุกเดือนเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป
อย่างไรก็ตาม กทม.จะเจรจาขอเพิ่มกล่องรับทิ้งแบตเตอรี่จากบริษัท คอมมี่ฯ เพื่อนำไปวางตามโรงเรียนในสังกัด กทม.ทั้ง 435 แห่ง เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะพิษและแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมด้วย