เผยผลประชุมเวทีโลกร้อนยูเอ็นเริ่มมีหัวข้อ "เกษตร" เข้ามาถก พร้อมชี้การเกษตรมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10-12% จึงต้องมีส่วนร่วมลดการปล่อย ด้านนักวิจัยไทยแจงผลวิจัยไม่ตรงกัน ศึกษาเองพบว่าปล่อยน้อยกว่าผลวิจัยต่างชาติครึ่งหนึ่ง ระบุไทยต้องมีข้อมูลที่แม่นยำเพื่อนำไปยันข้อมูลต่างชาติ
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักแห่งชาติ ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ส่งผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยพันธะกรณีต่อเนื่อง สำหรับประเทศในภาคผนวกที่ 1 ภายใต้พิธีสารเกียวโตสมัยที่ 7 (AWG-KP) และคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยความร่วมมือในระยะยาวภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 5 (AWG-LCA) เมื่อวันที่ 29 มี.ค.-8 เม.ย.52 ที่ผ่านมา ณ เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี และได้จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อผลการประชุมเมื่อวันที่ 29 เม.ย.52 ณ โรงแรมเซนจูรีปาร์ค
สำหรับวัตถุประสงค์สำคัญของการประชุม ณ กรุงบอนน์ที่ผ่านมานั้นคือการเจรจาต่อเนื่องจากการประชุมครั้งก่อนหน้าเพื่อนำไปสู่เอกสารสำหรับเจรจา (negotiating text) ภายใต้คณะทำงานเฉพาะกิจของกลุ่ม AWG-LCA และ AWG-KP ซึ่งเป็นกระบวนการเจรจาที่จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงที่บาหลีซึ่งเรียกว่า Bali Action Plan เมื่อปลายปี 2550 โดยมีเป้าหมายบรรลุข้อตกลงในปี 2552 นี้ ซึ่งประเด็นเจรจาประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) การปรับตัว (adaptation) การเงิน (finance) และ เทคโนโลยี (technology)
ดร.แสงจันทร์ ลิ้มจิรกาล ผู้อำนวยการหลักสูตรสหสาขาสิ่งแวดล้อม การพัฒนา และความยั่งยืน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้แทนไทยซึ่งเข้าร่วมการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจว่าด้วยความร่วมมือในระยะยาวภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 5 กล่าวถึงสาระในการประชุมที่เข้าร่วมว่า ได้มีหัวข้อการเกษตรเข้าไปพิจารณา (discuss) ในที่ประชุม แต่ยังไม่ถึงระดับเจรจาตกลง (negotiate)
ทั้งนี้ มีการพิจารณาในประชุมว่าภาคเกษตรมีส่วนปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10-12%ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด หากมีส่วนช่วยลดการปล่อยลงบ้างจะช่วยได้มาก ซึ่งตรงนี้ ดร.แสงจันทร์ชี้ว่า หากนักวิจัยไทยคิดว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวมีผลเสียมากกว่าผลดี ก็ต้องหาข้อมูลที่แม่นยำกลับไปยืนยัน ซึ่งจากการทำวิจัยพร้อมคณะด้วยทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ข้อมูลที่แตกต่างออกไปคือภาคเกษตรมีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าที่อ้างไปข้างต้นประมาณ 50% ในส่วนนี้ "กรมวิชาการเกษตร" ควรเข้ามาให้ข้อมูลและทำงานร่วมกัน ซึ่งต่อไปอาจเป็นหนึ่งในผู้แทนของไทยที่จะเดินทางไปเจรจา
"ครั้งนี้เขาค่อนข้างเกี่ยวข้องกับการเกษตร ที่อ่านแล้วขำคือ มีคนพูดที่ไม่ใช่คนปฏิบัติออกมาพูดว่าการปลูกข้าวต้องปล่อยน้ำออกจากนาให้นานกว่าที่เคยปฏิบัติ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของภูมิปัญญาชาวบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเราไม่รู้เลยว่าถ้าปล่อยน้ำออกจากนาแล้วจะมีผลต่อการออกดอกของข้าวอย่างไร กระทบผลผลิตอย่างไร แต่อย่างไรก็ดีหลังปี 2555 นี้เราไม่มีพันธสัญญาที่จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกอย่างแน่นอน" ดร.แสงจันทร์กล่าว.