xs
xsm
sm
md
lg

คปก. วิจัยร่วมมิตรผล หาวิธีเพิ่มผลผลิตอ้อยได้เกือบ 2 ล้านตัน/ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางพีรญา กลมสอาด
คปก. ร่วมกับมิตรผลวิจัยแก้ปัญหาผลผลิตอ้อยตกต่ำ ศึกษาพบอ้อยพันธุ์ดีที่เหมาะสำหรับปลูกในแต่ละพื้นที่ เร่งสนับสนุนให้เกษตรกรปลูก ช่วยเพิ่มผลผลิตได้สูงสุด 8 ตันต่อไร่ ส่วนมิตรผลได้อ้อยทำน้ำตาลเพิ่มอีกเกือบ 2 ล้านตันต่อปี พร้อมส่งเสริมอ้อยพันธุ์ดีให้เกษตรกรปลูกรองรับความต้องการในอนาคต

นางพีรญา กลมสอาด นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ภาควิชาพืชศาสตร์และทรัพยากรการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยกับสื่อมวลชนและทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ว่า ได้ร่วมกับกลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผลศึกษาวิจัยจนสามารถคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่เหมาะสำหรับปลูกในสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกันได้และให้ผลผลิตสูงขึ้นได้อย่างน่าพอใจ

"ปัจจุบันผลผลิตอ้อยตกต่ำและมีความผันผวน ไม่คงที่ ทำให้ผลผลิตอ้อยในแต่ละปีไม่เพียงพอต่อความต้องการสำหรับผลิตน้ำตาล เพราะขาดแคลนอ้อยสายพันธุ์ดีที่เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก ปัญหาฝนแล้ง สภาพพื้นดินเสื่อมโทรม การระบาดโรคและแมลงรบกวน" นางพีรญา กล่าว ซึ่งในส่วนของกลุ่มมิตรผลมีความต้องการอ้อยราว 14 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบันผลิตอ้อยได้เพียง 11-12 ล้านตันต่อปี

นักวิจัยกล่าวต่อว่าเกษตรกรมีความต้องการพันธุ์อ้อยที่สามารถปรับตัวเข้าได้กับทุกพื้นที่ หรือมีความเหมาะสมในพื้นที่นั้นๆ ให้ผลผลิตสูง และทนทานโรคและแมลง แต่เนื่องจากการปรับปรุงพันธุ์อ้อยที่ผ่านมามักเป็นในลักษณะปรับปรุงพันธุ์ในพื้นที่หนึ่ง เมื่อมีการขยายผลไปปลูกในพื้นที่อื่นด้วย ซึ่งมิได้เคยใช้ทดสอบในการปรับปรุงพันธุ์ดังกล่าวมาก่อน จึงให้ผลผลิตไม่เป็นไปตามคาดหมาย

อีกทั้งสภาพพื้นที่ปลูกอ้อยของกลุ่มมิตรผลโดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่มีสภาพเป็นดินทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ และปลูกอ้อยหลากหลายสายพันธุ์ ซึ่งไม่เหมาะสมต่อสภาพพื้นที่ปลูกเท่าที่ควร ทำให้ผลผลิตอ้อยต่อไร่ต่ำราว 7-8 ตันต่อไร่

"จากการศึกษาการปรับตัวของพันธุ์อ้อยโดยมีการกำหนดเขตพื้นที่พบว่าอ้อยพันธุ์มิตรผล 2 (MPT 2) เหมาะสำหรับในพื้นที่ดินทราย ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำ และในเขตแห้งแล้ง ส่วนในพื้นที่ที่มีสภาพดินอุดมสมบูรณ์ระดับปานกลางที่เป็นดินเหนียวหรือดินทราย แนะนำพันธุ์ขอนแก่น 3 (KK3) และในพื้นที่ดินทราย และดินเหนียวที่ดินค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ มีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 800 มิลลิเมตรต่อปี หรือมีการให้น้ำเสริม พันธุ์อ้อยที่เหมาะสมคือ เค 88-92 (K88-92)" นางพีรญาเผย

จากการนำพันธุ์อ้อยดังกล่าวไปแนะนำให้ชาวไร่ปลูกในบางพื้นที่ของโรงงานน้ำตาลมิตรภูเวียง พบว่าผลผลิตอ้อยเพิ่มเป็น 10-15 ตัน/ไร่ การระบาดของหนอนกออ้อยและโรคใบขาวในพื้นที่ก็ลดลงด้วย และหากขยายผลการปลูกอ้อยพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ในกลุ่มมิตผลราว 20% ของพื้นที่เพาะปลูกอ้อยทั้งหมดที่มีอยู่ 1.4 ล้านไร่ จะทำให้ได้ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1-2 ล้านตันต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของโรงงานในแต่ละปี และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรด้วย โดยจะขยายผลการวิจัยไปยังชาวไร่อ้อยในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งในอนาคตอาจมีความต้องการอ้อยเพิ่มมากขึ้นในการนำไปผลิตเป็นพลังงานทดแทน

อย่างไรก็ดี นักวิจัยกำลังศึกษาเพิ่มเติมในด้านสรีรวิทยาของอ้อยแต่ละพันธุ์ในแต่ละสภาพพื้นที่ เช่น การเจริญเติบโต ลักษณะการแตกกอ เพื่อใช้บ่งชี้สายพันธุ์อ้อยว่าลักษณะแบบใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมในพื้นที่เพาะปลูกบริเวณใดโดยสามารถดูได้จากลักษณะภายนอกที่มองเห็นชัดเจน เพื่อเป็นประโยชน์ในการคัดเลือกพันธุ์อ้อยต่อไป
นักวิจัย คปก. กำหนดเขตพื้นที่และคัดเลือกสายพันธุ์อ้อยที่มีความเหมาะสมในสภาพพื้นที่ปลูกแบบต่างๆ ช่วยเพิ่มผลผลิตอ้อยได้มากราว 4-8 ตันต่อไร่ (นางพีรญา กลมสอาด)
กำลังโหลดความคิดเห็น