xs
xsm
sm
md
lg

ตามล่าหาหนังสือวิทย์ออกใหม่ ในงานสัปดาห์หนังสือปี 52

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นานาหนังสือวิทยาศาสตร์ในบูธของสำนักพิมพ์มติชน
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้เริ่มแล้ว นักอ่านจากทั่วสารทิศ มุ่งหน้ามาที่ศูนย์สิริกิติ์พร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย คนก็เยอะ หนังสือก็แยะ แต่กว่าจะเจอหนังสือวิทย์ออกใหม่ (ที่ไม่ใช่ตำรา) สักเล่มก็เหนื่อยเอาการอยู่ ปีนี้มีเรื่องใหม่ไม่มาก แต่ก็น่าอ่านไม่น้อย

ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ออกตะลุยค้นหาหนังสือวิทยาศาสตร์ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 37 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มี.ค. - 6 เม.ย. 52 พบเห็นหนังสือวิทยาศาสตร์มีไม่มากมายไปกว่าปีก่อนๆ เลย ยิ่งหนังสือวิทย์ออกใหม่ก็มีน้อยเช่นเคย ส่วนจะมีอะไรน่าอ่านกันบ้าง ลองไปดูกันเลยดีกว่า

เริ่มกันที่นักเขียนนิยาย ระดับบรมครูของไทยอย่าง กฤษณา อโศกสิน ที่ลองเปลี่ยนจากแนวถนัดอย่างนิยายชีวิตสะท้อนสังคม มาเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ผจญภัยที่อิงกับประวัติศาสตร์การสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างไทยและพม่าเมื่อราว 60 ปีก่อน ด้วยเรื่อง "อุโมงค์เวลา" ที่เพิ่งพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกสดๆ ร้อนๆ ต้อนรับงานนี้เลยทีเดียว

ส่วนนิยายแปลที่น่าอ่านก็เรื่อง "ปริศนาวงกตกุหลาบ" ผลงานของติตาเนีย ฮาร์ดี นักเขียนชาวออสเตรเลีย แปลโดย จิรนันท์ พิตรปรีชา ที่เล่าเรื่องราวชวนตื่นเต้นของการไขปริศนามรดก ที่ตัวเอกได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่โยงใยถึงบุคคลสำคัญในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 16 นักคำนวณผู้เล่นแร่แปรธาตุ สามารถสื่อสารกับทวยเทพ และเป็นโหรหลวงของพระนางเอลิซาเบธที่ 1

อีกเรื่องคือ "ดวงตาราชันย์" ผลงานของแคทเธอรีน แบนเนอร์ แปลโดย งามพรรณ เวชชาชีวะ เป็นเรื่องราวการผจญภัยระหว่างสองโลกที่คู่ขนานกัน โลกหนึ่งร้อนระอุไปด้วยสงคราม ส่วนอีกโลกเต็มไปด้วยอาวุธสงคราม เทคโนโลยี และแสงไฟที่ไม่มีวันดับ

"แอร์แมน" ผลงานของ โอเวน โคลเฟอร์ ผู้แต่งเรื่อง "อาร์ทิมิส ฟลาว" ซึ่งแอร์แมนเป็นเรื่องราวของอัจฉริยะที่ถูกจองจำอยู่ในคุกบนเกาะห่างไกล และทางเดียวที่เขาจะหนีออกจากที่นั่นได้คือต้อง "บิน" ออกไปเท่านั้น ซึ่งเขาใช้ผนังคุกแทนกระดาษในการร่างแบบเครื่องจักรบินได้ เพื่อสร้างมันขึ้นมาและพาเขาหนีออกจากที่นั่น และไปพบกับเรื่องราวการผจญภัยที่น่าตื่นเต้นอีกมากมาย

ขณะที่วินทร์ เลียววาริณ นักเขียนไซไฟชื่อดังของไทยก็ออกหนังสือเล่มใหม่อีก 2 เล่ม ได้แก่ "บุหงาตานี" นิยายภาคต่อของบุหงาปารี (ปืนใหญ่จอมสลัด) และรวม 53 เรื่องสั้นแนวทดลองชุดที่ 4 ในหนังสือ "เส้นรอบวงของหนึ่งวัน"

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ส่งหนังสือ "เสริมอาหาร ไม่ต้องเสริมสมอง" ผลงานของ รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ ที่พยายามชี้ให้ผู้บริโภคเห็นถึงโทษสมบัติของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ความจำเป็นในการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมไปถึงแนะนำวิธีการรับประทานอาหารให้ได้ประโยชน์สูงสุดโดยไม่ต้องพึ่งพาอาหารเสริม และยังวิเคราะห์ความเสี่ยงของอาหารดัดแปรพันธุกรรมด้วย เป็นต้น

ส่วน "กรรมพันธุ์ฟอร์เซล" ผลงานของ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จากค่ายเดียวกัน แต่อาจไม่ใหม่แกะกล่องเท่า ที่ก็น่าสนใจไม่น้อย เพราะรวบรวมบทความด้านชีวจริยธรรมเพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจอันดีต่อโลกอนาคต มีเนื้อหาครอบคลุมทั้งเรื่องการโคลนนิง การรับฝากสเต็มเซลล์ การซื้อขายหรือบริจาคไข่และสเปิร์ม เป็นต้น

นอกจากนี้ก็ยังมี "ฉลาดซื้อ 2008" ที่เหมาะจะเป็นคู่มือให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการจำนวนมากมาย ที่รวบรวมจากวารสารฉลาดซื้อ 2008

หนังสือวิทย์เล่มใหม่ในปีนี้ของสำนักพิมพ์มติชนก็มี "ลวดลายสีสัน มหัศจรรย์วิวัฒนาการ" ของ ฌอง บี แคร์รอล (Sean B. Carroll) แปลโดย ดร.เมธินี ศรีวัฒนกุล ที่จะพาเราไปไขความลับเรื่องวิวัฒนาการของสัตว์โลก และวิทยาศาสตร์แขนงใหม่ ชีววิทยาการเจริญเชิงวิวัฒนาการ (Evo Devo) ที่ยืนยันได้ว่า ทฤษฎีวิวัฒนาการไม่ได้หยุดอยู่แค่ "ชาร์ลส์ ดาร์วิน" ซึ่งพิมพ์ออกมาได้เหมาะเจาะกับปีนี้พอดีที่ครบรอบ 200 ปี ดาร์วิน

"โคเปร์นิคัส ผู้ปฏิวัติวงการดาราศาสตร์" เขียนโดย โอเว่น กิงเกอริช (Owen Gingerich) นักประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน แปลโดย นรา สุภัคโรจน์ ที่พาเราไปตามรอยหนังสือ "เด ริโวลูทิโอนิบุส" ของโคเปอร์นิคัส และผู้ที่เคยครอบครองไว้ ซึ่งเป็นหนังสือต้องห้ามเมื่อราว 500 ปีก่อน เพราะมีเนื้อหาขัดแย้งกับหลักศาสนา ด้วยบอกว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางจักรวาล และโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ แต่เขากลับกลายเป็นบรมครูผู้วางรากฐานของดาราศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศในสมัยต่อมา

ส่วนใครที่เป็นแฟนพันธุ์แท้เรื่อง "ประวัติย่อของกาลเวลา" ไม่ควรพลาด "ประวัติย่อของกาลเวลา ฉบับภาพประกอบ" ผลงานของ สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง แปลโดย ดร.ปิยบุตร บุรีคำ และ ดร.อรรถกฤต ฉัตรภูมิ ซึ่งในเล่มนี้ ฮอว์กิ้งใส่ภาพสื่สีมากกว่า 240 ภาพ ทั้งภาพถ่ายดาวเทียม ภาพจากกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล และภาพจำลองจากคอมพิวเตอร์ พร้อมคำอธิบายอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจถึงเรื่องราวของเอกภพ อวกาศ และเวลา มากยิ่งขึ้น

ส่วนหนังสือวิทย์เล่มอื่นของค่ายนี้ ก็ยังมีวางจำหน่ายให้แฟนๆ ติดตามเลือกซื้อมาอ่าน ไม่ว่าจะเป็น ประวัติย่อของดวงดาว, ประวัติย่อของหลุมดำ, ประวัติย่อของกาลเวลา ฉบับปรับปรุงใหม่ เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี การพิมพ์หนังสือเล่มนี้, เรื่องของเวลา, ควอนตัมจักรวาลใหม่, ทอถักจักรวาล, เอกภพ สรรพสิ่ง และมนุษยชาติ, ฟายน์แมน อัจฉริยะโลกฟิสิกส์ เป็นต้น

ใครชอบเล่มไหน เรื่องไหน หรือเป็นแฟนประจำของนักเขียน นักแปลคนใด ก็ไปติดตามหามาอ่านเพิ่มพูนความรู้วิทยาศาสตร์และอื่นๆกันได้ตามชอบใจเลย.
สำนักพิมพ์มติชนมีหนังสือวิทยาศาสตร์ออกใหม่ทุกๆปี และได้รับความสนใจจากนักอ่านเป็นอย่างดี
ลวดลายสีสัน มหัศจรรย์วิวัฒนาการ
โคเปร์นิคัส ผู้ปฏิวัติวงการดาราศาสตร์
ประวัติย่อของกาลเวลา ฉบับภาพประกอบ
ปริศนาวงกตกุหลาบ
อุโมงค์เวลา
บูธหนังสือของ วินทร์ เลียววาริณ
มูลนิธิโลกสีเขียว มีจำหน่ายทั้งหนังสือเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน และถุงผ้า
นิยายวิทยาศาสตร์ของไอแซค อาซิมอฟ ก็ยังพอมีจำหน่ายอยู่บ้าง
สุดยอดวรรณกรรมวิทยาศาสตร์เรื่อง ดูน ของ แฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต
ลับสมองกับ SUDOKU
นานาหนังสือวิทยาศาสตร์ของสำนักพิมพ์ชมรมเด็ก
เทวากับซาตาน ของ แดน บราวน์ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวพันกับเซิร์น ขึ้นแท่นหนังสือขายดีอันดับ 5 ของร้านนายอินทร์
กำลังโหลดความคิดเห็น