xs
xsm
sm
md
lg

ให้วัตถุออกฤทธิ์จิตประสาทรอดกฎหมายสินค้าห่วย หวั่นคลินิกลดอ้วนได้ประโยชน์ด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฉ! สอดไส้วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและสารเสพติดเพิ่มในกฎกระทรวง ยกเว้นเป็นสินค้าปลอดภัยหากหมอ-พยาบาลใช้รักษาคนไข้ กังวลคลินิกลดอ้วนรอดตัวได้รับการยกเว้นด้วย นายกฯ เตรียมนัดหารือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง 2 มี.ค.นี้ ด้านเครือข่ายผู้บริโภคล่อซื้อยาลดอ้วนในคลินิกทั่วประเทศพบทำผิดเพียบ ไม่ตรวจวัดความดัน ซักประวัติ แถมผอมอยู่แล้วยังจ่ายยาเพียบ ชัดเจนการบริการไม่มีคุณภาพ ด้าน “วิทยา” ยันออกกฎกระทรวงไม่ได้ปกป้องแพทย์
สารี อ๋องสมหวัง
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในวันที่ 2 มี.ค.นี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจะนัดภาคประชาชน ฝ่ายวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงซึ่งล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ได้เสนอร่างกฎกระทรวงให้ยกเว้นยาและเครื่องมือแพทย์ และได้มีการเพิ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและสารเสพติด ถือว่าไม่เป็นสินค้าตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551

น.ส.สารี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวยังระบุให้ยา เครื่องมือแพทย์ สารเสพติด และวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ที่ผู้ให้บริการสาธารณสุข ได้ผลิตเพื่อนำมาใช้เฉพาะกับการบำบัดรักษาผู้ป่วยหรือสัตว์ เฉพาะรายที่ผ่านการตรวจหรือได้ผลิตตามคำสั่งของผู้ให้บริการสาธารณสุข ผู้ตรวจรักษา โดยไม่ได้ผลิตในลักษณะเดียวกับเพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป เป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้น ทั้งนี้ให้สินค้าทั้ง 4 รายการหรือสังหาริมทรัพย์อื่นใดที่ผลิตโดยบุคคลอื่นที่ผู้ให้บริการสาธารณสุขได้นำมาใช้ผลิตยาคงเป็นสินค้าที่ผู้ประกอบการต้องถูกบังคับใช้ตามกฎหมายนี้

“รู้สึกกังวลที่จะมีการยกเว้นให้กับยา เครื่องมือแพทย์ ยาเสพติด และวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่บุคลากรทางวิชาชีพสาธารณสุขใช้กับประชาชนโดยที่ไม่ได้ขายทั่วไป เท่ากับว่าผลิตภัณฑ์ยาลดความอ้วนในคลินิกลดน้ำหนักที่ส่วนใหญ่เป็นยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทแทบทั้งสิ้น ก็จะได้รับการยกเว้นตามกฎหมายนี้ไปด้วย ซึ่งสุดท้ายไม่เพียงแต่ 4 รายการที่ได้รับการยกเว้น แต่อาจได้รับการยกเว้นไปหมดเลยหรืออย่างไร “น.ส.สารี กล่าว

น.ส.สารี กล่าวว่า ยินดีที่จะให้ข้อมูลกับนายกรัฐมนตรีและนายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข แต่ตอนนี้นายวิทยาอาจคิดว่าไม่ใช่เจ้าภาพแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ตัดสินใจ ทั้งนี้ คาดหวังว่าในการหารือในวันที่ 2 มี.ค.หลายฝ่ายจะเห็นด้วยว่าไม่จำเป็นต้องออกกฎกระทรวงใดๆ โดยให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ไปก่อน แต่หากพบว่ามีการฟ้องร้องเพิ่มขึ้นชนิดถล่มทลายจากกฎหมายฉบับนี้ก็ยินดีที่จะให้มีการทบทวน ออกกฎกระทรวง เว้นให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ได้ แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นว่าจะมีการฟ้องร้องเพิ่มขึ้น อย่างประเทศญี่ปุ่นมีการฟ้องร้องในกฎหมายเดียวกันเพียง 3 กรณีเท่านั้น

“ไม่มีประเทศใดในโลกที่มีกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย เยอรมนี ญี่ปุ่น ที่ยกเว้นสินค้าสังหาริมทรัพย์ในกฎหมายนี้ เหมือนที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งไม่แน่ใจว่าการยกเว้นดังกล่าวจะขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายในการคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่”น.ส.สารี กล่าว

น.ส.สารี กล่าวอีกว่า เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภคได้สำรวจคลินิกลดความอ้วนของอาสาสมัครทั่วประเทศ ซึ่งผลการสำรวจนั้นสะท้อนให้ สธ.เห็นถึงความไม่มีคุณภาพและมาตรฐานะของคลินิกเหล่านี้ โดยเฉพาะที่น่าห่วงคือได้รับความนิยมคือยา เฟนเตอมีน ซึ่งจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทต้องได้รับการควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่สธ.ยังผลักดันในการออกกฎกระทรวงเพื่อยกเว้นยาลดความอ้วน ทั้งๆ ที่คุณภาพการให้บริการยังเป็นคำถามอยู่

“ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดติดต่อขอข้อมูลมาเลย จึงเตรียมส่งข้อมูลที่วารสารฉลาดซื้อสำรวจจะส่งให้กองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แพทยสภา อย. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการตามกฎหมายที่รับผิดชอบต่อไป” น.ส.สารี กล่าว

ด้าน น.ส.ศศิวรรณ ปริญญาตร หัวหน้าฝ่ายทดสอบวารสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ผลการสำรวจคลินิกลดความอ้วน 18 แห่งใน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง เพชรบูรณ์ อ่างทอง กาญจนบุรี สมุทรสงคราม พัทลุง และสตูล เป็นอาสาสมัครหญิง 14 คนในวัยเรียนและทำงาน โดยได้วัดดัชนีมวลกายหรือบีเอ็มไอไม่เกิน 23 ซึ่งถือว่าไม่อ้วน อยู่ในเกณฑ์ปกติ และไปคลินิกลดความอ้วนชื่อดังของแต่ละพื้นที่ พบว่า เมื่ออาสาสมัครเข้าไประบุว่าต้องการลดความน้ำหนักทั้งที่บีเอ็มไออยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยเข้ารับบริการ 16 ครั้งได้รับยา 13 ครั้ง มี 3 คลินิกไม่จ่ายยาในจำนวนนี้มีเพียงคลินิกเดียวเท่านั้นที่ปฏิเสธการรักษา ส่วนอีก 2 แห่งเสนออาหารเสริมลดความอ้วน

“ไม่เพียงเท่านี้คลินิก 6 แห่งจากคลินิกทั้งหมด 16 แห่ง ไม่มีการวัดความดันของอาสาสมัคร ในจำนวนนี้ มี 4 แห่งที่ไม่ได้วัดความดันและยังจ่ายยาลดน้ำหนักให้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายมาก เพราะยาลดน้ำหนักบางชนิด ห้ามให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตทาน และมี 2 คลินิกจากทั้งหมด ที่อาสาสมัครเข้าไปรับบริการแต่ไม่พบแพทย์ แต่ได้รับยามารับประทานแทน โดยที่ไม่ทราบเลยว่ายาที่ได้มานั้นคืออะไร บอกเพียงว่าเป็นยาลดไขมัน ยาควบคุมความหิว ขณะนี้ได้นำยาที่จ่ายจากคลินิกไปให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.อุบลราชธานีตรวจพิสูจน์ว่าเป็นยาชนิดใด และต้องจ่ายโดยแพทย์หรือไม่” น.ส.ศศิวรรณ กล่าว

น.ส.ศศิวรรณ กล่าวว่า นอกจากนี้ 1 ใน 4 ของคลินิกที่สำรวจพบว่าไม่มีการแนะนำเรื่องโภชนาการในการลดน้ำหนัก แต่กลับพบว่า คลินิก 12 แห่งจาก 16 แห่ง เสนอบริการอื่นเพื่อจูงใจอีก อาทิ อาหารเสริม การทำผิวขาว แก้ปัญหาสิวฝ้า ฯลฯ และในจำนวนนี้ 8 แห่ง เสนอขายโดยพนักงาน ไม่ใช่แพทย์

น.ส.เรณู ภู่อาวรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคจ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ได้ไปคลินิกลดน้ำหนักที่มีชื่อเสียงในพื้นที่ ระบุว่าจะไปลดน้ำหนัก เพียง 3 กิโลกรัม โดยที่เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นหมอหรือไม่ ก็ไม่ได้ท้วงแต่อย่างใด เพราะตนเองอายุ 57 ปี สูง 170 หนักเพียง 60 กิโลกรัมเท่านั้น พร้อมยังนัดให้ครั้งหน้ามาฉีดยาลดอ้วน ซึ่งได้ถามถึงผลข้างเคียงของยาฉีด แต่ก็ได้รับคำตอบว่าไม่ทราบผลข้างเคียง เพราะไม่รู้ว่าจะแพ้ยาหรือไม่ จากนั้นก็เสนอให้ยกกระชับผิว ลดฝ้า พร้อมทั้งเสนอขายยกทรงและกางเกงในลดน้ำหนัก โดยได้ปฏิเสธไป เพราะอ้างว่าต้องการลดน้ำหนักเพียง 3 กิโลกรัม ยาก็รับประทานแล้ว ยังต้องซื้อยกทรงและกางเกงในดังกล่าวราคา 2 พันกว่าบาทอีกหรือ โดยค่าบริการประมาณ 200 บาทต่อ 2 สัปดาห์ ได้ยา 3 รายการ ซึ่งไม่ระบุชื่อยา

ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับการออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ความรับผิดฯ จะต้องมีการฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายทั้งภาคประชาชน และแพทยสภา รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะมีการนำเข้าไปพิจารณาในการประชุม ครม. ก่อนอย่างแน่นอนเพื่อไม่ให้เป็นการขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย ยืนยันว่าจำเป็นต้องมีการออกกฎกระทรวงแต่ไม่ใช่เพื่อการปกป้องแพทย์หรือบุคลากรทางสาธารณสุขแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น