เครือข่ายผู้บริโภคเผยผลสำรวจอาหารเช้าซีเรียลสำหรับเด็กยี่ห้อชั้นนำ พบปริมาณน้ำตาล-เกลือสูงกว่าปกติ เรียกร้องบริษัทผู้ผลิตงดโฆษณาชวนเชื่อเกินจริง แนะผู้ปกครองตัดสินใจเลือกอาหารเช้าให้ลูกกิน หากเป็นซีเรียลควรผสมนม ผลไม้ หลีกเลี่ยงกินเปล่าๆ
วันนี้ (24 ต.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคโดยวารสารฉลาดซื้อ ได้ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ 32 ประเทศทั่วโลก เช่น อาร์เจนตินา ออสเตรเรีย บราซิล ชิลี เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี ฮ่องกง อินเดีย อังกฤษ มาเลเซีย และไทย ได้ร่วมกันทดสอบ อาหารเช้าซีเรียลที่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเช้าสำหรับเด็กที่พบเห็นได้ตามซูเปอร์มาร์เกตทั่วไปและเป็นยี่ห้อที่ทำตลาดอย่างแพร่หลาย 7 ตัวอย่างที่มีขายทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยสิ่งที่ทำการสำรวจ 3 อย่างคือ ปริมาณไขมัน เกลือ น้ำตาล
ทั้งนี้ ปรากฏผลการทดสอบที่น่าตกใจ เพราะอาหารเช้าซีเรียลของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ที่หลายครอบครัวเชื่อว่าการให้ลูกบริโภคอาหารดังกล่าวนี้สามารถแทนอาหารเช้าได้ และคิดว่ามีคุณค่าทางอาหารอย่างครบถ้วนนั้น ส่วนใหญ่พบปริมาณน้ำตาล และเกลือที่สูงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในไทยที่ทำการทดสอบโดยห้องทดลอง TUV SUDในประเทศสิงคโปร์ พบว่ามีค่าน้ำตาลสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในยี่ห้อเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการโฆษณาที่ผู้ผลิตมักทำให้เชื่อว่าอาหารเช้าเหล่านั้นมีคุณค่าทางอาหารสูง
นอกจากนี้ จากตัวอย่างซีเรียลยี่ห้อดังบางยี่ห้อพบว่า ปริมาณเกลือ น้ำตาล และไขมันที่แจ้งไว้ที่ฉลากข้างกล่อง ต่ำกว่าที่ตรวจวัดได้จริงจากผลิตภัณฑ์ในกล่อง
น.ส.สารี กล่าวต่อว่า เมื่อผลทดการสอบออกมาเป็นเช่นนั้นจึงอยากเรียกร้องไปยังบริษัทที่ทำการตลาดเกี่ยวกับอาหารสำหรับเด็กดังนี้ 1.ห้ามโฆษณาอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ทางวิทยุโทรทัศน์ระหว่างเวลา 6 โมงเช้าถึง 3 ทุ่ม 2.ห้ามทำการตลาดผ่านสื่ออย่างเว็บไซต์ การสร้างเครือข่ายทางสังคม และการส่งข้อความทางโทรศัพท์ 3.ห้ามทำการตลาดในเขตโรงเรียน 4. ยกเลิกการสร้างสิ่งจูงใจในตัวสินค้าโดยการแจกของเล่น ของสะสม เพื่อดึงดูดความสนใจของเด็ก 5. ห้ามใช้บุคคลที่มีชื่อเสียง ตัวการ์ตูน หรือการจัดแข่งขัน ชิงโชคต่างๆ เพื่อการส่งเสริมการขาย
“สหภาพองค์กรเพื่อผู้บริโภคได้ออกแฉลงการณ์เรียกร้องดังกล่าว ซึ่งก็มีในหลายประเทศนำหลักเกณฑ์ที่เรียกร้องไปปฏิบัติแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการเน้นในเรื่องของการห้ามโฆษณา ส่วนในบ้านเรานั้นการออกประกาศเพื่อควบคุมก็ต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งได้เข้ายื่นหนังสือให้กับเลขาธิการ กทช. ในเรื่องข้อกำหนดเรื่องการโฆษณาแล้ว”
ด้าน รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การกินผลิตภัณฑ์ซีเรียล ต้องดูว่าเด็กมีพฤติกรรมกินอย่างไร หากกินแบบกินเล่นเป็นขนมกรุบกรอบ ก็จะได้ปริมาณเกลือ ไขมัน และน้ำตาลที่มากเกินไป ซึ่งปริมาณเกลือในแต่ละวันไม่ควรเกิน 2,400 มิลลิกรัม โดยในซีเรียลพบมีเพียงกว่า 60 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัมเท่านั้น แต่หากกินทั้งกล่องเป็นขนมขบเคี้ยว ก็ไม่มีใครรับประกันว่าเด็กจะได้โซเดียมมากแค่ไหน เพราะปกติในอาหารจืดเมื่อรวมปริมาณการกินตลอดทั้งวันก็เกินที่กำหนดแล้ว อย่างไรก็ตามเห็นว่า ในซีเรียล ปริมาณน้ำตาลเป็นปัญหามากที่สุด เนื่องจากน้ำตาลเป็นสารอาหารที่ควรบริโภคให้น้อยที่สุด แม้แต่ในนมเองก็ไม่อยากให้มีน้ำตาลผสม
“หากกินให้เหมาะ นอกจากกำหนดปริมาณการกินในแต่ละวันแล้ว ควรกินโดยผสมกับนม และผลไม้เพื่อให้ได้สารอาหารที่ครบถ้วน ไม่ควรกินเล่น เพราะจะไม่ต่างกับขนมกรุบกร๊อบที่เรากำลังรณรงค์ให้เด็กกินให้น้อยลงขณะนี้” รศ.ดร.วิสิฐกล่าว