xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเริ่มติดฉลากคาร์บอน ประเดิม "สตรอเบอรี่อบแห้งดอยคำ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้าย) ดร.รัตนวรรณ มั่งคั่ง, ดร.รุ้งนภา ทองพูล และ ดร.ปัญจพร เวชยันต์วิวัฒน์
"สินค้ามีฉลากคาร์บอน" หนึ่งในวิธีช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเริ่มแจ้งเกิดในไทย ประเดิมที่ "สตรอเบอรี่อบแห้งดอยคำ" เป็นชิ้นแรก แต่จะมีตามมาอีกมากน้อยแค่ไหน และจะช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนได้จริงหรือไม่ นักวิชาการต่างลงความเห็นว่า "วิสัยทัศน์" ผู้ประกอบการคือตัวแปรสำคัญ และผู้บริโภคต้องมีส่วนช่วยผลักดัน

ในการประชุมวิชาการประจำปี 2552 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อวันที่ 12 มี.ค.52 ได้จัดเวทีเสวนา เรื่อง “การจัดทำฉลาก การปล่อยคาร์บอนที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย” โดยมี รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ เจ้าภาพโปรแกรมเทคโนโลยีรักษ์สิ่งแวดล้อม สวทช. เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ได้เข้าร่วมฟังด้วย

ดร.รัตนวรรณ มั่งคั่ง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้ประสานงานโครงการนำร่องการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารไทย เกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์และฉลากคาร์บอน สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป (European Union) กล่าวถึงการจัดทำฉลากคาร์บอนในประเทศอังกฤษว่า มีการพัฒนาฉลากคาร์บอนควบคู่ไปกับการพัฒนาหน่วยงานรับรองฉลากคาร์บอน และมาตรฐานคาร์บอนฟุตพริ้นต์ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจ

ปัจจุบันนี้ ในอังกฤษมีสินค้าอุปโภคบริโภคหลากหลายชนิดที่ติดฉลากคาร์บอนแล้ว แต่ก็ยังมีการสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค เพื่อพัฒนาฉลากคาร์บอนที่เหมาะสมต่อไป โดยผู้บริโภคกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้มีการปรับเปลี่ยนฉลาคาร์บอนที่บ่งบอกในเชิงปริมาณหรือเป็นตัวเลขมากกว่าการบ่งบอกในเชิงคุณภาพ

ด้าน ดร.รุ้งนภา ทองพูล นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวว่า ในประเทศญี่ปุ่นมีการพัฒนาฉลากคาร์บอนโดยแสดงตัวเลขบ่งบอกปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นตลอดช่วงอายุ ซึ่งพิจารณาตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ กระบวนการผลิต การการหรือจัดวางในซูเปอร์มาร์เก็ต การใช้งานของผู้บริโภค และการกำจัดหรือนำมารีไซเคิล อีกทั้งยังมีแนวทางแนะนำสำหรับผู้บริโภคในการใช้ผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นเพื่อให้ให้สูญเสียพลังงานหรือปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุด

สำหรับการจัดทำฉลากคาร์บอนในประเทศไทยนั้น นักวิจัยเอ็มเทคบอกว่า ไทยต้องพิจารณาด้วยว่าจะจัดทำฉลากโดยคิดพิจารณาจากก๊าซเรือนกี่ชนิดจึงจะเหมาะสม จะคิดเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียงชนิดเดียว หรือจะรวมก๊าซชนิดอื่นด้วย ซึ่งที่ญี่ปุ่นคำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นต์โดยพิจารณาก๊าซเรือนกระจกรวม 6 ชนิด

ดร.ปัญจพร เวชยันต์วิวัฒน์ จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ผู้ดำเนินโครงการฉลากคาร์บอน ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กล่าวว่าฉลากคาร์บอนเป็นสื่อถึงผู้บริโภคว่าสินค้าชนิดนั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่าไหร่

ทั้งนี้ จุดประสงค์ของการทำฉลากคาร์บอน ก็เพื่อสร้างความตระหนักทางด้านกลไกการตลาด ให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงการมีส่วนร่วมกับประชาคมโลกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ขณะนี้มีสินค้าไทยหลายชนิดแล้วที่ได้รับการอนุมัติ ให้ติดฉลากคาร์บอน โดยชนิดแรกคือสตรอเบอรี่อบแห้ง ตราดอยคำ ของบริษัทดอยคำผลิตอาหาร ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.52

ส่วนสินค้าประเภทอื่นที่ได้รับอนุมัติฉลากคาร์บอนแล้ว มีทั้งผลิตภัณฑ์ซีเมนต์, ไม้เทียม, ข้าวสารบรรจุถุง และถุงยางอนามัย

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์หลักๆ ในการพิจารณาอนุมัติสินค้าให้ติดฉลากคาร์บอนได้คือ ต้องเป็นสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ร้อยละ 10 ขึ้นไป เมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีฐาน (ปี พ.ศ. 2545) และในกระบวนการผลิตจะต้องใช้ไฟฟ้าที่ได้จากชีวมวลหรือของเสียในโรงงานโดยอาจซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตภายนอกได้แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตสินค้า

ดร.ปัญจพร กล่าวต่อว่า สิ่งที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการจัดทำฉลากคาร์บอนคือ มีทางเลือกใหม่ในการซื้อสินค้าและมีส่วนร่วมในการช่วยลดการปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศได้ และเป็นการช่วยกระต้นให้ผู้ผลิตหันมาใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมโดยการปรับปรุงวัตถุดิบที่ใช้ กระบวนการผลิต การขนส่ง เพื่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ลดลงกว่าเดิม ส่วนผู้ผลิตจะได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัท หาวิธีปรับเปลี่ยนวัตถุดิบและกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานและช่วยลดต้นทุนได้ในที่สุด

อย่างไรก็ดี แม้ว่าวิทยากรแต่ละคนที่มานำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับฉลากคาร์บอนในต่างประเทศและของประเทศไทยเอง ต่างมีความเห็นพ้องต้องกันว่าประเทศไทยควรมีการพัฒนาแนวทางการติดฉลากคาร์บอน ที่สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกการมีส่วนร่วมของคนไทย ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพัฒนาศักยภาพของอุตสาหรรมไทยให้มีประสิทธิภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ทว่าปัญหาสำคัญของเรื่องนี้ ความเข้าใจในเรื่องรอยเท้าคาร์บอน หรือ คาร์บอนฟุตพรินต์ (carbon foot print) ของคนไทย และวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการ โดย ดร.อรรคเจตต์ อภิขจรศิลป์ รองเลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าผู้ประกอบการมักมองที่ความคุ้มค่าเป็นหลัก และจำนวนไม่น้อยยังขาดความเข้าใจในเรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์

"แม้จะมีการจัดสัมมนาเรื่องเกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพริ้นต์อยู่บ่อยครั้ง แต่ก็อาจไม่ช่วยอะไรได้ เนื่องจากผู้ที่มาเข้าร่วมสัมมนาส่วนใหญ่คือนักวิทยาศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อม ของบริษัทนั้นๆ ซึ่งไม่มีอำนาจตัดสินใจ แต่คนที่มีอำนาจตัดสินใจได้ก็มักไม่มาเข้าร่วมสัมมนาด้วยตัวเอง" ดร.อรรคเจตต์กล่าว

นอกจากนี้ เขายังบอกว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประชาคมโลก เพราะฉะนั้นต้องมีส่วนร่วมและผลักดันเรื่องนี้ให้เกิดผลกันต่อไป ซึ่งวิสัยทัศน์ของผู้บริหารนับว่าเป็นตัวแปรที่สำคัญมากในการติดฉลากคาร์บอน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกก็พัฒนาแนวทางการจัดทำฉลากคาร์บอนต่อไปให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น.
(จากซ้าย) ดร.อรรคเจตต์ อภิขจรศิลป์ และ รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ
ตัวอย่างฉลากคาร์บอนที่จะนำมาใช้ในประเทศไทย (ภาพจาก อบก.)
สตรอเบอรี่อบแห้ง ตราดอยคำ ที่ได้รับอนุมัติให้ติดฉลากคาร์บอนเป็นผลิตภัณฑ์แรกในประเทศไทย (ภาพจาก อบก.)
กำลังโหลดความคิดเห็น