xs
xsm
sm
md
lg

เห็นจุดแข็งท่องเที่ยว-การแพทย์ เล็งตั้งเครือข่าย "เมดิคัลทัวร์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ (ภาพประกอบทั้งหมดจาก สนช.)
เห็นจุดแข็งเมืองทั้งการท่องเที่ยวและการแพทย์ สนช.-ททท.ชวนแพทย์ระดมความคิด หาแนวทางสร้างเครือข่าย "เมดิคัลทัวร์" ดึงนักท่องเที่ยวมีตังค์ ไม่เดือดจากผลกระทบเศรษฐกิจ ขนเงินท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในไทย

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดการประชุมระดมความคิด "เครือข่ายธุรกิจนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการทองเที่ยวเชิงการแพทย์" (Medical Tourism) ณ อาคารโยธี (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 19 มี.ค.52 ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตรื ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้เข้าร่วม และมีบุคลากรทั้งการท่องเที่ยวและการแพทย์เข้าร่วมประชุมประมาณ 80 คน

ดร.ศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่าประเทศไทยนั้นนับว่ามีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์มาก จึงร่วมกับ ททท. ระดมผู้ทำธุรกิจด้านนี้ มาร่วมกันทำโครงการสร้างเครือข่ายธุรกิจนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว แต่ก็ให้ความเห็นระหว่างประชุมด้วยว่าอุปสรรคในการธุรกิจด้านนี้คือ การที่ไทยมีเรื่อง "ยาผีหลอก" ที่ทำลายภาพลักษณ์ของไทยอย่างมาก และที่น่าตกใจคือบางอย่างนำเสนอมาจากมหาวิทยาลัย เช่นเรื่อง "พลังปิรามิด" ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ และเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของไทยไปโดยปริยาย

ด้าน นายสุรพล เศวตเศรนี รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องสุขภาพถือเป็น 1 ใน 7 สิ่งน่าอัศจรรย์ของการท่องเที่ยวไทย และบอกว่ากลุ่มเป้าหมายของนักท่องเที่ยวด้านนี้คือกลุ่มนักท่องเที่ยวมีระดับที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ และการบริการด้านสุขภาพเป็นอีกจุดขายหนึ่งของการท่องเที่ยว แต่ต้องมีการประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญ เพราะ ททท.ไม่ใช่เจ้าของบริการและผลิตภัณฑ์ อีกทั้งไม่มีความรู้ทางด้านนี้

ทั้งนี้การท่องเที่ยวด้านสุขภาพนั้น ในส่วนที่ไม่ซับซ้อน อย่างการตรวจสุขภาพ การรักษาฟันหรือการทำเลสิคนั้น สามารถทำได้เลย แต่การรักษาที่มีความซับซ้อนนั้นการท่องเที่ยวอาจมีส่วนร่วมน้อย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการติดต่อระหว่างหน่วยงานการแพทย์มากกว่า แต่จุดแข็งสำหรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย คือ อย่างแรกไทยได้รับความนิยมที่นักท่องเที่ยว "อยากมา" อยู่แล้ว และอีกอย่างคือสัมผัสแบบไทยๆ (Thai Touch) ที่ดึงนักท่องเที่ยวได้ดี แต่สิ่งที่ไทยยังขาดคือนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่จะดึงนักท่องเที่ยวได้อีกมาก

"ที่ ททท.ทำไปแล้ว ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ คือ การทำประชาสัมพันธ์และการทำตลาด ซึ่งกลุ่มจากตะวันออกกลางมีความสนใจเข้ามารับการดูแลรักษาสุขภาพที่ไทยมาก แต่ในเอเชียไทยก็มีคู่แข่งสำคัญคืออินเดียและสิงคโปร์ ซึ่งยังนำเราอยู่ด้านทัวร์สุขภาพ แต่เราก้มีจุดแข็งด้านสปาและศาสตร์บำบัดด้านการพักผ่อน" นายสุรพลกล่าว

ด้าน ศ.รพ.ณรงค์ นิ่มสกุล ประธานชมรมมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นไปศึกษาต่อทางด้านการแพทย์และอาศัยที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 13 ปี กล่าวถึงการท่องเที่ยวของชาวญี่ปุ่นในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเลือกมาพักอยู่ที่เมืองเป็นเวลานานๆ หรือเรียกว่า "ลองสเตย์" (Long Stay) นั้น ความสะดวกสบายและความพร้อมทางด้านการแพทย์ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ให้นักท่องเที่ยวจากแดนอาทิตย์อุทัยเลือกมาพักที่เมืองไทย โดยเชียงใหม่เป็นอันดับต้นๆ ที่ได้รับเลือก เนื่องจากสภาพอากาศไม่ร้อนเกินไปหรือหนาวเกินไป

ในขณะที่ศักยภาพทางด้านการแพทย์ที่จะรองรับนักท่องเที่ยวจากประเทศญี่ปุ่นก็มีอยู่พอสมควร โดยมีแพทยืที่ได้รับทุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นทั้งหมด 58 คน และกลับมาที่เมืองไทยแล้ว 41 คน รวมทั้งมีทันตแพทย์และพยาบาลที่ไปศึกษาต่อที่ญี่ปุ่นรวม 100 กว่าคน ซึ่งบุคลากรเหล่านี้พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือทางด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้ตามต้องการ.
นายสุรพล เศวตเศรนี
ศ.รพ.ณรงค์ นิ่มสกุล
งานประชุมระดมควาสมคิดจัดตั้งเครือข่ายธุรกิจนวัตกรรมท่องเที่ยวเชิงการแพทย์
กำลังโหลดความคิดเห็น