“หลุมดำ" ที่น่าสะพึงกลัว มีอยู่ทั่วเอกภพ แม้แต่ในทางช้างเผือกของเรา ก็มีหลุมดำยักษ์ที่มวลมากกว่าดวงอาทิตย์ราวสี่ล้านเท่า หลบซ่อนอยู่ใจกลาง แต่ล่าสุดนักดาราศาสตร์เพิ่งพบ "หลุมดำคู่" ที่โคจรรอบกันและกันอยู่ภายในกาแลกซีเดียวกัน มีขนาดใหญ่กว่าในกาแลกซีของเรามากนัก อีกทั้งยังอยู่ใกล้กันชนิดที่ไม่เคยพบมาก่อน
ตามรายงานของไซแอนทิฟิกอเมริกันและบีบีซีนิวส์ ที่อ้างถึงทอดด์ บอรอสัน (Todd Boroson) และท็อด ลัวเออร์ (Tod Lauer) จากหอดูดาวดาราศาสตร์ทางแสงแห่งสหรัฐอเมริกา (National Optical Astronomy Observatory: NOAO) ในทูซอน รัฐแอริโซนา สหรัฐฯ พบว่า "ควอซาร์” (quasar) หรือวัตถุคล้ายดาว ที่ส่งคลื่นวิทยุหรือพลังงานรูปอื่นออกมา SDSS J153636.22+044127.0 ซึ่งเป็นควอซาร์บ้านใกล้เรือนเคียงกับเรานั้น มีคู่หลุมดำที่โคจรรอบกันและกัน และมีคาบสั้นกว่าระบบคู่อื่นๆ โดยมีคาบโคจรรอบกันราว 100 ปี
เมื่อเทียบกับหลุมดำทั้งสองนี้แล้ว หลุมดำในทางช้างเผือกของเราเรียกได้ว่าเป็นหลุมดำแคระเลยทีเดียว โดยหลุมดำที่เล็กกว่ามีมวลประมาณ 20 ล้านเท่าของดวงอาทิตย์ ขณะที่หลุมดำขนาดใหญ่ประมาณว่ามีมวลเกือบๆ 800 ล้านเท่าของดวงอาทิตย์เลยทีเดียว
อีกทั้ง ตามข้อมูลการวิเคราะห์ของทีมวิจัยซึ่งตีพิมพ์ผลงานลงวารสารเนเจอร์ (Nature) ประมาณว่าหลุมดำทั้งคู่อยู่ห่างกัน 1 ใน 3 ปีแสง ขณะที่ดาวข้างเคียง ซึ่งใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดนั้น ยังมีระยะทางมากว่าระยะดังกล่าวประมาณ 13 เท่า
ตามทฤษฎีการก่อตัวของกาแลกซีซึ่งมีหลุมดำอยู่ใจกลางนั้น ทฤษฎีชี้ว่า ตราบเท่าที่กาแลกซีอยู่ใกล้อีกกาแลกซีนั้น หลุมดำของกาแลกซีทั้งสองจะโคจรรอบกันจนกว่าจะรวมกันในที่สุด แต่ทฤษฎีเกี่ยวกับหลุมดำที่อยู่ใกล้กันมากและโคจรรอบกันนั้นไม่มีค่อยมีให้เห็น
์
ทางด้านจอน มิลเลอร์ (Jon Miller) จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนในแอนน์อาร์บอร์ (University of Michigan at Ann Arbor) เรียกการศึกษานี้ว่า "ตัวอย่างแรกที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ของระบบหลุมดำคู่ที่มีพันธะเหนี่ยวแน่น" โดยก่อนหน้านี้มีระบบคล้ายๆ กัน แต่หลุมดำอยู่แยกกันไกลกว่านี้มาก หรือในกรณีของควอซาร์ที่ชื่อ OJ 287 ก็ยังไม่มีหลักฐานสรุปว่ามีหลุมดำคู่.