xs
xsm
sm
md
lg

ยันมี "หลุมดำยักษ์" ใจกลางทางช้างเผือกหลังศึกษานาน 16 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายใจกลางกาแลกซี ซึ่งได้รับการปรับแต่งสีแล้ว โดยสีน้ำเงินคือเมฆหมอกของฝุ่นและก๊าซ และบันทึกในย่านรังสีอินฟราเรด  (ภาพจาก ESO)
นักดาราศาสตร์เยอรมัน ยืนยันมีหลุมดำใจกลางกาแลกซีทางช้างเผือกจริง หลังศึกษายาวนานร่วม 16 ปี โดยทีมวิจัยได้ติดตามการเคลื่อนที่ของดวงดาว 28 ดวง ที่โคจรรอบใจกลางกาแลกซีของเรา ด้วยกล้องโทรทรรศน์ในชิลี
สำนักข่าวบีบีซีนิวส์รายงานข้อมูลการวิจัย ซึ่งตีพิมพ์ลงวารสารแอสโทรฟิสิคัลเจอร์นัล (Astrophysical Journal) ว่าหลุมดำดังกล่าวอยู่ไกลจากโลก 27,000 ปีแสง และมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ 4 เท่า ทั้งนี้หลุมดำเป็นวัตถุที่มีแรงโน้มถ่วงสูง จนไม่มีอะไรหนีแรงดึงดูดของหลุมดำออกมาได้ แม้กระทั่งแสง

ตามข้อมูลของ ดร.โรเบิร์ต แมสซีย์ (Dr.Robert Massey) จากสมาคมราชบัณฑิตดาราศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักร (Royal Astronomical Society: RAS) ชี้ว่า กาแลกซีหรือดาราจักรนั้นก่อตัวขึ้นรอบๆ หลุมดำขนาดใหญ่ ในลักษณะเดียวกับที่ไข่มุกเติบโตรอบๆ ก้อนกรวด

"แม้เราคิดว่า หลุมดำเป็นภัยคุกคามในทางใดทางหนึ่ง ว่ายิ่งเราเข้าใกล้หลุมดำ เท่ากับเรายิ่งเข้าใกล้ภาวะยากลำบาก แต่หลุมดำเหล่านั้นก็อาจมีบทบาทช่วยกาแลกซีทั้งหลายก่อตัวขึ้น ไม่เพียงแค่กาแลกซีของเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกาแลกซีทั้งหมดด้วย หลุมดำมีบทบาทในการรวมสสารต่างๆ เข้าด้วยกัน และถ้าคุณมีสสารที่หนาแน่นสูงพอ คุณก็มีปัจจัยในการก่อตัวของดวงดาว ดังนั้นดาวและกาแลกซีกลุ่มแรกจึงได้ก่อตัวขึ้น" ดร.แมสซีย์กล่าว

ทางด้านนักวิจัยจากสถาบันมักซ์พลังก์ด้านฟิสิกส์อวกาศ (Max Planck Institute for Extraterrestrial Physics) ในเยอรมนี กล่าวว่า หลุมดำดังกล่าวอยู่ไกลจากโลก 27,000 ปีแสงหรือประมาณ 250 พันล้านล้านกิโลเมตร

"สิ่งน่าตื่นเต้นที่สุดในการศึกษยาวนาน 16 ปีนี้ คือการพบหลักฐานว่า มีหลุมดำขนาดใหญ่อยู่จริง โดยวงโคจรของดวงดาวในใจกลางกาแลกซีแสดงให้เห็นว่า มวลที่มีความเข้มสูงกว่ามวลดวงอาทิตย์ถึง 4 เท่า ต้องเป็นหลุมดำอย่างแน่นอน" ศ.ไรน์ฮาร์ด เจนเซิล (Prof.Reinhard Genzel) หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันมักซ์พลังก์กล่าว

การศึกษาครั้งนี้ อาศัยกล้องโทรทรรศน์นิวเทคโนโลยี (New Technology Telescope) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5 เมตร และกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่วีแอลที (Very Large Telescope: VLT) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8.2 เมตร ที่ตั้งอยู่ในประเทศชิลี ซึ่งอยู่ในการดูแลของหอดูดาวซีกฟ้าใต้แห่งยุโรปหรืออีโซ (European Southern Observatory: Eso).
กำลังโหลดความคิดเห็น