xs
xsm
sm
md
lg

"โอบามา" เซ็นต์หนุนวิจัยสเต็มเซลล์ตัวอ่อน หลัง "บุช" แบน 8 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน เตรียมจะยกเลิกนโยบายของประธานาธิบดีคนก่อนที่ไม่ให้การสนับสนุนงานวิจัยสเต็มเซลล์ตัวอ่อน ในวันที่ 9 มี.ค. 52 (เอเอฟพี)
มะกันเปิดศักราชงานวิจัยสเต็มเซลล์อีกครั้ง หลังโอบามาเซ็นต์ชื่ออนุมัตินโยบายสนับสนุนงานวิจัยสเต็มเซลล์จากตัวอ่อน หวังกู้เอกภาพทางวิทยาศาสตร์ และพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์และสเต็มเซลล์ของสหรัฐฯ ให้ทัดเทียมนานาชาติ หลังจากถูกปิดกั้นจากรัฐบาลที่แล้วมานานถึง 8 ปี

บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกกฎหมายการห้ามทำวิจัยสเต็มเซลล์ตัวอ่อนมนุษย์และการห้ามให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยเรื่องดังกล่าวจากรัฐบาล โดยลงนามอนุมัติเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 52 เวลาประมาณ 12.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับเที่ยงคืนของวันที่ 9 มี.ค. 52 ตามเวลาในประเทศไทย)

ตามรายงานในเอพีระบุว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ห้ามมิให้มีการทำวิจัยสเต็มเซลล์ตัวอ่อน และไม่ให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยเรื่องดังกล่าวมานานถึง 8 ปี ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดขึ้นในสมัยที่จอร์จ ดับเบิลยู บุช ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เว้นแต่ว่าเป็นเซลล์ไลน์ของสเต็มเซลล์ตัวอ่อนที่ได้มาก่อนวันที่ 9 ส.ค. 2544

ทั้งนี้ เพราะบุชและผู้สนับสนุนเห็นว่า การนำสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมาศึกษาวิจัย เท่ากับเป็นการทำลายชีวิตตัวอ่อน จึงส่งผลให้งานวิจัยด้านนี้ในสหรัฐฯ ต้องหยุดชะงักลงเพราะอุปสรรคด้านการเงิน ที่ทำให้บางเซลล์ไลน์ที่มีศักยภาพในการรักษาโรคอยู่ได้แค่ในจานเพาะเลี้ยงภายในห้องแล็บ

ทว่าโอบามาได้ให้สัญญาไว้ตั้งแต่ตอนหาเสียงแล้วว่า จะเพิ่มการสนับสนุนงานวิจัยด้านสเต็มเซลล์ เพราะเขาเชื่อว่าการจำกัดการให้ทุนต่องานวิจัยเรื่องดังกล่าวในสมัยบุช เสมือนเป็นการใส่กุญแจมือให้นักวิทยาศาสตร์ และเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขันกับนานาชาติ

การลงนามยกเลิกกฎหมายห้ามวิจัยสเต็มเซลล์ตัวอ่อนในครั้งนี้ของโอบามา ไม่ใช่เพื่อสนับสนุนให้มีการนำเอาตัวอ่อนมาสร้างเซลลไลน์ใหม่ หรือระบุว่าเซลล์ไลน์ไหนที่มีอยู่แล้วสามารถนำมาใช้ได้บ้าง แต่เป็นการเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ที่มีตัวอ่อนที่ได้รับบริจาคสำหรับทำงานวิจัยอยู่ก่อนแล้ว สามารถสมัครขอรับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลได้สำหรับศึกษาวิจัยเพื่อการรักษา และต้องเป็นไปอย่างมีจริยธรรม ซึ่งสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (National Institutes of Health) เป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้

"เราเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับการวิจัยด้านสเต็มเซลล์ในรัฐบาลชุดที่แล้ว เป็นการแสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างเด่นชัดเรื่องหนึ่ง เพื่อไตร่ตรองอย่างรอบคอบว่ารัฐบาลจะสนับสนุนวิทยาศาสตร์ และการใช้ประโยชน์จากรายงานทางวิทยาศาสตร์ให้บังเกิดขึ้นได้อย่างไร" คำกล่าวของฮาโรลด์ วาร์มัส (Harold Varmus) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโอบามา

นอกจากนี้เอพียังระบุด้วยว่า นโยบายของโอบามานั้นยังเป็นการกู้ "เอกภาพทางวิทยาศาสตร์" ให้กลับคืนมาด้วย ซึ่งฌอน เมอร์ริสัน (Sean Morrison) ผู้อำนวยการศูนย์ชีววิทยาสเต็มเซลล์ มหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan's Center for Stem Cell Biology) แสดงความเห็นว่า ความมั่นคงทางด้านงานวิจัยด้านการแพทย์ของสหรัฐฯ ถดถอยลงในช่วงตลอด 8 ปีที่ผ่านมา เนื่องด้วยเงินทุนสนับสนุนจากภาครัฐหดตัวลง และนโยบายที่ยกย่องคตินิยม (ideology) ให้อยู่เหนือวิทยาศาสตร์ ซึ่งไปชะลอการค้นหาและการค้นพบวิธีการรักษาใหม่ๆ

ทางด้าน ดร.จอร์จ ดาเลย์ (Dr.George Daley) นักวิจัยด้านสเต็มเซลล์ระดับแถวหน้า จากสถาบันสเต็มเซลล์ฮาร์วาร์ด (Harvard Stem Cell Institute) และโรงพยาบาลเด็กบอสตัน (Children's Hospital of Boston) กล่าวว่า เขารู้สึกเหมือนได้สิทธินั้นเดี๋ยวนี้ หลังจากที่ต่อสู้เรียกร้องมานานถึง 8 ปี และมันจะช่วยเพิ่มพลังให้ทีมงานของเขาเร่งเดินหน้าวิจัยต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการวิจัยสเต็มเซลล์ตัวอ่อนอย่างโทนี เพอร์กินส์ (Tony Perkins) จากสภาวิจัยครอบครัว (Family Research Council) แสดงความเห็นว่า บุคคลที่เสียภาษีไม่ควรที่จะต้องการจ่ายเงินเพื่อไปสนับสนุนการทดลองที่ต้องทำลายชีวิตมนุษย์ และเขาก็เชื่อว่าการใช้ชีวิตมนุษย์แม้เป็นเพียงแค่ตัวอ่อนก็ตาม เป็นเครื่องมือไปสู่ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ คือเรื่องที่ผิดจริยธรรม

"การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนของประธานาธิบดีโอบามาในครั้งนี้ ได้รับผลกระทบมาจากความก้าวหน้าของสเต็มเซลล์จากผู้ใหญ่โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องทำลายตัวอ่อน" เพอร์กินส์ กล่าว

ทว่านักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาสเต็มเซลล์ต่างลงความเห็นว่าสเต็มเซลล์ที่ได้จากตัวอ่อนเป็นรูปแบบที่มีศักยภาพมากที่สุดแล้ว ซึ่งตัดสินโดยวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การเมือง และถึงอย่างไรตัวอ่อนที่เหลือจากการรักษาผู้มีบุตรยากก็ต้องถูกทำลายอยู่ดี ก็คือถ้าไม่นำมาศึกษาวิจัยก็ต้องโยนทิ้งไปเฉยๆโดยไม่เกิดประโยชน์ใดๆ
ในภาพ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกนกำลังศึกษาเซลล์ประสาทที่พัฒนามาจากสเต็มเซลล์ตัวอ่อน เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 51 ซึ่งในสมัยที่จอร์จ ดับเบิลยู บุช เป็นประธานาธิบดี รัฐบาลไม่ให้ทุนสนับสนุนแก่งานวิจัยที่เกี่ยวกับสเต็มเซลล์ตัวอ่อน  (เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น