แคสซินีพบดวงจันทร์บริวารน้องใหม่ของดาวเสาร์ เป็นจันทร์ดวงเล็กที่แอบซ่อนอยู่ในชั้นวงแหวนสลัวที่ไม่เต็มวง นักวิทยาศาสตร์คาดดวงจันทร์อาจเคยถูกอุกกาบาตชน ทำให้เศษน้ำแข็งกระจัดกระจายกลายเป็นชั้นวงแหวนทีมีเพียงบางส่วน
นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการสำรวจดาวเสาร์โดยยานแคสซินี (Cassini) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ หรือนาซา (NASA) เปิดเผยในเอกสารของสมาพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union) ถึงการค้นพบดวงจันทร์บริวารดวงใหม่ของดาวเสาร์ โดยระบุว่ามีขนาดประมาณครึ่งกิโลเมตร พบอยู่ในวงแหวนของดาวเสาร์ชั้นจี (G ring) ซึ่งนาซารายงานว่าดวงจันทร์ดังกล่าวอาจเป็นต้นกำเนิดของวงแหวนชั้นนี้
"ก่อนหน้านี้เราเข้าใจกันว่าในวงแหวนชั้นจีมีแต่เพียงฝุ่นเท่านั้น และไม่มีจันทร์ดวงไหนที่โคจรอยู่ในวงแหวนดังกล่าว แต่แคสซินีก็พบ และการค้นพบดวงจันทร์ในชั้นวงแหวนจีนี้ก็จะทำให้เราเข้าใจปริศนาคาใจก่อนหน้านี้ได้ดียิ่งขึ้น" แมทธิว เฮดแมน (Matthew Hedman) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) เมืองอิทาคา มลรัฐนิวยอร์ก กล่าว ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในทีมวิจัยภาพถ่ายจากยานแคสซินี
วงแหวนชั้นจีของดาวเสาร์เป็นชั้นที่อยู่ค่อนออกมาทางด้านนอก และเป็นชั้นที่ค่อนข้างบางเบา โดยจัดว่าเป็นวงแหวนบางส่วน มีความกว้างประมาณ 250 กิโลเมตร และแผ่ขยายออกไปเป็นส่วนโค้งด้วยระยะทางประมาณ 150,000 กิโลเมตร หรือ 1 ใน 6 ของระยะทางรอบดาวเสาร์ในตำแหน่งของวงแหวนจี ซึ่งจากการวิเคราะห์ฝุ่นในบริเวณดังกล่าวก่อนหน้านี้คาดว่าวงแหวนจีนี้เกิดขึ้นจากเศษน้ำแข็งที่เคยเป็นส่วนเดียวกันมาก่อน และเป็นได้ว่าอาจกระจัดกระจายออกมาจากดวงจันทร์ดังกล่าวเมื่อครั้งถูกอุกกาบาตพุ่งชนนานมาแล้ว
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์พบดวงจันทร์ดังกล่าวในภาพของเมื่อวันที่ 15 ส.ค.51 และมั่นใจได้ว่าวัตถุดังกล่าวเป็นดวงจันทร์อีกดวงหนึ่งของดาวเสาร์จริงๆ เมื่อพบวัตถุเดียวกันอยู่ในอีก 2 ภาพก่อนหน้านั้น ซึ่งพวกเขาพบเห็นดวงจันทร์ดวงนี้เป็นครั้งคราว ล่าสุดที่พบคือเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา
ดวงจันทร์ที่พบใหม่นี้มีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะวิเคราะห์ขนาดได้โดยตรงด้วยกล้องของยานแคสซินี แต่นักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่าน่าจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราวครึ่งกิโลเมตร โดยการเทียบความสว่างกับจันทร์ดวงเล็กของดาวเสาร์อีกดวงหนึ่งที่ชื่อว่า พาลลินี (Pallene) และยังพบอีกด้วยว่าวงโคจรของจันทร์ดวงเล็กที่เพิ่งพบนี้ถูกรบกวนจากดวงจันทร์ไมมาส (Mimas) ที่อยู่ใกล้เคียงกันและมีขนาดใหญ่กว่า โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 390 กิโลเมตร
ด้านคาร์ล เมอร์เรย์ (Carl Murray) นักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งในทีม จากควีนแมรี ยูนิเวอร์ซิตี ออฟ ลอนดอน (Queen Mary, University of London) สหราชอาณาจักร กล่าวว่าการค้นพบจันทร์ดวงนี้และวิถีโคจรที่ถูกรบกวนจากจันทร์ดวงใกล้เคียงแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันระหว่างดวงจันทร์ทั้งสองและวงแหวนของดาวเสาร์ ซึ่งเรายังต้องศึกษาเพิ่มเติมอีกเกี่ยวกับการเกิดส่วนโค้งของวงแหวนและปฏิสัมพันธ์กับโครงสร้างหลักของมัน