xs
xsm
sm
md
lg

อุกกาบาตขนาดเท่าที่เคยถล่มทังกัสกา ผ่านโลกเฉียดฉิว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อุกกาบาต 2005 ดีดี45 กำลังเคลื่อนที่อยู่กลางภาพ (ภาพจากยูนิเวอร์สทูเดย์/ Robert McNaught / ANU / UA)
เหตุการณ์น่าหวาดเสียวผ่านโลกไปเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา เมื่ออุกกาบาตขนาดเท่าตึก 10 ชั้น เข้าใกล้โลกในระยะห่างจากวงโคจรดาวเทียมแค่เท่าตัว และยังมีขนาดพอๆ กับอุกกาบาตที่ถล่มทังกัสกาเมื่อ 100 ปีก่อน แต่นักดาราศาสตร์บอกว่า ไม่มีความเสี่ยงที่จะชนโลก หรืออุกกาบาตที่พุ่งสู่โลกก็จะถูกเผาไหม้หรือระเบิดกลางอากาศเสียก่อน

ตามรายงานของสเปซด็อทคอมระบุว่า อุกกาบาต 2009 ดีดี45 (2009 DD45) ได้เข้าใกล้โลกมากที่สุดเมื่อค่ำวันที่ 2 มี.ค.52 เวลาประมาณ 20.40 น.ตามเวลาประเทศไทย โดยเข้าใกล้โลกที่สุดในระยะ 72,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะประมาณ 2 เท่าของระยะวงโคจรดาวเทียมสื่อสารจากพื้นโลก

วัตถุนอกโลกดังกล่าวมีความกว้างประมาณ 35 เมตรหรือประมาณตึก 10 ชั้น ซึ่งใหญ่กว่าอุกกาบาตที่ถล่มป่าทังกัสกาในไซบีเรียเล็กน้อย โดยเหตุการณ์ในอดีตเกิดขึ้นเมื่อปี 2451 ทำให้พื้นที่ป่ากว่า 2,000 ตารางกิโลเมตรถูกเผาเรียบ

อย่างไรก็ดี นักดาราศาสตร์ทราบแล้วว่า อุกกาบาตจะเข้ามาใกล้โลก และเผยว่าไม่มีความเสี่ยงที่จะพุ่งชนโลก ขณะเดียวกันก็มีอุกกาบาตอื่นๆ อีกที่เข้าใกล้โลกมากกว่านี้ และแน่นอนบ้างครั้งก็เข้าโหม่งโลก แม้แต่อุกกาบาตขนาดเท่าๆ กับรถยนต์ก็พุ่งชนโลกปีละหลายๆ ลูก แต่ส่วนมากจะถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศและตกลงสู่มหาสมุทร ซึ่งกินพื้นที่ 2 ใน 3 ของโลก

นักวิทยาศาสตร์คาดว่า อุกกาบาตที่มีขนาดพอๆ กับอุกกาบาตที่ถล่มป่าทังกัสกานั้น อาจพุ่งสู่โลกในทุกๆ 2 ศตวรรษ และเมื่อหินจากอวกาศนี้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก อุกกาบาตลูกเล็กจะแตกสลายและระเบิดก่อนที่จะได้ตกกระทบโลก แต่หากมีสักลูกหลุดรอดมาตกกระทบหรือระเบิดเหนือเมืองใดเมืองหนึ่ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็เป็นความเสียหายเฉพาะเมืองนั้นๆ
ภาพประกอบข่าวจาก asteroiddefensesystem.com



ชมภาพอุกกาบาตที่กำลังโคจรผ่านโลก จุดสีขาวเทาเล็กๆ บริเวณกลางภาพ วิ่งจากขวาไปซ้าย ที่บันทึกโดยนักดูดาวมือสมัครเล่น จากกรุงแคนเบอร์รา ออสเตรเลีย


กำลังโหลดความคิดเห็น