xs
xsm
sm
md
lg

เยอรมนีทุ่ม 400 ล้านบาท ร่วมมือไทยปกป้องภูมิอากาศโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้าย) ฯพณฯ ดร.ฮันส์ ไฮน์ริช ชูมัคเคอร์, นายไมเคิล มึลเลอร์ และนายจริย์วัฒน์ สันตะบุตร ร่วมแถลงข่าว กรอบความร่วมมือไทย-เยอรมัน เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 52 ที่โรงแรมแลนด์มาร์ค
เยอรมันเล็งเห็นศักยภาพไทย จับมือกันผุด 6 โครงการ เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในประเทศ ทั้งด้านพลังงาน อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว หวังเพิ่มศักยภาพ ให้ไทยช่วยโลกแก้วิกฤติโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมก้าวเป็นผู้นำภูมิภาคต่อสู้โลกร้อน มุ่งพัฒนาทั้งความรู้ เทคโนโลยี และบุคลากร

ฯพณฯ ดร.ฮันส์ ไฮน์ริช ชูมัคเคอร์ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย พร้อมด้วยนายไมเคิล มึลเลอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติ และความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และ นายจริย์วัฒน์ สันตะบุตร รองปลัดกระทรางการต่างประเทศ ร่วมกันแถลงข่าว กรอบความร่วมมือไทย-เยอรมัน เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันพุธที่ 25 ก.พ.52 ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลของสองประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยมีเยอรมนีเป็นต้นแบบ โดยมีสื่อมวลชนทั้งของไทยและต่างชาติร่วมงานมากมายรวมทั้งทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์"

ดร.ชูมัคเคอร์ กล่าวว่าการปกป้องสภาพอากาศ เป็นประเด็นท้าทายระดับนานาชาติที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ และจากประชาสังคมในการทำให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งเยอรมนีได้ริเริ่มโครงการด้านพลังงานทดแทน และแผนงานการป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาแล้วหลายปี

อีกทั้งจากการขายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้เยอรมนีมีรายได้เพิ่มขึ้นสำหรับนำมาสนับสนุนโครงการ เพื่อการปกป้องสภาพภูมิอากาศของโลก ซึ่งเยอรมนีมีความร่วมมือกับไทยมายาวนาน และในส่วนความร่วมมือกับครั้งนี้ เยอรมนีจะให้การสนับสนุนไทยในการปกป้องสภาพภูมิกาศ เช่น การใช้พลังงานทดแทน การปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก เป็นต้น

ด้านนายมึลเลอร์ กล่าวว่า รายงานการประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับที่ 4 ของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ไอพีซีซี) ที่เผยแพร่เมื่อปี 2550 ได้จุดประกายให้นานาประเทศเห็นความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

ทั้งนี้ จากที่คาดการณ์ไว้ว่าก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศทั่วโลกเพิ่มขึ้นราว 2% แต่ในความเป็นจริงเพิ่มขึ้นถึง 4% และระดับน้ำทะเลเฉลี่ยสูงขึ้น 90 เซนติเมตร จากที่คาดไว้ว่าน่าจะสูงขึ้นเพียง 58 เซนติเมตร แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ของสภาพภูมิอากาศกำลังเข้าขั้นวิกฤติ และต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน

"การหาวิธีปกป้องสภาพแวดล้อม จะต้องมีการปฏิรูปเทคโนโลยี ซึ่งต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดความเสียหายมากยิ่งกว่าที่ผ่านมา และหากประเทศใดริเริ่มขึ้นก่อน ก็จะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจตามมาด้วย" นายมึลเลอร์กล่าว

ส่วนของเยอรมนีนั้นได้ลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมหลายโครงการทั่วโลกไปด้วยงบประมาณหลายล้านยูโร เพื่อสร้างความร่วมมือให้สามารถรักษาระบบของสภาพภูมิอากาศไว้ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งทำให้ปัจจุบันเยอรมนีมีส่วนแบ่งในอุตสาหกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของตลาดโลกอยู่ราว 17%

การร่วมมือกับประเทศไทย เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้ เยอรมนีจะช่วยเหลือประเทศไทยโดยการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี เช่น พลังงานทดแทน การจัดการของเสีย การจัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพัฒนาโครงสร้างและบุคลากร โดยเล็งเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพและสามารถเป็นผู้นำการปกป้องสภาพภูมิอากาศในระดับภูมิภาคนี้ได้ โดยกรอบความร่วมมือนี้ครอบคลุม 6 โครงการ ได้แก่

1. โครงการนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศระดับสากล
2. โครงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
3. โครงการปกป้องสภาพภูมิอากาศในภาคการท่องเที่ยว
4. โครงการการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนเพื่อใช้เป็นพลังงานชีวภาพ
5. โครงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่เกาะคอเขา จ.พังงา
6. โครงการผลิตไฟฟ้าความร้อนร่วมจากพลังงานแสงอาทิตย์และเชื้อเพลิงชีวมวล

ทั้งนี้ 4 โครงการแรกรัฐบาลเยอรมนี มอบหมายให้สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน หรือ จีทีแซด (GTZ) เป็นผู้ดำเนินงาน ส่วนโครงการที่ 5 และ 6 มอบหมายให้องค์การการท่องเที่ยวแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) และ บริษัท โซลาร์ไลท์ จำกัด ประเทศเยอรมนี ตามลำดับ โดยมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และอีกหลายหน่วยงานของไทย ร่วมดำเนินการในโครงการต่างๆ และมีระยะเวลาของความร่วมมือระหว่างปี 2552-2554 ด้วยงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งเงินทุนสนับสนุนหลักมาจากเงินรายได้จากการขายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเยอรมนี

นายจริย์วัฒน์ กล่าวว่า สภาพสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย กำลังได้รับความเสียหายเช่นเดียวกับที่อื่น ซึ่งความเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเมื่อเกิดขึ้นในที่ใดที่หนึ่ง ก็จะเชื่อมโยงไปถึงที่อื่นด้วย ฉะนั้นเราจึงต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

สำหรับประเทศไทยก็มีแผนนโยบายและยุทธศาสตร์ทางด้านสิ่งแวดล้อมเช่นกัน และเล็งเห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไข ประกอบกับที่เราเป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ และการร่วมมือกับเยอรมนีในครั้งนี้ จะทำให้ไทยได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ พัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งพัฒนาบุคลากร ซึ่งจะช่วยให้เรามีสมรรถภาพในการช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกได้
กำลังโหลดความคิดเห็น