xs
xsm
sm
md
lg

คาดอีก 6 ปีพืชจีเอ็มผงาด มะละกอไทยใกล้ได้ลงสนาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.แรนดี้ เอ โฮเทีย
ไอซ่าเผยข้อมูลพืชจีเอ็ม ย่างเข้าทศวรรษที่ 2 ไม่กี่ปี มีพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นจากทศวรรษแรกเป็นเท่าตัว ด้านอียู และ จี8 เริ่มมองพืชจีเอ็มเป็นพระเอกมากขึ้น หลังเจอวิกฤติอาหารและน้ำมันแพง ส่วนไทยก็ยังไม่ถอย ไบโอเทค-กระทรวงเกษตรฯ เล็งขออนุมัติทดสอบภาคสนามมะละกอจีเอ็มโอเป็นชนิดแรก

สมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ (สทส.) จัดสัมมนาเรื่อง "ความก้าวหน้าและสถานภาพการผลิตพืชเทคโนโลยีชีวภาพ/พืชจีเอ็มในเชิงการค้าทั่วโลก : พ.ศ. 2551" ที่โรงแรมมารวยการ์เด้น เมื่อวันที่ 16 ก.พ.52 ที่ผ่านมา โดยมี ดร.แรนดี้ เอ โฮเทีย (Dr.Randy A. Hautea) ผู้ประสานงานระดับโลกของไอซ่า (International Service for the Acquisition of Agri-Biotech Applications: ISAAA) และผู้อำนวยการไอซ่า ประจำศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับความก้าวหน้าของพืชเทคโนโลยีชีวภาพหรือพืชจีเอ็มในปีที่ผ่านมา ซึ่ง ดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ นักวิจัยศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เป็นผู้ดำเนินรายการ และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ร่วมฟังสัมมนา

ดร.โฮเทีย กล่าวว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดภาวะขาดแคลนอาหารและพลังงาน ส่งผลให้มีราคาสูงขึ้น และเป็นที่จับตามองว่าจะใช้พืชเทคโนโลยีชีวภาพบรรเทาความอดอยาก ทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานได้หรือไม่

ทั้งนี้ เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืชวิธีเดิมอาจไม่เพียงพอ และการทำจีเอ็มโอก็อาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด ดังนั้นจึงต้องนำเทคโนโลยีทั้งสองรูปแบบมาใช้ร่วมกันเพื่อให้เกิดเสถียรภาพของประชากร เกิดการกระจายผลผลิตอย่างทั่วถึง เกิดความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน รวมทั้งช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

นับตั้งแต่มีการปลูกพืชเทคโนโลยีชีวภาพเชิงการค้าเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2539 จนถึงปี 2551 พบว่า มีการยอมรับพืชเทคโนโลยีชีวภาพกันมากขึ้น จากการที่มีพื้นที่เพาะปลูกพืชจีเอ็มเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านเอเคอร์ โดยเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากปี 2548 และมีประเทศที่ปลูกพืชจีเอ็มเชิงการค้ารวมทั้งสิ้น 25 ประเทศ ในจำนวนนี้ มี 3 ประเทศที่เพิ่งเริ่มปลูก ได้แก่ อียิปต์, เบอร์คินา-ฟาโซ และโบลิเวีย และยังมีพืชจีเอ็มชนิดใหม่ๆ ที่ถูกนำไปปลูกเพิ่มในอีก 5 ประเทศ

ส่วนเกษตรกรที่ปลูกพืชจีเอ็มมีถึง 13 ล้านคน เพิ่มขึ้น จากปีก่อนกว่า 1 ล้านคน และในจำนวนนี้ 90% เป็นเกษตรกรรายย่อยในประเทศกำลังพัฒนา

ที่ผ่านมา พืชเทคโนโลยีชีวภาพสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นจำนวนมาก โดย 50% ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากต้นทุนที่ลดลง ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพจากการที่ช่วยลดการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก เพราะพืชจีเอ็มให้ผลผลิตสูงขึ้นเป็นเท่าตัวในพื้นที่เท่าเดิม และยังช่วยลดการใช้สารเคมี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และอนุรักษ์ดินและน้ำ เนื่องจากไถพรวนดินน้อยครั้ง

ดร.โฮเทีย กล่าวอีกว่า ช่วงทศวรรษที่ 2 ของการปลูกพืชจีเอ็มเชิงการค้า จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีการปลูกพืชจีเอ็มชนิดใหม่เพิ่มมากขึ้น เช่น ข้าวโพดทนแล้ง จะเริ่มปลูกในปี 2554 และจะเริ่มมีพืชชนิดใหม่ที่มีหลายลักษณะออกมาในเชิงการค้าในไม่ช้านี้

รวมทั้งยังมีการใช้เทคโนโลยีจีเอ็มโอในการเพิ่มมูลค่าหรือคุณค่าทางอาหาร เช่น ข้าวสีทองที่มีวิตามินเอสูง
ซึ่งฟิลิปปินส์อาจเริ่มนำมาปลูกเชิงการค้าเป็นชาติแรกในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และยังก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาพืชจีเอ็ม รวมถึงพัฒนาข้าวสีทองให้แพร่หลายในประเทศต่างๆ

นอกจากนั้น ผู้อำนวยการไอซ่าประจำศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้บอกอีกว่า วิกฤติอาหารในปีที่ผ่านมา ทำให้หลายประเทศเริ่มสนใจพืชจีเอ็มมากขึ้น โดยเห็นได้จากการที่สหภาพยุโรป เริ่มแสดงท่าทีตระหนักถึงความสำคัญของพืชจีเอ็ม

ส่วนประเทศในกลุ่มจี8 ก็เริ่มให้การสนับสนุนจีเอ็ม โดยไอซ่าคาดการณ์ว่าปี 2558 จะเป็นปีทองของพืชจีเอ็ม เพราะจะมีพื้นที่ปลูกและประเทศผู้ปลูกพืชจีเอ็มเชิงการค้าเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว

อย่างไรก็ดี ดร.บรรพต ณ ป้อมเพชร อดีตประธานกรรมการกลางแห่งชาติว่าด้วยเรื่องความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งร่วมในการสัมมนาได้เสนอแนะว่า ไอซ่าน่าจะจัดทำข้อมูลประเทศที่มีการปลูกพืชจีเอ็มอย่างไม่เป็นทางการด้วย เช่น ประเทศไทย ที่มีการปลูกฝ้ายบีทีอย่างไม่เป็นทางการ และไม่ถูกต้องตามกฎหมายมานานแล้ว และยังมีอีกหลายประเทศ

ในกรณีเดียวกันนี้ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในบางประเทศก่อนที่จะมีการอนุญาตให้ปลูกได้จริง รวมถึงอยากให้มีข้อมูลประเทศที่มีการนำเข้าพืชจีเอ็มโอ และประเทศไหนมีมาตรการกันอย่างไรบ้าง ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงโดยละเอียดมากขึ้น

จากนั้น ทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์" ได้สอบถามเพิ่มเติมว่า เมื่อมีการปลูกฝ้ายบีทีในประเทศไทยอย่างไม่ถูกกฎหมาย เหตุใดจึงยังไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปจัดการ ดร.บรรพต ชี้แจงเรื่องนี้ว่า เนื่องจากไม่รู้ที่มาว่าฝ้ายบีทีที่ปลูกอยู่นั้นเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร

ทั้งนี้ ตามกฎหมายประเทศไทย อนุญาตให้นำเข้ามาเพื่อการวิจัยเท่านั้น และเมื่อมีการตรวจสอบพบว่า มีฝ้ายบีทีจากแปลงทดลองของเอกชนเล็ดลอดไปยังแปลงของเกษตรกรจริง จนกฎหมายห้ามไม่ให้มีการทดลองภาคสนามอีก ซึ่งหากตรวจพบพืชจีเอ็มในแปลงของเกษตรกร จะต้องเผาทำลายทั้งหมด ตาม พ.ร.บ.กักพืช ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2542

แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เห็นว่า กรมวิชาการเกษตรจะดำเนินการใดๆ ที่ชัดเจนว่าจะอย่างไรกันแน่ ซึ่งไม่ควรนิ่งเฉย แต่อย่างน้อยต้องวิเคราะห์ และหาทางจัดการปัญหาให้บรรเทาลง

นอกจากนี้ ทีมข่าว "วิทยาศาสตร์ ASTVผู้จัดการออนไลน์" สอบถาม ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ นายกสมาคมเทคโนโลยีชีวภาพสัมพันธ์ ถึงความคืบหน้าของการทดลองพืชจีเอ็มในประเทศไทย ดร.สุทัศน์ เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการทดสอบภาคสนามได้เมื่อปลายปี 2550 จนถึงบัดนี้ ยังไม่มีหน่วยงานใด ทดลองภาคสนามเลย เนื่องจากว่ารัฐกำหนดมาตรการเข้มงวดจนเกินไป โดยจะต้องขออนุมัติและทำประชาพิจารณ์ในทุกๆ กรณี

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดทำขั้นตอนการดำเนินการขออนุญาตทดสนามพืชจีเอ็มโอ โดยใช้มะละกอเป็นพืชนำร่อง ซึ่งจัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้วและเตรียมจะนำเสนอ ครม. ในไม่ช้านี้ พร้อมทั้งเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมกลางเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพแห่งชาติ สำหรับดำเนินงานแทน ครม. ในการอนุญาตการทดสอบพืชจีเอ็มโอภาคสนาม.
ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์
กำลังโหลดความคิดเห็น