นาซาระบุดาวเทียมสหรัฐฯ ชนดาวเทียมปลดระวางของรัสเซียไม่กระทบต่อสถานีอวกาศ เพราะโคจรอยู่ต่ำกว่าจุดเกิดเหตุ 400 กิโลเมตร แต่เสี่ยงอันตรายต่อฮับเบิลและดาวเทียมสำรวจโลกที่โคจรอยู่สูงและใกล้บริเวณที่ชนกัน แจงต้องใช้เวลาอีกสักพักระบุได้ว่าเกิดเศษซากจากการชนเท่าไหร่
บีบีซีนิวส์ระบุคำแถลงขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ว่า ดาวเทียมซึ่งเป็นของบริษัทอิริเดียม (Iridium) ในสหรัฐฯ ได้ชนเข้ากับดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งานแล้วของรัสเซียด้วยความเร็วสูง บริเวณเหนือไซบีเรียประมาณ 780 กิโลเมตร เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น
อีกทั้งตามรายงานของเอพีนั้นนาซาเชื่อว่าความเสี่ยงต่อสถานีอวกาศนานาชาติค่อนข้างต่ำ เนื่องจากสถานีอวกาศอยู่ต่ำกว่าจุดเกิดการชนกันลงไปราว 430 กิโลเมตร และคาดว่าว่าจะไม่เป็นอันตรายต่อนักบินอวกาศ 7 คนที่จะเดินทางไปกับกระสวยอวกาศในวันที่ 22 ก.พ.นี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็จะมีการประเมินความเสียหายใหม่อีกครั้งในไม่กี่วันนี้
"เรารู้ว่าเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นแน่" เอพีอ้างคำพูดของมาร์ก มัทนีย์ (Mark Matney) นักวิทยาศาสตร์วิเคราะห์เศษซากในวงโคจรประจำศูนย์อวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center) ในฮุสตัน สหรัฐฯ
เขาได้ให้ข้อมูลด้วยว่าดาวเทียมพาณิชย์ของอิริเดียมนั้นถูกส่งขึ้นไปเมื่อปี 2540 ส่วนดาวเทียมของรัสเซียถูกส่งขึ้นไปเมื่อปี 2536 ซึ่งเชื่อว่าไม่ทำงานแล้วและไม่สามารถควบคุมแล้ว โดยดาวเทียมอิริเดียมมีน้ำหนักประมาณ 560 กิโลกรัมและดาวเทียมรัสเซียมีน้ำหนักเกือบ 1,000 กิโลกรัม แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครทราบได้ว่าเกิดเศษซากจากการชนประมาณเท่าไหร่และมีขนาดใหญ่แค่ไหน
"ตอนนี้ที่นับได้ชัดๆ น่าจะมีเป็นโหล แต่ผมคาดว่าถ้าเริ่มต้นนับจริงน่าจะมีเป็นร้อย แต่หากมีเศษซากขนาดไมโครเมตรด้วยน่าจะนับได้เป็นพัน" มัทนีย์กล่าว
ขณะที่เจ้าหน้าที่ของนาซาระบุว่า เหตุการณ์ครั้งนี้นับเป็นการชนกันที่ความเร็วสูงครั้งแรกของดาวเทียมที่ยังไม่เสียหาย โดยก่อนหน้านี้มีกรณีการชนกันยของวัตถุในอวกาศ 4 ครั้ง แต่เป็นเหตุการณ์ขนาดเล็กที่เกิดขึ้นกับชิ้นส่วนของจรวดที่หมดสภาพหรือกับดาวเทียมขนาดเล็ก
นิโคลัส จอห์นสัน (Nicholas Johnson) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเศษซากในวสงโคจรประจำศูนย์อวกาศในฮุสตันกล่าวว่า การชนกันของดาวเทียมขนาดใหญ่ครั้งล่าสุดนี้ทำให้เกิดความเสี่ยงอันตรายต่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) และดาวเทียมสำรวจโลก ซึ่งอยู่ในวงโคจรที่สูงและใกล้กับบริเวณที่เกิดการชนกัน
ตั้งแต่ต้นปีนี้มีเศษซากที่เป็นผลจากการประดิษฐ์ของมนุษย์ราว 17,000 ชิ้นโคจรรอบโลก และขยะในวงโคจรได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2-3 ปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศษซากที่หลุดออกมาจากดาวเทียมเก่าๆ และกลายเป็นเรื่องแย่อย่างยิ่งที่เศษซากดังกล่าวกลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อเที่ยวบินของกระสวยอวกาศ ที่นอกเหนือไปจากอันตรายระหว่างการทะยานฟ้าและการกลับสู่โลก
สำหรับการตรวจพบการชนกันของดาวเทียมสหรัฐฯ และรัสเซียในครั้งนี้ เป็นผลงานของเครือข่ายตรวจตราอวกาศแห่งสหรัฐฯ (U.S. Space Surveillance Network) ที่ดำเนินการโดยการทหารสหรัฐฯ ซึ่งสามารถติดตามเศษซากอวกาศที่มีขนาดตั้งแต่ 4 ขึ้นไป และนาซาได้จับมืออย่างเป็นทางการกับเครือข่ายนี้เพื่อคอยป้องกันสถานีอวกาศให้อยู่ในระยะปลอดภัยจากวัตถุที่จะเข้ามาใกล้ รวมไปถึงกระสวยอวกาศในขณะบินด้วย
"การชนกันกำลังมีความสำคัญมากขึ้นและมากขึ้นในทศวรรษที่กำลังมาถึงนี้" มัทนีย์กล่าว
สำหรับบริษัทอิริเดียมโฮลดิงส์ แอลแอลซี (Iridium Holdings LLC) มีดาวเทียมที่ยังใช้งานอยู่ 65 ดวง ซึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณโทรศัพท์พกพาที่มีขนาดใหญ่กว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วไปประมาณ 2 เท่า ซึ่งมีผู้ใช้บริการมากกว่า 300,000 ราย โดยกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในลูกค้ารายใหญ่ของบริษัท
ทางบริษัทอิริเดียมยังระบุด้วยว่า ความเสียหายต่อดาวเทียมครั้งนี้ส่งผลต่อการให้บริการไปสักพัก และคาดว่าจะแก้ไขได้ก่อนวันศุกร์ที่ 13 ก.พ.นี้ รวมถึงจะทดแทนดาวเทียมที่เสียด้วยดาวเทียมสำรองที่อยู่ในวงโคจรแล้ว 8 ดวงภายใน 30 วัน