xs
xsm
sm
md
lg

หลากชนิด "กบ" สปีชีส์ใหม่ ที่ชายแดนโคลอมเบีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กบสปีชีส์ใหม่ในสกุลพริสติแนนติส (Pristimantis) ซึ่งพบในภูเขาทาคาร์คูนา ประเทศโคลอมเบีย ร่วมกับกบสปีชีส์ใหม่อีก 8 ชนิด และซาลาแมนเดอร์สปีชีส์ใหม่ 1 ชนิด (เอเอฟพี)


กบสปีชีส์ใหม่ในสกุลพริสติแนนติส (Pristimantis) ซึ่งพบในภูเขาทาคาร์คูนา ประเทศโคลอมเบีย ร่วมกับกบสปีชีส์ใหม่อีก 8 ชนิด และซาลาแมนเดอร์สปีชีส์ใหม่ 1 ชนิด (เอเอฟพี)



กบแก้วสปีชีส์ใหม่ในสกุลนิมฟากัส (Nymphargus) ซึ่งมีผิวหนังโปร่งใส มองเห็นอวัยวะภายใน (เอเอฟพี)
นักอนุรักษ์ธรรมชาติ สำรวจป่าอเมริกาใต้ ชายแดนโคลอมเบีย-ปานามา พบกบและซาลาแมนเดอร์สปีชีส์ใหม่หลายชนิด พร้อมสมเสร็จที่เคยคิดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว นักวิทย์เผยสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ เป็นตัวชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อม ห่วงสัตว์ถูกคุกคามจากมนุษย์ที่บุกรุกทำลายป่าเพื่อหาประโยชน์ใส่ตัว

ทีมนักวิทยาศาสตร์ของมูลนิธิอีโคทรอปิโกฟาวเดชัน (Ecotropico Foundation) ในโคลอมเบีย และนักสัตววิทยาจากองค์กรอนุรักษ์นานาชาติ หรือซีไอ (Conservation International: CI) ออกสำรวจพื้นที่ในบริเวณภูเข้าทาคาร์คูนา (Tacarcuna) ในแถบดาเรียน แก็ป (Darien Gap) ทางตะวันตกเฉียงเหนือในโคลอมเบีย ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนประเทศปานามา พบสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่เพียบ โดยเฉพาะกบและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำต่างๆ มากมาย

"ไม่ต้องสงสัยเลยว่าบริเวณแถบนี้คือ "เรือโนอาร์" (Noah's Ark) ของแท้แน่นอน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำสปีชีส์ใหม่ที่พบมากมายนี้ เป็นสัญญาณแห่งความหวัง ซึ่งพวกสัตว์ในกลุ่มนี้ ที่มีอยู่ทั่วโลกกำลังถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างหนัก" โฮเซ วินเซนเต โรดริเกซ-มาเอชา (Jose Vicente Rodriguez-Mahecha) ผู้อำนวยการฝ่ายวิทยาศาสตร์ องค์กรอนุรักษ์นานาชาติ กล่าวผ่านสำนักข่าวเอเอฟพี

การสำรวจครั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำสปีชีส์ใหม่ถึง 10 ชนิด เป็นกบ 9 ชนิด เช่น กบแก้ว (glass frog) ที่มีผิวหนังโปร่งแสง และมองเห็นอวัยวะภายในได้, กบมีพิษ (poison frog), กบฮาร์เลควิน (harlequin frog) ที่มีสีสันสวยสดงดงาม และซาลาแมนเดอร์สปีชีส์ใหม่อีก 1 ชนิด ซึ่งนักสำรวจกล่าวว่าโคลอมเบียถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมากที่สุดในโลก โดยรายชื่อสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ได้รับการบันทึกไว้แล้วในปัจจุบัน มีประมาณ 754 ชนิด

ทีมนักสำรวจระบุว่า นักวิทยาศาสตร์มีความเห็นตรงกันว่า สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเป็นตัวชี้วัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่สำคัญมาก ซึ่งสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำหลายสปีชีส์ ไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ผิวหนังของพวกมันที่มีรูพรุน และยอมให้สารต่างๆ แทรกซึมเข้าไปได้ดี จึงทำให้เป็นเครื่องเตือนภัยขั้นต้นว่า สิ่งแวดล้อมเริ่มเสื่อมโทรมจากฝนกรดหรือปนเปื้อนสารพิษและโลหะ นอกจากนี้รอยเตอร์สระบุด้วยว่า สัตว์เหล่านี้ยังมีส่วนช่วยในการควบคุมโรคระบาดหลายชนิด เช่น มาลาเรีย และไข้เลือดออก เนื่องจากพวกมันกินแมลงพาหะของโรคเหล่านั้นเป็นอาหาร

นอกจากนั้นในบริเวณดังกล่าวแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังสำรวจพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายชนิด เช่น สมเสร็จเบร์ด (Baird's tapir) ซึ่งเคยคิดว่าสูญพันธุ์จากโคลอมเบียไปแล้ว และยังมีเพคคารีปากขาว (white-lipped peccary) ซึ่งเป็นสัตว์คล้ายหมูป่า และลิงอีก 4 สปีชีส์

ทั้งนี้ ในพื้นที่บริเวณดังกล่าวที่นักวิทยาศาสตร์เดินทางเข้าไปสำรวจ และพบสัตว์สปีชีส์ใหม่ที่ยังไม่เคยได้รับการบันทึกไว้นั้น เป็นพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ ซึ่งเป็นป่าในรอยต่อระหว่างอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ และแม้ว่าในปัจจุบันพื้นที่ป่าดังกล่าว ยังไม่ถูกรุกราน แต่พื้นที่ราบในบริเวณนั้นกำลังถูกคุกจากการตัดไม้ ล่าสัตว์ ทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ทำเหมืองแร่ และที่อยู่อาศัย.
กบมีพิษสปีชีส์ใหม่ในสกุลโคโลสเตธัส (Colostethus) (เอเอฟพี)
ซาลาแมนเดร์สปีชีส์ใหม่ โบลิโทกลอสซา เทย์เลอรี (Bolitoglossa taylori) (เอเอฟพี)
กบสปีชีส์ใหม่ในสกุลพริสติแนนติส (Pristimantis) (ภาพจาก CI/Marco Rada)
กบแก้วสปีชีส์ใหม่ในสกุลโคคราเนลลา (Cochranella) (ภาพจาก CI/Marco Rada)
กบแก้วสปีชีส์ใหม่ในสกุลเซนโตรลีน (Centrolene) (ภาพจาก CI/Marco Rada)
กบสปีชีส์ใหม่ในสกุลพริสติแนนติส (Pristimantis) (ภาพจาก CI/Marco Rada)
กบฮาร์เลควินสปีชีส์ใหม่ในสกุลอะเทโลพุส (Atelopus) (ภาพจาก CI/Marco Rada)
กบมีพิษสปีชีส์ใหม่ในสกุลอะโนมาโลกลอสซัส (Anomaloglossus) (ภาพจาก CI/Marco Rada)
กำลังโหลดความคิดเห็น