xs
xsm
sm
md
lg

ประหลาด! "กบไม่มีปอด" ใช้ผิวหนังหายใจแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หน้าตาของกบประหลาดที่พบบนเกาะบอร์เนียว แตกต่างจากกบทั่วไปเพราะเป็นกบไม่มีปอด แต่หายใจได้ทางผิวหนัง และเป็นกบหายากที่นักวิทยาศาสตร์หวั่นว่าอาจสูญพันธุ์ได้ง่ายหากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม
เอเอฟพี/นิวยอร์กไทม์ - นักวิทย์พบ "กบปอดหาย" ในอินโดนีเซีย เผยเป็นเรื่องแปลก เพราะกบทั่วไปต้องหายใจทางปอด แต่เจ้ากบประหลาดตัวนี้กลับไม่มีปอดเหมือนพวกพ้อง แถมยังใช้ผิวหนังหายใจได้อย่างดี เชื่อเกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการจนทำให้มีกบผ่าเหล่าเช่นนี้

วารสารเคอเรนท์ไบโอโลจี (Current Biology) รายงานการค้นพบ "กบไม่มีปอด" ของเดวิด บิคฟอร์ด (David Bickford) นักชีววิทยา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore) และทีมงานที่พบกบประหลาดดังกล่าวบนเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่เดือน ส.ค. ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกบที่ผิดแผกไปจากกบทั่วไปที่หายใจทางปอด โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ากบไม่มีปอดนี้เป็นวิวัฒนาการอีกขั้นของกบ

กบไม่มีปอดที่ว่านี้เป็นกบชนิดบาร์บูรูลา กาลิมันตันเอนซิส (Barbourula kalimantanensis) ลำตัวแบน ขนาดยาวประมาณ 2 นิ้ว ไม่มีช่องเปิดบริเวณคอสำหรับให้อากาศผ่าน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่าภายในร่างกายของมันปราศจากปอดอันเป็นอวัยวะสำหรับหายใจของกบทั่วๆ ไป แต่สามารถหายใจหรือแลกเปลี่ยนก๊าซทางผิวหนังได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ทีมของบิคฟอร์ดสันนิษฐานว่ากบไม่มีปอดนั้นเป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่งของกบ แต่เป็นวิวัฒนาการที่ย้อนกลับไปเหมือนกบในยุคแรกเริ่มเมื่อหลายล้านปีก่อนที่ยังไม่มีการพัฒนาอวัยวะให้เป็นส่วนของปอด ทั้งนี้เพราะถิ่นที่อยู่ของกบบาร์บูรูลา กาลิมันตันเอนซิส บนเกาะบอร์เนียวเป็นแหล่งน้ำที่ไหลเชี่ยวและเย็นฉ่ำ ซึ่งในน้ำเย็นจะมีปริมาณของออกซิเจนมากกว่า อาจเป็นสาเหตุทำให้กบสามารถหายใจทางผิวหนังได้ดีและสะดวกกว่าหายใจทางปอด จึงเกิดการวิวัฒนาการมาเป็นกบไร้ปอดดังที่พบ โดยก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์รู้จักสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ไม่มีปอดเพียง 3 ชนิดเท่านั้น ได้แก่ ซาลาแมนเดอร์ 2 ชนิด และเขียดงู (caecilian)

บิคฟอร์ด เผยว่า การที่กบวิวัฒนาการให้ไม่มีปอดนั้นอาจมีเหตุผลสำคัญมากกว่าแค่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากปอด ซึ่งปอดจะช่วยให้กบลอยตัวอยู่ในน้ำได้ แต่แหล่งน้ำที่กบบาร์บูรูลา กาลิมันตันเอนซิส อาศัยอยู่นั้นค่อนข้างเชี่ยว หากกบลอยตัวอยู่บนผิวน้ำก็อาจถูกกระแสน้ำพัดพาไปได้ง่าย ดังนั้นพวกมันจึงต้องปรับตัวให้อยู่ได้โดยไม่ถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวโดยการวิวัฒนาการให้ปอดหายไป

อย่างไรก็ดี นักวิทยาศาสตร์กังวลกันว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมและเหมืองทองคำบนเกาะบอร์เนียวอาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและแหล่งน้ำจนไปมีผลกระทบต่อการหายใจทางผิวหนังของกบไร้ปอด และอาจทำให้กบบาร์บูรูลา กาลิมันตันเอนซิส สูญพันธุ์ได้ในที่สุด
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการที่กบมีวิวัฒนาการให้ปอดหายไปเพราะสามารถหายใจได้ดีทางผิวหนัง และเพื่อความอยู่รอดในแหล่งน้ำที่ไหลเชี่ยว
กำลังโหลดความคิดเห็น