อาจดูธรรมดาสำหรับประตูสักบาน หรือแม้แต่ "ประตูออโต้" เปิด-ปิดอัตโนมัติ ที่เห็นได้ชินตาตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป แต่คงเป็นเรื่องน่าภูมิใจไม่น้อย เมื่อคนไทยผลิตขึ้นเองได้ ซึ่งช่วยลดการนำเข้าและราคาถูกกว่าถึง 50%
"ก่อนหน้านี้เราผลิตเครื่องเก็บเงินอัตโนมัติขาย และเห็นว่าประตูอัตโนมัติน่าสนใจ ถึงมีขายอยู่ แต่ 100% เรานำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด จึงอยากพัฒนาเอง" นายไพบูลย์ อรุณสวัสดิ์ฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท 10 กันยา จำกัด ผู้ผลิตประตูอัตโนมัติจำหน่าย กล่าวภายในการเปิดบ้านของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เมื่อวันทีี่ 30 ม.ค.52 ซึ่งให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" และสื่อมวลชนได้เยี่ยมชมหน่วยปฏิบัติการวิจัยพัฒนาการควบคุมและระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรมหรือไอซีเอ (ICA)
ทั้งนี้ จากความพยายามพัฒนาประตูอัตโนมัติด้วยตนเองของบริษัท 10 กันยา พบว่าไม่สามารถทำให้ประตูทำงานได้อย่างเสถียร และมีข้อจำกัดบางประการ ซึ่งนายไพบูลย์ไม่เปิดเผย แต่กล่าวว่าอยากผลิตประตูอัตโนมัติให้เสถียร และใช้งานได้จริงในเชิงธุรกิจ จึงติดต่อขอความร่วมมือมายังเนคเทค และได้ร่วมกันพัฒนาประตูอัตโนมัติเป็นเวลาครึ่งปี และสำเร็จในปี 2551
"ของที่เราทำเอง บางครั้งเปิด-ปิดไม่นิ่มนวล เราอยากให้ทำงานได้ดีทุกครั้ง จึงมาพบนักวิจัยเนคเทค ซึ่งได้พัฒนาชุดควบคุมมอเตอร์และซอฟต์แวร์ควบคุมมอเตอร์ให้ โดยใช้เวลา 6 เดือนเราก็ได้ชุดไปทดสอบ และนักวิจัยก็ไปนอนค้างที่บริษัทเรา เพื่อช่วยแก้ปัญหา มีกรณีหนึ่งที่เราไปติดตั้งที่อุบลราชธานี นักวิจัยก็ตามเราไปด้วย ส่วนนักวิชาการของเราเอง ซึ่งเป็นวิศวกร เราก็ให้มาร่วมพัฒนากับนักวิจัยที่เนคเทคด้วย" นายไพบูลย์เผย
ด้าน ดร.พงศ์พิชญ์ วิภาสุรมณฑล นักวิจัยเนคเทคผู้ร่วมพัฒนาประตูอัตโนมัติกับบริษัท 10 กันยา กล่าวกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" ว่า โจทย์ที่ได้รับจากทางบริษัทนั้นชัดเจน คือการปรับปรุงดีซีมอเตอร์ (DC motor) ซึ่งในเมืองไทยยังไม่มีใครทำ และทางเนคเทคก็มีเทคโนโลยีด้านนี้พอสมควร ในส่วนของโครงสร้างประตูทางบริษัท 10 กันยาเป็นผู้ผลิต ส่วนเนคเทคทำชุดควบคุมทั้งในส่วนซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์
"งานวิจัยเรื่องการควบคุมมอเตอร์ เป็นหนึ่งของแล็บไอซีเอ เราองค์ความรู้อยู่ส่วนหนึ่งอยู่แล้ว การนำไปใช้ขึ้นอยู่ว่จะปรับอย่างไร สำหรับงานนี้ ส่วนที่ยากคือการออกแบบอัลกอลิทึมให้ระยะประตูและน้ำหนักประตูทำงานเข้ากัน คือออกแบบว่าน้ำหนักประตูเท่านี้ควรให้ความเร่งในการดึงประตูเท่าไหร่ โดยสมมติให้น้ำหนักเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เนื่องจากเราต้องการออกแบบชุดควบคุม ที่ใช้งานกับประตูในหลายๆ น้ำหนักได้ ทั้งนี้ถ้าประตูหนักมากๆ แล้วออกเร่งเยอะไปก็ทำให้ประตูเสียได้" ดร.พงศ์พิชญ์กล่าวถึงการพัฒนาประตูอัตโนมัติ ที่ยังมีนักวิจัยเนคเทคอีกคนร่วมทีมด้วย
นายไพบูลย์ยังเผยอีกว่า ประตูอัตโนมัติที่ร่วมพัฒนากับเนคเทคนั้น มีความเสถียรแล้ว และเริ่มส่งขายไปทั่วประเทศ 50 เครื่องแล้ว ซึ่งราคาขายของบริษัทต่ำกว่าของนำเข้าประมาณ 50% แต่ในด้านประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน คิดมูลค่าที่ขายได้ประมาณ 1.5 ล้านบาท และนอกจากขายประตูแล้วทางบริษัทยังรับซ่อมและติดตั้งชุดควบคุมประตูอัตโนมัติให้กับยี่ห้ออื่นๆ โดยใช้ชุดควบคุมเดียวกันนี้ด้วย ส่วนลูกค้าของทางบริษัทที่ติดตั้งประตูอัตโนมัติไปแล้วเป็นกลุ่มรีสอร์ท โรงแรมและโรงพยาบาล
พร้อมกันนี้ เขายังเผยถึงแผนพัฒนาประตูอัตโนมัติต่อไปว่า จะพัฒนาให้ประตูอัตโนมัติแสดงผลเมื่อเสียหรือทำงานบกพร่องว่าเกิดจะส่วนไหน โดยแสดงเป็นรหัส เช่น กระแสไฟฟ้าไม่เข้าให้แสดงเลข 3 เป็นต้น เพื่อสะดวกแก่ช่างที่เข้าไปซ่อมแซม ซึ่งเทคโนโลยีลักษณะนี้ประตูอัตโนมัติบางยี่ห้อที่นำเข้าก็ทำได้แล้ว และยังมีแนวคิดที่จะผลิตเครื่องขายของอัตโนมัติที่จะเป็นร้านสะดวกซื้อแบบไม่มีพนักงาน โดยอาจขายเป็นอาหารหรือของกินปรุงสำเร็จ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าตามโรงพยาบาลหรือรีสอร์ทที่มีคนอยู่น้อยแต่มีความต้องการซื้อของ ซึ่งเครื่องขายของอัตโนมัติจะช่วยค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานได้
"ในส่วนของเครื่องขายของอัตโนมัติ เราคงจะเริ่มด้วยตัวเองก่อน เมื่อมีปัญหาเราจึงจะติดต่อมายังเนคเทค ซึ่งส่วนใหญ่จะทำอะไรก็ตามเราจะเริ่มด้วยตัวเองก่อน ไม่อย่างนั้นเราจะไม่ทราบปัญหา และการได้ร่วมวิจัยกับเนคเทคครั้งนี้ทำให้เราได้เข้าใจบางด้านที่เราไม่เคยมองมากขึ้นในแง่งานวิจัยและเทคโนโลยี ทั้งนี้เพราะบริษัทเราเป็นทำงานแบบวิศวกร บางอย่างก็อาจจะโบราณหน่อย" นายไพบูลย์กล่าว
กรรมการผู้จัดการบริษัท 10 กันยายังกล่าวถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาว่าเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาไทยไม่เคยมีชื่อเสียงทางด้านอิเล็กทรอนิกส์มาก่อน และเป็นที่รู้จักแค่ขายข้าวสาร ทำให้ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีในการทำตลาดต่างประเทศ ลูกค้าเกรงว่าจะโดนหลอก จึงแก้ปัญหาด้วยการเชิญลูกค้ามาเยี่ยมเมืองไทยและให้ทดลองใช้สินค้าของบริษัทโดยไม่คิดมูลค่า ภายหลังจึงได้เป็นลูกค้าอีกรายของบริษัท
สำหรับหน่วยปฏิบัติการไอซีเอนั้น ดร.กนกเวทย์ ตั้งพิมลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่าย หน่วยปฏิบัติการวิจัยพัฒนาการควบคุมและระบบอัตโนมัติอุตสาหกรรมหรือไอซีเอ กล่าวว่าปัจจุบันไอซีเอมีนักวิจัยและบุคลากร 34 คน ซึ่งมีความพร้อมในการวิจัยพัฒนาเพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรม และมีที่ผ่านมามีตัวอย่างงานที่สนองความต้องการและแก้ปัญหาของภาคอุตสาหกรรม อาทิ
ระบบควบคุมเครื่องกัดอัตโนมัติ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเนคเทคกับสถาบันไทย-เยอรมัน (ทีจีไอ) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อพัฒนาระบบควบคุมสำหรับการรีโทรฟิต (Retrofit) หรือการแก้ไขปรับปรุงเครื่องจักรที่หมดอายุการใช้งาน ซึ่งจากการสำรวจของสมาคมเครื่องจักรกลไทย พบว่ามีเครื่องจักรที่รอการรีโทรฟิตถึง 40,000 เครื่อง โดยเบื้องต้นได้นำร่องพัฒนาให้กับวิทยาลัยเทคนิคนครปฐมและวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม
ระบบควบคุมการจ่ายไฟฟ้า (Distribution Automation System: DAS) โดยเนคเทคร่วมมือกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) พัฒนาระบบจ่ายไฟฟ้าที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์และติดต่อหน่วยควบคุมระยะไกล (Remote Terminal Unit: RTU) ผ่านเครือข่ายใยแก้วนำแสง ซึ่งช่วยให้ทราบปัญหาและความผิดปกติของระบบไฟฟ้า ทำให้จำกัดเวลาและขอบเขตกรณีเกิดไฟฟ้าดับได้ และเนคเทคยังได้ร่วมมือกับ กฟน. ติดตั้งระบบสื่อสารและจัดเก็บข้อมูลชุดตรวจวัดแรงดันน้ำของเขื่อน (Supervisory Control And Data Acquisition) ที่เขื่อนรัชชประภา เพื่อช่วยดูแลความปลอดภัยและความมั่นคงของเขื่อน
ระบบตรวจตาทางไกล ซึ่งเนคเทคร่วมมือกับโรงพยาบาลวัดไร่ขิง จ.นครปฐมในการพัฒนาระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) จากปัญหาการขาดแคลนจักษุแพทย์ในพื้นที่ห่างไกล โดยได้พัฒนาระบบควบคุมที่สามารถส่งข้อมูลภาพดวงตาผู้ป่วยจากเครื่องส่องตรวจตาในพื้นที่ห่างไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และมีผู้ช่วยแพทย์อยู่กับคนไข้และติดต่อกับแพทย์ผ่านระบบสนทนาทางอินเทอร์เน็ตได้ ทำให้แพทย์ไม่ต้องเดินทางไปพบผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล ทั้งนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ
พร้อมกันนี้ ดร.กว้าน สีตะธนี รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติยังได้กล่าวถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีของเนคเทคให้กับภาคอุตสาหกรรมว่า มีด้วยกัน 5 รูปแบบ คือ 1.อนุญาตให้ใช้สิทธิ์ (Licensing) ซึ่งเป็นการอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลิตภัณฑ์ต้นแบบหรือองค์ความรู้ที่เนคเทคได้ทำวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอดหรือผลิตในเชิงพาณิชย์ 2.ร่วมวิจัย (Joint Research) เป็นการส่งเสริมภาคธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่สามารถพัฒนาด้านเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์ ซึ่งไม่ใช่แค่มีคนก็ทำงานวิจัยได้ สิ่งสำคัญคือคน หากภาคเอกชนมีคนที่มีความสามารถก็มาร่วมวิจัยกับเนคเทคได้
3.รับจ้างวิจัยและพัฒนา (Construct Research) ในกรณีที่บางรายเอกชนมีเงินแต่ไม่มีกำลังคน สามารถจ้างเนคเทคให้ทำวิจัยให้และสิทธิในการวิจัยก็เป็นของเอกชนรายนั้น 4.การให้คำปรึกษา (Consulting) ซึ่งเนคเทคมีบริการให้คำปรึกษาด้านเทคนิคจากนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง และ 5.บริการห้องปฏิบัติการวิจัยเปิด (Open Laboratory) ทั้งนี้เนคเทคมีห้องปฏิบัติการที่มีศักยภาพให้เอกชนมาร่วมใช้ได้ โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม ซึ่งบางครั้งเอกชนบางรายก็ต้องการใช้เครื่องมือในระยะเวลาไม่นาน หากลงทุนเองอาจไม่คุ้ม
"เนคเทคเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบ เมื่อทำได้เอกชนก็นำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ แต่เราต้องการโจทย์จากภาคเอกชนมาเป็นความท้าทายให้กับนักวิจัยของเรามากกว่า" ดร.กว้านกล่าว