xs
xsm
sm
md
lg

รับปีวัว เที่ยว"คอกวัว" : วัวหาย ตำนานอยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
มองไม่เห็นภาพอดีตที่เคยเป็นสถานที่เลี้ยงวัว ที่สี่แยกคอกวัว
ผ่านปีวัวมาได้สองอาทิตย์แล้ว หลายคนเริ่มเห็นเค้าความเหน็ดเหนื่อยมาไกลๆ แต่ยังเหลืออีกตั้งหลายร้อยวันกว่าจะผ่านปีนี้ไปได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องพยายามกันต่อไปจนถึงที่สุด

เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศปีวัวปีนี้ ฉันก็ไม่ลืมที่จะนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ "วัว" ในกรุงเทพฯ เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศในปีวัวนี้เสียหน่อย โดยวันนี้จะพาไปเดินเที่ยวแถวๆ "สี่แยกคอกวัว" หรือที่หลายคนเรียกสั้นๆว่า"คอกวัว" ที่อยู่บริเวณจุดตัดของถนนราชดำเนินและถนนตะนาว ไปลองเดินหาดูซิว่าจะยังมีวัวให้เห็นอยู่บ้างสักตัวหรือเปล่า
เดินเล่นกันเพลินๆที่สี่แยกคอกวัว
แต่เท่าที่เคยผ่านไปผ่านมาแถวนี้บ่อยๆ ก็ไม่เคยเห็นวัวเลยสักตัว แล้วสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่าทำไมละแวกนี้ถึงเรียกกันว่า "คอกวัว" หากอยากทราบที่มาก็ต้องย้อนเวลาหาอดีตไปในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยพระองค์นั้นโปรดการเสวยนมวัว พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯให้มีการเลี้ยงวัวหลวงพันธุ์ให้น้ำนมเป็นจำนวนมากเพื่อไว้ใช้เสวยและใช้ถวายแด่พระสงฆ์ที่บิณฑบาตโดยพระองค์เองด้วย โดยคอกวัวหลวงนั้นก็อยู่ไม่ไกลจากพระบรมมหาราชวังมากนัก นั่นก็คือตั้งอยู่บริเวณสี่แยกคอกวัวในปัจจุบันนั่นเอง

ทุกๆ เช้าจะมีแขกนุ่งห่มเหมือนอย่างพราหมณ์นำขวดนมจากคอกวัวหลวงนี้มาส่งที่ประตูสนามราชกิจในพระบรมมหาราชวังทุกวัน และนมวัวนี้ก็จะต้องนำไปตั้งไว้ให้กับพระราชาคณะไว้ฉันรองท้องก่อนเพลเสมออีกด้วย
ถนนตะนาว ถนนเก่าแก่สายหนึ่งในกรุงเทพฯ
คอกวัวหลวงนี้มีอยู่ต่อมาจนถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพราะพระองค์ก็โปรดเสวยนมวัวด้วยเช่นกัน แต่ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงปรับพื้นที่ในเขตพระนครเพื่อที่จะรับกับแผนการขยายเมือง ดังนั้นพระองค์จึงโปรดฯ ให้ปรับพื้นที่โดยรอบพระบรมมหาราชวัง คอกวัวหลวงก็พลอยโดนหางเลขไปด้วย ดังนั้น "คอกวัว" จึงยังคงหลงเหลือเพียงชื่อไว้กลางสี่แยกเพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าแต่ก่อนนั้นบริเวณนี้เคยเป็นคอกวัวมาก่อนนะจะบอกให้

จะเดินหาวัวที่สี่แยกคอกวัวก็คงไม่มีแล้ว แต่หากจะเดินเล่นกินบรรยากาศในบริเวณนี้ก็ถือเป็นแหล่งเดินเท้าท่องเที่ยวที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวอยู่หลายจุดด้วยกัน เริ่มกันตั้งแต่บนถนนตะนาวกันก่อนเลย ตัวถนนเองนั้นก็มีความน่าสนใจตรงที่เป็นถนนเก่าแก่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นถนนสายย่อยที่แยกมาจากถนนเฟื่องนคร ถนนตะนาวนั้นตั้งชื่อตามผู้อยู่อาศัยที่เป็นคนเชื้อสายพม่าจากเมืองตะนาวศรี ส่วนใหญ่ทำอาชีพทอผ้าขาย ต่อมาเราจึงเรียกถนนเส้นนี้ว่า "ถนนตะนาว"
อย่าลืมแวะไหว้ศาลเจ้าพ่อเสือ
บนถนนตะนาวนั้นมี "ศาลเจ้าพ่อเสือ" ศาลเจ้าเก่าแก่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของหลายๆ คน โดยคนส่วนมากที่มากราบไหว้ที่ศาลเจ้าพ่อเสือนั้นก็เพื่อมาขอพรในเรื่องของการงาน การเงิน และโชคลาภต่างๆ วิธีการสักการะเทพเจ้าต่างๆ นั้นก็จะต้องไหว้ด้วยธูป 18 ดอก เทียนแดง 1 คู่ และพวงมาลัย 1 พวง หลังจากจุดเทียนแล้วก็จุดธูปทั้ง 18 ดอก แบ่งไปปักที่กระถางธูปหน้าเทวดาฟ้าดิน กระถางธูปของเจ้าพ่อใหญ่ หรือตั่วเล่าเอี๊ยกง ประธานในศาล เจ้าพ่อเสือ เทพเจ้าโชคลาภ หรือไฉ่ซิ้งเอี๊ย และทหารสองนายด้านหน้าประตูศาล

ส่วนการสักการะเจ้าพ่อเสือนั้นจะมีเครื่องเซ่นต่างหาก โดยจะประกอบด้วยหมูสามชั้น ไข่ดิบ และข้าวเหนียวหวาน พวงมาลัย และกระดาษเงินกระดาษทองสำหรับเผาไหว้เจ้า เมื่อไหว้ขอพรจากเจ้าพ่อเสือแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะรับเอาเครื่องไหว้นั้นไปยื่นใกล้ๆ กับปากของเจ้าพ่อเสือเหมือนเป็นการถวาย แล้วเจ้าหน้าที่ก็จะพูดว่า "เฮงๆๆ" แก่เรา แล้วก็ส่งกระดาษกลับคืนมาให้เอาไปเผาตรงด้านหน้าศาล เป็นอันเสร็จพิธีไหว้ แต่หากใครยังงุนงงกับการไหว้ก็สามารถสอบถามเอาจากพ่อค้าแม่ค้าที่เราซื้อเครื่องเซ่นไหว้ก็ได้เช่นกัน
พระวิหารหลวงพ่อพระร่วงทองคำ
ไหว้เจ้าพ่อเสือแล้ว ก็ข้ามถนนมาไหว้พระกันบ้างที่ "วัดมหรรณพาราม" ที่มี "หลวงพ่อพระร่วงทองคำวาจาศักดิ์สิทธิ์" พระพุทธรูปงดงามสมัยสุโขทัยที่มีทองคำเป็นส่วนผสมมากถึง 60% ตั้งอยู่ภายในพระวิหาร

พระพุทธรูปองค์นี้แต่เดิมประดิษฐานอยู่ทางเหนือ แต่ได้ย้ายมาประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้เมื่อกรมหมื่นอุดมรัตนราษี หรือพระองค์เจ้าอรรณพ พระราชโอรสในสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นเมื่อพ.ศ.2393 โดยรัชกาลที่ 3 ได้ทรงพระราชทานเงินเพื่อช่วยก่อสร้าง และรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ทางเมืองเหนือเสาะหาพระพุทธรูปใหญ่มาประดิษฐานเป็นพระประธาน

เมื่อได้พบพระงามก็ทรงรับสั่งให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพฯเพื่อให้ทันกับการฉลองพระอุโบสถและผูกพัทธสีมา แต่เนื่องจากการเดินทางในสมัยนั้นยากลำบาก ยิ่งพระพุทธรูปเป็นองค์ใหญ่ด้วยแล้ว การนำพระพุทธรูปลงแพล่องน้ำมาก็ยิ่งยากลำบากมากขึ้น ทำให้การเดินทางมาล่าช้า คงไม่ทันกำหนดเวลาที่พระอุโบสถสร้างเสร็จ รัชกาลที่ 3 จึงรับสั่งให้สร้างพระประธานด้วยหินปูนก่ออิฐ และใช้เป็นพระประธานในพระอุโบสถแทนและใช้มาจนปัจจุบัน ส่วนหลวงพ่อพระร่วงนี้ก็มาประดิษฐานอยู่ในพระวิหารแทน
สถูปวีรชน ในอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
นอกจากจะได้กราบหลวงพ่อพระร่วงแล้ว ที่วัดนี้ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจตรงที่วัดแห่งนี้ยังเป็นโรงเรียนประถมแห่งแรกด้วย เนื่องจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา ทรงได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงเพื่อสามัญทั่วไปเป็นแห่งแรกขึ้น เมื่อพ.ศ.2427 ณ วัดมหรรณพารามแห่งนี้ ชื่อว่า "โรงเรียนวัดมหรรณพ์" ซึ่งก็ถือเป็นโรงเรียนประถมแห่งแรกในประเทศไทย

จากวัดมหรรณพาราม เมื่อเดินออกมาที่สี่แยกคอกวัวตรงหัวมุมถนน ก็อย่าลืมแวะชม "อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา" อนุสรณ์สถานที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่กว่าจะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่างออกมาเป็นอนุสรณ์สถานก็กินเวลากว่า 27 ปี นับตั้งแต่มีการเสนอให้สร้างตั้งแต่ปี 2517 และสร้างสำเร็จลงในปี 2544 โดยการผลักดันของหลายๆ ฝ่าย

เมื่อก้าวเท้าขึ้นมาด้านบนอนุสรณ์สถาน สิ่งแรกที่จะได้เห็นก็คือ "สถูปวีรชน" ซึ่งเป็นประติมากรรมรำลึกที่สร้างอุทิศให้แก่ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลาในครั้งนั้น สถูปวีรชนนี้มีลักษณะเป็นทรงกรวยตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม ยอดแหลมชี้ขึ้นด้านบน มีความสูง 14 เมตร และบนฐานสี่เหลี่ยมด้านล่างนั้นก็สลักรายชื่อวีรชน 14 ตุลาไว้ทั้งสี่ด้าน มีแผ่นอิฐสลักบทกวีเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ ความเสียสละ รวมทั้งแผ่นอิฐแกะเป็นลวดลายที่สื่อถึงการเติบโตงอกงามของสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย
ถนนข้าวสาร แหล่งบันเทิงยามราตรี
จากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เรายังเดินอยู่บนถนนตะนาว เพียงแต่ข้ามถนนกลางสี่แยกคอกวัวมาที่ถนนตะนาวอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อมาเยือน "ถนนข้าวสาร" ถนนแห่งแสงสีในยามค่ำคืน และคลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวประเภทเป้ใบเดียวเที่ยวรอบโลก หรือแบ็คแพ็คเกอร์นั่นเอง

ถนนสายสั้นๆ นี้ก็มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานไม่น้อย โดยถนนสายนี้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เดิมเป็นแหล่งค้าขายข้าวสารที่ใหญ่ที่สุดของเขตพระนคร ข้าวสารจะถูกขนส่งมาจากฉางข้าวหลวง สะพานช้างโรงสี ริมคลองคูเมืองเดิม หรือคลองหลอด เลียบมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นที่ท่าเรือบางลำพู เพื่อนำข้าวมาขายให้แก่ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ในแถบนี้

มาในวันนี้จะหาร้านขายข้าวสารในถนนข้าวสารก็ยากเหลือทน แต่สามารถหาร้านขายอาหารหรือขายเหล้าได้ง่ายนิดเดียว เพราะเมื่อมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยช่วงปี พ.ศ. 2525 ได้เข้ามาเช่าห้องพักอาศัยของคนในแถบนี้เพื่อเที่ยวชมกรุงเทพฯ บ้านที่อยู่แถวนั้นซึ่งใช้แบ่งเช่าเป็นที่มาของเกสเฮาส์ที่มีอยู่ดาษดื่นในปัจจุบัน จนกลายเป็นศูนย์รวมของพวกแบ็คแพ็กเกอร์ในประเทศไทย และกลายเป็นย่านบันเทิงยามราตรีที่ผู้คนนิยมมาเที่ยวมากอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ แต่หากใครไม่ใช่คอเหล้าคอเบียร์ จะมาเดินเล่นช้อปปิ้งซื้อของประเภทเสื้อผ้า เครื่องแต่งตัวในช่วงกลางวันไปจนถึงกลางคืนก็ได้เช่นกัน
อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่ไกลจากสี่แยกคอกวัว
มาปิดท้ายกันที่จุดที่น่าสนใจใกล้สี่แยกคอกวัว "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" ที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย และมักถูกใช้เป็นสถานที่ชุมนุม สถานที่เดินขบวน สถานที่ประท้วงอยู่เสมอๆ เพราะอนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีลักษณะเป็นรูปหล่อลอยตัว ตรงกลางเป็นรูปเล่มรัฐธรรมนูญในสมุดไทยประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า ล้อมรอบด้วยแท่งปูน 4 แท่ง ลักษณะคล้ายปีกอยู่ทั้ง 4 ทิศ อีกทั้งรอบอนุสาวรีย์ยังมีปืนใหญ่โบราณจำนวน 75 กระบอก ฝังดินไว้ โผล่ท้ายกระบอกปืนใหญ่ขึ้นมาเป็นเสาคล้องโซ่เชื่อมต่อกันเป็นรั้ว ในช่วงแดดร่มลมตกลมพัดเย็นๆ หากได้มาเดินเล่นชมทิวทัศน์แถวนี้ก็เพลิดเพลินไม่น้อยเลยทีเดียว

สรุปว่ามาสี่แยกคอกวัวคราวนี้ไม่เจอวัว แต่ได้เดินเที่ยวจนเพลินใจ ก็ถือว่าใช้ได้เหมือนกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น