xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ "ชัยวัฒน์ คุประตกุล" กว่าจะเฟ้นหาหนังสือวิทย์ดีๆ ครบ 100 เล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล กับหนังสือ 100 เล่มหนังสือดีวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผลที่ได้จากโครงการคัดสรรหนังสือดีวิทยาศาสตร์ที่พิมพ์ขึ้นในปี 37-48 ให้ได้ 100 เล่ม
เพราะอยากให้คนไทยรู้จักและได้อ่านหนังสือทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ดีๆ กันมากขึ้น และอยากเห็นหนังสือวิทย์เล่มเก่าถูกนำกลับมาพิมพ์ใหม่ รวมทั้งอยากให้นักเขียนหน้าใหม่แจ้งเกิดในวงการนิยายวิทยาศาสตร์บ้านเรากันมากขึ้น "ดร.ชัยวัฒน์" และคณะ เลยอุทิศเวลาส่วนหนึ่ง เพื่อเฟ้นหาสุดยอดหนังสือวิทย์ในเมืองไทย เพื่อประกาศให้เป็น "หนังสือดีวิทยาศาสตร์" จำนวน 100 เล่ม ให้คนไทยได้ติดตามสรรหามาอ่าน เพื่อเพิ่มพูนความคิดและจิตใจ

แถลงผลออกไปแล้วว่า "100 เล่มหนังสือดีวิทยาศาสตร์" มีอะไรบ้าง แต่กว่าจะคัดเลือกได้ เหล่าคณะกรรมการดำเนินงานต้องใช้เวลากว่า 2 ปี เพื่ออ่านหนังสือราว 700 เล่ม อย่างละเอียด แล้วคัดให้เหลือ 100 เล่มที่ดีที่สุด พร้อมทั้งเขียนบทวิเคราะห์ วิจารณ์ และแนะนำหนังสือทุกเล่ม ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ "ASTV-ผู้จัดการออนไลน์" ได้พูดคุยกับ "รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล" ถึงการทำงานของคณะกรรมการตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

"เหมือนกับว่า เราได้ทำงานแทนคนไทยทั้งประเทศ ในเรื่องของโครงการวิจัยเกี่ยวกับหนังสือวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราได้เริ่มต้นจากการวิจัยหนังสือดีวิทยาศาสตร์ โดยครอบคลุมตั้งแต่หนังสือที่เก่าแก่ที่สุดถึงปลายปี 36 แล้วได้ประกาศยกย่องไปแล้วเป็น หนังสือดีวิทยาศาสตร์ 88 เล่ม" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการ ให้สัมภาษณ์ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินโครงการ 100 เล่มหนังสือดีวิทยาศาสตร์ (พ.ศ. 2537-2548) ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 52

"เราตั้งความหวังไว้ตั้งแต่ทำโครงการแรกแล้วว่า อยากจะเห็นพัฒนาการของหนังสือวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ อยากเห็นการนำเอาหนังสือวิทยาศาสตร์ดีๆ เล่มเก่ามาตีพิมพ์ใหม่ อยากเห็นความเคลื่อนไหวในเชิงน่าตื่นเต้นของหนังสือวิทยาศาสตร์บ้านเรา และหลังจากเราทำโครงการนั้นเสร็จ ก็มีคำถามตามมาอีกว่า แล้วหลังจากนั้นสิบกว่าปีเป็นอย่างไรบ้าง จึงเกิดเป็นโครงการใหม่ที่ใช้กรอบเวลา 12 ปี ที่ต่อเนื่องจากครั้งแรก คือช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2537-2548 เพื่อรวบรวมหนังสือวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวให้ได้มากที่สุด" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ เผยถึงที่มาของโครงการ "100 เล่มหนังสือดีวิทยาศาสตร์" ที่ต่อเนื่องมาจากโครงการ "หนังสือดีวิทยาศาสตร์ 88 เล่ม"

โครงการครั้งแรก มีกรอบระยะเวลาการทำงานรวม 18 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 42 - 1 มิ.ย. 44 ส่วนโครงการครั้งที่ 2 มีกรอบระยะเวลาการทำงาน 16 เดือน ระหว่าง 1 ก.ค. 49 - 31 ต.ค. 50 ซึ่งหัวหน้าโครงการบอกว่า ได้รับความร่วมมือจากนักเขียน สำนักพิมพ์ต่างๆ ในการเสนอชื่อหนังสือวิทยาศาสตร์เข้าร่วมพิจารณา และจากการสรรหาโดยคณะทำงานทั้งสิ้น 8 คน จนกระทั่งรวบรวมหนังสือวิทยาศาสตร์ที่ตีพิมพ์ขึ้นในระหว่างปี 37-48 ได้จำนวนทั้งหมดเกือบ 700 เล่ม

ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการทั้ง 8 คน ประกอบด้วย รศ.ดร.ชัยวัฒน์ หรือเจ้าของนามปากกาว่า "ชัยคุปต์" เป็นหัวหน้าโครงการ, น.ส.สรรสิริ ชัยรัตน์ เลขานุการโครงการ, น.ส.วีณา อัครธรรม, ผศ.วีรวัฒน์ กนกนุเคระห์, นายพิชิต อิทธิศานต์, น.ส.วาสนา บุญสม, นางกาญจนา พุ่มพวย และ น.ส.เยาวนิต เพชรจันทร์

หัวหน้าโครงการเล่าต่อว่า การทำงานในครั้งหลังนี้มาความคล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากนำกระบวนการที่พัฒนาขึ้นในการทำงานครั้งแรกมาใช้ในการพิจารณาคัดเลือกครั้งนี้ ซึ่งหนังสือทั้งหมดที่รวบรวมได้ จะผ่านการคัดเลือกขั้นต้นโดยหัวหน้าโครงการและเลขานุการที่ต้องช่วยกันอ่านนังสือให้หมดครบทุกเล่ม หากเล่มไหนถูกคัดออกไปแล้ว แต่คณะกรรมการบางคนอ่านแล้วเห็นว่าควรจะให้ผ่านก็สามารถนำกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งได้

หนังสือแต่ละเล่มที่ผ่านการคัดสรรขั้นแรกเข้าสู่ขั้นที่สอง จะถูกคัดเลือกต่อโดยผ่านสายตาคณะทำงานไม่น้อยกว่า 3 คน และต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกคนที่พิจารณา หากมีใครไม่เห็นด้วยแม้เพียง 1 คน เป็นอันว่าหนังสือเล่มนั้นต้องตกไป ส่วนหนังสือที่ผ่านเข้าสู่การคัดเลือกในรอบต่อๆไป คณะทำงานทั้ง 8 คน จะต้องได้อ่านร่วมกัน และเช่นเดียวกันว่าหากมีคนหนึ่งคนใดไม่เห็นชอบด้วย หนังสือเล่นนั้นก็จะถูกคัดออกไป จนได้จำนวนเล่มที่ดีที่สุดที่ต้องการ

หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกหนังสือ คณะกรรมการวิเคราะห์ถึงความเป็นวิทยาศาสตร์ของหนังสือและสำนวนภาษาที่ใช้ ทั้งหนังสือร้อยแก้วและร้อยกรอง โดยพิจารณาจากหนังสือที่เป็นวิทยาศาสตร์ตรงๆ ที่ไม่มีข้อสงสัยใด และหนังสือประเภทอื่นๆ ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ในแง่ของการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ หรือแสดงภูมิปัญญาของผู้เขียนในเชิงวิทยาศาสตร์ ดังเช่น หนังสือที่เกี่ยวกับศาสนา เป็นต้น ซึ่งนับเป็นความท้าทายการทำงานของคณะทำงานอย่างยิ่ง

คณะทำงานเลือกพิจารณาเฉพาะหนังสือที่ตีพิมพ์ครั้งแรก ในกรอบเวลาที่กำหนดในช่วงระยะ 12 ปี ระหว่าง 1 ม.ค. 37 - 31 ธ.ค. 48 หากเป็นหนังสือที่เคยมีการตีพิมพ์ไปแล้วก่อนหน้านั้น และมีการพิมพ์ซ้ำในช่วงเวลาดังกล่าว จะต้องเป็นการพิมพ์ซ้ำในลักษณะที่เป็นฉบับปรับปรุงใหม่ให้สมบูรณ์ หรือแก้ไขให้ถูกต้อง จึงจะเข้าข่ายในการพิจารณา เช่น ตัวกู-ของกู ที่เขียนโดย พุทธทาสภิกขุ และ ใต้ดาวมฤตยู ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ซึ่งเขียนขึ้นและเคยตีพิมพ์เป็นตอนๆ นานแล้ว แต่เพิ่งได้รับการพิมพ์รวมเล่มเป็นครั้งแรกในช่วงเวลานั้น

สำหรับหนังสือวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในประเภทตำราเรียน แบบเรียน คู่มือ และหนังสือแปล จะไม่นำมาพิจารณาร่วมด้วย ยกเว้นตำราหรือแบบเรียนที่เขียนได้สนุก เช่น เอกภพ เพื่อความเข้าใจในธรรมชาติของจักรวาล เขียนโดย วิภู รุโจปการ ซึ่ง รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ยกย่องว่าเขียนได้น่าทึ่งมาก แม้ไม่ได้เขียนขึ้นเพื่อบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอน แต่ก็มีโรงเรียนต่างๆ นำไปใช้กันค่อนข้างมากทีเดียว

เมื่อคัดสรรได้ครบทั้ง 100 เล่ม ภายในกรอบเวลาการทำงานแล้ว ได้แก่ ประเภทบันเทิงคดี 30 เล่ม และประเภทสารคดีและความรู้ทั่วไป 70 เล่ม ทั้งนี้ได้มีการรวมเอาหนังสือสารคดีและความรู้ทั่วไปมาไว้รวมกันเนื่องจากเส้นแบ่งยังไม่ชัดเจนในไทย หลังจากนั้นคณะทำงานต้องอ่านทั้ง 100 เล่ม อีกครั้งหนึ่ง เพื่อเขียนบทวิเคราะห์ วิจารณ์ และแนะนำหนังสือแต่ละเล่ม รวมทั้งประวัติผู้เขียน และตีพิมพ์รวมเล่มเป็นหนังสือ "100 เล่มหนังสือดีวิทยาศาสตร์" พร้อมทั้งมีการสรุปผลการดำเนินงานและผลที่ได้รับ

"หลังจากที่เราประกาศยกย่องหนังสือดีวิทยาศาสตร์ 88 เล่ม ไปแล้ว ก็พบว่ามีความเคลื่อนไหวสูงขึ้น มีการนำเอาหนังสือเก่าวิทยาศาสตร์ เช่น หนังสือของคุณจันตรี ศิริบุญรอด มาตีพิมพ์ใหม่ทั้งหมด มีนักเขียนใหม่ด้านวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นค่อนข้างจะมาก ทั้งประเภทนิยาย บันเทิง และประเภทให้ความรู้หรือสารคดีทางวิทยาศาสตร์ และมีบางสำนักพิมพ์ให้ความสนใจจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อผลิตหนังสือวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ และมีโครงการส่งเสริมต่างๆ เกิดขึ้น ซึ่งเราก็ดีใจมาก" หัวหน้าโครงการเผยถึงผลลัพธ์ที่เป็นไปตามคาดหมาย

แน่นอนว่าอุปสรรคในการทำงานถือเป็นเรื่องธรรมดา เช่นเดียวกันกับคณะทำงานของ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ซึ่งสำหรับตัวของหัวหน้าโครงการเองก็มีภารกิจหลายอย่าง ทำให้เวลาเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่ง แต่ด้วยความตั้งใจที่จะให้โครงการนี้สำเร็จอย่างจริงจัง จึงทำให้ต้องยกเลิกหรือชะลอโครงการอื่นไปก่อนเพื่อไม่ให้กระทบกับการคัดสรรหนังสือวิทยาศาสตร์ดีๆ ทั้ง 100 เล่ม และการตัดสินใจยิ่งยากเข้าไปอีกเมื่อจำนวนหนังสือที่คัดเลือกได้เริ่มเหลือเกิน 100 เล่มไม่มากนัก

"การเขียนบทวิเคราะห์วิจารณ์หนังสือก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นับว่ายาก และท้ายทายต่อคณะทำงานอย่างยิ่ง คณะทำงานมีเป้าหมายอยากให้ผู้อ่านรู้จักว่าหนังสือเล่มนี้เป็นอย่างไร ทำไมถึงได้รับคัดเลือก ซึ่งถ้าจะเขียนให้ได้เนื้อหาอย่างที่อย่างจะเขียน คิดว่าอย่างต่ำคงได้ประมาณ 10 หน้า ต่อ 1 เล่ม แต่ว่าก็เป็นไปไม่ได้ และเราไม่ต้องการให้หนังสือหนามากจนเกินไป จึงต้องเขียนให้มีความกระชับ อย่างน้อยให้คนอ่านได้รู้ถึงจุดเด่นของหนังสือ และประวัติของผู้เขียน แต่ด้วยความที่ต้องการให้งานออกมาสมบูรณ์ที่สุด สุดท้ายแล้วหนังสือที่ออกมาก็หนากว่าที่คิดไว้ว่าจะไม่ให้เกิน 200 หน้า ทว่าก็รู้สึกว่ามีความคุ้มค่ามาก" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ เล่าถึงความท้าทายในการทำงาน

"ส่วนเป้าหมายของโครงการที่ต้องการรวบรวมหนังสือวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด ก็คิดว่าอาจจะมีบางเล่มที่ตกหล่นไป ไม่ได้อยู่ในจำนวนที่รวบรวมมาได้ แต่พวกเราก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ และคิดว่าส่วนใหญ่ก็ได้หนังสือที่แทนสภาพหนังสือวิทยาศาสตร์ในบ้านเราตามที่เราตั้งความคาดหวังเอาไว้แล้ว" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ แจงข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นได้ และหากผู้อ่านพบว่ามีหนังสือวิทยาศาสตร์เล่มไหนตกหล่นไป ก็สามารถแจ้งเพิ่มเติมกับคณะผู้ทำงานได้

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ เผยต่อว่าหนังสือวิทยาศาสตร์ประเภทที่เรียกว่าฮาร์ดคอร์ (Hard core) ของประเทศเรายังมีน้อย ซึ่งเขาอยากเห็นหนังสือประเภทนี้มากขึ้นและเขียนโดยคนไทย เช่นเดียวกับเรื่อง เอกภพ ดังข้างต้น และที่น่าสนก็คือหนังสือรวมเรื่องสั้นอีก 3 เล่ม ได้แก่ ใครทำร้ายโลก, ชีวิตแลกไฟฟ้า และผู้พิชิต ซึ่งเป็นผลงานของเยาวชนที่ส่งเข้าร่วมประกวดในโครงการส่งเสริมการเขียนเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน

"น่าสนใจเพราะเป็นผลงานของเยาวชน แสดงให้เห็นว่าพวกเขามีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ได้ กล้าแสดงออก และหากเขาได้มีโอกาสพัฒนา ก็น่าจะมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นมาก จึงคิดว่าน่าจะมีการติดตามเด็กเหล่านี้ต่อว่าเดี๋ยวนี้พวกเขาทำอะไรกันอยู่บ้าง เพราะจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ผ่านไปแล้วกว่า 16 ปี ปัจจุบันเป็นอย่างไรกันบ้าง มีใครดำเนินชีวิตเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์หรือหนังสือวิทยาศาสตร์กันอย่างไร" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ เอ่ยถึงเหล่าเยาวชนเจ้าของผลงานเขียนดีๆ เมื่อหลายปีก่อน

นอกจากนี้ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ยังบอกอีกว่าอยากเห็นนิยายวิทยาศาสตร์จากฝีมือนักเขียนไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งต้องพัฒนากันต่อไป เพราะปัจจุบันยังมีน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ด ไซน์-ไฟ (Hard sci-fi), ซอฟต์ ไซน์-ไฟ (Soft sci-fi) หรือนิยายวิทยาศาสตร์แฟนตาซี
แม้ว่าจะมีนักเขียนหน้าใหม่เกิดขึ้นมากก็จริง แต่ยังมีความหลากหลายน้อย จึงอยากเห็นการพัฒนาที่ทะลุกรอบการประกวดหรือทั่วๆ ไป ทั้งแนวความคิด วิธีการเขียน และเนื้อหา ตัวอย่างเช่น วินทร์ เลียววาริณ ซึ่งเป็นตัวอย่างการเขียนแนวใหม่ และปราบดา หยุ่น ที่แสดงความท้าทายทางด้านความคิดและวิธีการนำเสนอออกมาในเรื่อง "ชิทแตก" ซึ่งคิดว่าต้องมีเวทีให้แสดงความสามารถมากขึ้นจึงจะมีนักเขียนคุณภาพหน้าใหม่เกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ ทางโครงการตั้งเป้าไว้ว่าอยากจะแจกจ่ายหนังสือ "100 เล่มหนังสือดีวิทยาศาสตร์" ให้กับห้องสมุดของสถาบันการศึกษาทั่วประเทศเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปให้ได้อย่างน้อย 500 แห่ง ซึ่งหากผู้ใดสนใจจะร่วมให้การสนับสนุนเพิ่มเติม หรือสถาบันการศึกษาแห่งใดต้องการขอรับหนังสือดังกล่าว สามารถติดต่อได้ที่ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล e-mail : kshaiwat2@hotmail.com
รศ.ดร.ชัยวัฒน์ เป็นหนึ่งในนักเขียนแนววิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของไทย ซึ่งตัวเขาเองก็อยากเห็นนักเขียน ไซ-ไฟ หน้าใหม่ที่มีไอเดียบรรเจิดเกิดขึ้นมากในบ้านเรา
บรรดาหนังสือที่ได้รับยกย่องอยู่ใน 100 เล่มหนังสือดีวิทยาศาสตร์ ที่น่าหยิบจับมาอ่านทั้งนั้น
ส่วนหนึ่งของหนังสือดีวิทยาศาสตร์ประเภทบันเทิงคดี
ส่วนหนึ่งของหนังสือดีวิทยาศาสตร์ประเภทสารคดีและความรู้ทั่วไป
กำลังโหลดความคิดเห็น