xs
xsm
sm
md
lg

ชะตากรรม "หนังสือกระดาษ" จะอยู่หรือไปในยุค "อีบุ๊ค" เฟื่องฟู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนังสือกระดาษ ที่เรียงรายอยู่นี้ จะกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งในอนาคตหรือไม่ เมื่อ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ เริ่มเข้ามามีบทบาทบ้างแล้วในปัจจุบัน
"บิล เกตส์" อาจจะคอนเฟิร์มว่า "หนังสือกระดาษสูญพันธุ์ชัวร์" ข้างฝ่ายนักเขียน-นักอ่าน ส่วนใหญ่อาจพร้อมใจกันฟันธงว่า "หนังสือกระดาษไม่มีทางสูญพันธุ์แน่นอน" แล้วคุณผู้อ่านล่ะ คิดเห็นกันอย่างไรบ้าง แต่ก่อนที่ใครจะฟันเฟิร์มกันไปต่างๆ นานา เราลองมาดูกันว่า นักเขียนที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการน้ำหมึกมานาน มีมุมมองต่อเรื่องนี้กันอย่างไรบ้าง

นักคิดนักเขียนเปิดเวทีร่วมเสวนาเรื่อง "หนังสือกระดาษจะสูญพันธุ์จริงหรือ?" ในระหว่างงานเปิดตัว "100 เล่มหนังสือดีวิทยาศาสตร์" ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต เมื่อวันที่ 28 ม.ค.52 ที่ผ่านมา โดยมี รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล เป็นผู้ดำเนินการเสวนา และมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังมากมาย รวมทั้งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์ และสื่อมวลชนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งผู้ร่วมเสวนาแต่ละคนต่างก็มีความคิดและเหตุผลแตกต่างกันไป

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ เกริ่นนำว่า หนังสือกระดาษเริ่มเป็นประเด็นร้อนมาพักใหญ่แล้ว ตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้น ซึ่งก็เคยมีคนพูดกันว่า ต้องนับถอยหลังให้กับเวลาของหนังสือกระดาษกันแล้ว แม้แต่เจ้าพ่อไมโครซอฟท์อย่าง บิล เกตส์ ยังเคยกล่าวไว้ตั้งแต่ยังไม่เข้าศตวรรษที่ 21 ว่า "ใกล้จะหมดยุคของหนังสือกระดาษแล้ว อีกไม่นานจะไม่มีหนังสือกระดาษอีกต่อไปแล้ว" และปัจจุบันก็มีหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ "อีบุ๊ค" (e-book) เกิดขึ้นแล้วด้วย

นอกจากนั้น หนังสือกระดาษยังเข้าไปพัวพันกับปัญหาภาวะโลกร้อนด้วย ซึ่งนิตยสารบางฉบับในต่างประเทศ ได้ทำการวิจัยว่ากว่าจะผลิตนิตยสาร 1 ฉบับ ออกมาถึงมือผู้อ่านนั้นต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่ตัดต้นไม้ เข้าสู่การแปรสภาพ เข้าโรงพิมพ์ และใช้พลังงานไปจำนวนหนึ่ง ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบได้กับเปิดไฟทิ้งไว้ประมาณ 4 ดวง

"หนังสือกระดาษ" ยังมีดีเหนือกว่า "อี-บุ๊ค" ทั้งราคา และอายุการใช้งาน

นายสาโรจน์ เกษมสุขโชติกุล บรรณาธิการนิตยสารไซน์เวิลด์ (SCIENCE WORLD) หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ฟันธงชัดเจนเลยว่า "หนังสือกระดาษไม่มีวันสูญพันธุ์แน่นอน" โดยเขาได้ยกตัวอย่างถึงสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนสื่ออื่นๆ ต่อมาสื่อวิทยุเริ่มเกิดขึ้น ก็มีการคาดกันว่า จะเข้ามาแทนที่และทำให้สื่อสิ่งพิมพ์หมดไป

แต่ก็ไม่เป็นไปตามนั้น จนมีสื่อโทรทัศน์เกิดขึ้นมาอีก ก็คาดกันเหมือนเดิมอีกว่า สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุจะตาย แต่สุดท้ายก็ยังอยู่ครบทุกสื่อจนถึงวันที่สื่ออินเทอร์เน็ตเพิ่มเข้ามา เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่สื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งมาก่อนสื่อวิทยุนานมาก จะตายลงได้ง่าย แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในด้านส่วนแบ่งการตลาด

พร้อมกันนี้นายสาโรจน์ยังได้ยกตัวอย่างให้เห็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์บางประเภท เช่น อีบุ๊คที่มีขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าโน้ตบุ๊ค และมีน้ำหนักไม่มาก สามารถบรรจุหนังสือได้ประมาณ 100 เล่ม พกพาไปไหนมาไหนได้ทั้งหมด หน้าจอเป็นหมึกอิเล็กทรอนิกส์ อ่านง่าย ให้ความสบายตากว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไป ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมในบางประเทศแล้ว

อย่างไรก็ตาม เขาก็ยังเห็นว่าหนังสือกระดาษได้เปรียบกว่า ทั้งเรื่องราคาถูกกว่า พกพาได้สะดวกกว่า ไปกับเราได้ทุกที่ อ่านได้นานกว่าโดยไม่มีเวลาจำกัด ขณะที่อีบุ๊คมีราคาแพงมาก ต้องอาศัยแบตเตอรี และยังอาจเสียหายได้ง่ายเมื่อเปียกน้ำ แต่หากเป็นหนังสือกระดาษเปียกน้ำ ก็สามารถทำให้แห้งแล้วอ่านต่อได้อีก

"ส่วนเรื่องที่บอกว่าหนังสือกระดาษทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ผมเห็นด้วยแค่ส่วนหนึ่ง และคิดว่ายังไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะทำให้หนังสือกระดาษหมดไป เพราะต้นไม้ไม่ใช่แค่ปลูกให้โตแล้วตัดได้เลย แต่ช่วงที่ต้นไม้เติบโต ก็สร้างออกซิเจนให้เรามากมาย และโดยทั่วไปต้นไม้ที่ใช้ก็เป็นต้นไม้ที่ปลูกไว้สำหรับผลิตกระดาษอยู่แล้ว ไม่ได้ตัดจากป่าธรรมชาติ ขณะที่การผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ต้องใช้พลังงานจำนวนมากกว่าจะได้ชิ้นส่วนแต่ละอย่าง ซึ่งต้องคำนวณส่วนได้ส่วนเสียให้ดีว่าอะไรมีมากน้อยกว่ากัน" ความเห็นของบรรณาธิการนิตสารไซน์เวิลด์

"อินเทอร์เน็ต" เหมาะสำหรับสืบค้น และเป็นเวทีให้มือใหม่หัดเขียน

ด้านนายจิตติ หนูสุข กรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย มีมุมมองเป็น 2 ทาง มุมมองแรกคือหนังสือกระดาษจะสูญพันธุ์แน่นอน ถ้ามนุษย์ยังไม่หยุดทำร้ายโลกและทำลายสิ่งแวดล้อม แต่หากมองอีกมุมหนึ่งเขาเชื่อมั่นว่าหนังสือกระดาษจะไม่มีทางสูญพันธุ์แน่นอน

เขาย้อนวันวารว่าในสมัยเด็ก พวกเรามักจะตื่นเต้นดีใจเมื่อได้หนังสือเรียนเล่มใหม่จนถึงกับหยิบมากอดมาหอมก็มี และเมื่อเขากลายมาเป็นนักเขียน ได้ทำงานเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ พวกเขาก็มักรู้สึกตื่นเต้นอยู่เสมอกับการรอคอยว่าหนังสือเล่มใหม่ที่พวกเขาเขียนขึ้นหรือจัดพิมพ์ขึ้นจะพิมพ์เสร็จวันไหนเมื่อไหร่

นายจิตติยังกล่าวถึงลักษณะนิสัยของนักอ่านว่ามักชอบเดินเที่ยวตามร้านหนังสือต่างๆ รวมทั้งตัวเขาเองด้วย มีโอกาสเมื่อไหร่ก็มักไปร้านหนังสือเป็นประจำ เพื่อชื่นชมหนังสือออกใหม่ และเลือกซื้อเล่มที่ถูกใจมาอ่าน แต่หากไม่มีหนังสือกระดาษ สิ่งเหล่านี้ก็คงหายไป

"ส่วนอินเทอร์เน็ตนั้น ผมว่าเหมาะสำหรับสืบค้นข้อมูลมากกว่า หรืออ่านเพลิดเพลินสั้นๆ แต่คงไม่เหมาะที่จะอ่านเรื่องยาว หรืออาจจะเหมาะสำหรับนักเขียนมือใหม่ที่ยังไม่มีผลงานตีพิมพ์ เพื่อใช้เป็นเวทีแสดงผลงาน เพื่อให้แมวมองหรือบรรณาธิการมือทองได้มาอ่าน ดูความนิยมก่อน และนำไปตีพิมพ์ต่อไป" นายจิตติ กล่าว

วัฒนธรรมไม่สูญสลายง่าย แต่เครื่องมือที่ใช้อาจเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า

สำหรับนายวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ บรรณาธิการนิตยสารอะเดย์ (A Day) มีความคิดเห็นต่างออกไปจากเพื่อน โดยเขาเห็นว่า "หนังสือกระดาษจะต้องสูญพันธุ์ไปอย่างแน่นอน แต่เมื่อไหร่ยังไม่มีใครรู้"

ทั้งนี้ บรรณาธิการนิตยสารอะเดย์บอกว่า เขาเคยตอบคำถามนี้ไปแล้วเมื่อสิบกว่าปีก่อนตอนที่คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพิ่งจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในช่วงแรก แต่มาถึงวันนี้ความคิดของเขาเปลี่ยนไป เมื่อเห็นการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากและรวดเร็วเกินคาดคิด

นายวงศ์ทนงเอ่ยชวนผู้ร่วมฟังสัมมนาให้ย้อนนึกถึงโทรศัพท์มือถือรุ่นแรกๆ ที่มีขนาดใหญ่เกือบเท่าท่อนแขน บางคนเรียกกระติกน้ำ และมีราคาแพงมากถึงหลักแสน จนถึงปัจจุบันนี้โทรศัพท์มือถือเปลี่ยนไปมากมาย ทั้งรูปร่างหน้าตา ฟังก์ชันการทำงาน และแอพลิเคชันต่างๆ

"หากเป็นเมื่อสิบกว่าปีก่อน ที่โทรศัพท์มือถือยังมีขนาดเท่ากระติกน้ำอยู่ และมีใครสักคนเดินมาบอกว่าเดี๋ยวอีกหน่อยโทรศัพท์มือถือจะถ่ายรูปได้ ผมว่าคนนั้นต้องเข้าข่ายบ้าแน่นอน โทรศัพท์มือถือจะถ่ายรูปได้ จะฟังเพลงได้ จะดูโทรทัศน์ได้ สิบกว่าปีที่แล้วผมเชื่อว่าไม่มีใครกล้าพูดอย่างนี้ ยกเว้นนักวิทยาศาสตร์หรือนักเขียนนิยายไซไฟที่อาจจะทำนายเอาไว้บ้าง" นายวงศ์ทนง กล่าว

"สิบกว่าปีก่อนที่เคยตอบนักข่าวคนหนึ่งไปว่า หนังสือกระดาษไม่มีทางสูญพันธุ์แน่นอน มาวันนี้ผมคงต้องขอเปลี่ยนความคิดแล้วครับ เพราะทุกอย่างมีไดนามิก มีพัฒนาการอยู่เสมอ สิบกว่าปีที่แล้วใครจะเชื่อว่าประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจะเป็นคนผิวสี ผมว่ามันมีอยู่แต่ในนิยายไซไฟหรือในหนังฮอลลีวูดเท่านั้น"

"ผมมีความรู้สึกว่าโลกทุกวันนี้มันเป็นโลกที่เราคาดไม่ถึง เป็นโลกที่คาดเดาไม่ได้ อะไรๆ มันก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าใครมาถามผมทุกวันนี้ว่า วันนึงหนังสือกระดาษจะสูญพันธุ์หรือเปล่า ผมคิดว่าผมจะตอบว่า สูญพันธุ์แน่ๆ ครับ แต่เมื่อไหร่เท่านั้นเอง" คำยืนยันของบรรณาธิการนิตยสารอะเดย์

นอกจากนี้เขายังกล่าวเปรียบเทียบว่า วัฒนธรรมการอ่านหยั่งรากฝังลึกมายาวนานมาก และช่วงเวลานั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงวัสดุในการอ่านไปมากมาย ตั้งแต่หิน หนังสัตว์ กระดูกสัตว์ กระดองสัตว์ เรื่อยมาจนถึงกระดาษ ดังนั้นเขาจึงเชื่อว่า กระดาษ ซึ่งเป็นวัสดุการอ่านอย่างหนึ่ง สักวันหนึ่งจะต้องถูกแทนที่ด้วยอุปกรณ์อื่นอย่างแน่นอน ซึ่งอาจจะเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ดังว่าที่ตอบสนองไลฟ์สไตน์ของคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และโลกไซเบอร์ ได้มากกว่า

ท้ายที่สุด นายวงศ์ทนงก็ขอภาวนาให้ (เช่นเดียวกับหลายๆ คนที่อยากขอภาวนาให้) หนังสืออย่าเพิ่งหายไปในช่วงชีวิตของเขา (เรา) เลย
รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล (ขวา)
นายสาโรจน์ เกษมสุขโชติกุล
นายจิตติ หนูสุข
นายวงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์
ผู้สนใจเข้าร่าวมฟังการเสวนาประเด็นแนวโน้มของหนังสือกระดาษในอนาคตจำนวนมาก
นายเชษฐา สุวรรณสา (ยืนถือไมโครโฟน) นักเขียนไซไฟรุ่นใหม่ ร่วมแสดงความคิดเห็น
อีบุ๊คหรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังถูกจับตามองว่าจะเข้ามาแทนที่และอาจทำให้หมดยุคของหนังสือกระดาษในอนาคต (ภาพประกอบข่าวจา www.edtechpark.net)
กำลังโหลดความคิดเห็น