xs
xsm
sm
md
lg

"เซิร์น" ที่สุดแห่งข่าววิทย์รอบโลกในรอบปี 51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปฏิบัติการค้นหาอนุภาคพระเจ้าเป็นที่ฮือฮาและน่าจับตามองของคนทั่วทั้งโลกว่าจะพบสิ่งที่คาดหวังหรือไม่ และจะทำให้โลกแตกจริงรึเปล่า จนกลายเป็นข่าวดังสุดๆ ในแวดวงวิทยาศาสตร์เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ผู้จัดการวิทยาศาสตร์เลยยกให้เป็นข่าวเด่นแห่งปี 2551 แบบไม่ต้องคิดมาก และตามมาด้วยอีก 4 ข่าวเด่นในรอบปีที่น่าตื่นเต้นไม่แพ้กัน

ตราบที่โลกยังหมุนรอบดวงอาทิตย์ปีแล้วปีเล่า นักวิทยาศาสตร์ก็ยังคงเดินหน้าค้นคว้าวิจัยกันต่อไป เพื่อตอบข้อสงสัยที่ค้างคาใจมานาน อันนำไปสู่การคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตมนุษย์ได้ ดังเช่นตลอดช่วงปี 2551 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนั้น ก็มีเรื่องราวที่น่าตื่นเต้นเกิดขึ้นในโลกวิทยาศาสตร์มากมาย ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้คัดสรร 5 เรื่องเด่นในรอบปีของวิทยาศาสตร์รอบโลก
อุปกรณ์ต่างๆ ของเซิร์นภายในอุโมงค์ใต้ดินที่ยาวถึง 27 กิโลเมตร สำหรับปฏิบัติการค้นหาอนุภาคพระเจ้าเพื่ออธิบายการกำเนิดของจักรวาล (ภาพจากแฟ้ม)
1. "เซิร์น" กับปฏิบัติการไขปริศนากำเนิดจักรวาล

นับเป็นการทดลองที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ ที่ประวัติศาสตร์โลกต้องจารึกไว้ เมื่อองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนาทางด้านนิวเคลียร์ (European Center for Nuclear Research) หรือ "เซิร์น" (CERN) สร้างเครื่องเร่งอนุภาคขนาดยักษ์ หรือแอลเอชซี (Large Hadron Collider: LHC) เพื่อพิสูจน์ทฤษฎีการก่อกำเนิดของจักรวาล และค้นหาอนุภาคพระเจ้า ภายในอุโมงค์ยาว 27 กิโลเมตร ที่อยู่ลึกลงไป 100 เมตร ใต้พิภพพรมแดนระหว่างสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส ซึ่งใช้เวลาเตรียมการณ์มานานถึง 2 ทศวรรษ

เพราะการค้นหาอนุภาคพระเจ้าของเซิร์นจะต้องบังคับให้อนุภาคโปรตอนชนกันและเกิดหลุมดำ ทำให้หลายคนหวั่นวิตกว่าโลกจะสูญสลายในพริบตา หากเดินเครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซี จนมีเรื่องราวฟ้องร้องถึงชั้นศาล แต่เซิร์นก็ฝ่าฟันอุปสรรคไปได้และได้ยิงลำแสงแรกในที่สุดเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 51

ทว่าหลังจากอุ่นเครื่องแอลเอชซีได้ประมาณหนึ่งสัปดาห์ก็เกิดปัญหาฮีเลียมรั่วเข้าสู่อุโมงค์ แม้จะไม่ส่งผลเสียร้ายแรง แต่ก็ทำให้เซิร์นต้องยุติการทดลองเอาไว้ชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อผิพลาด และคาดว่าจะเปิดเดินเครื่องได้อีกครั้งราวกลางปี 52 แม้กระนั้นนิตยสารไทม์ก็ยังยกให้เครื่องเร่งอนุภาคแอลเอชซีของเซิร์นเป็น 1 ใน 50 สุดยอดนวัตกรรมแห่งปี 2551
ภาพยานฟีนิกส์เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2551 ขณะลอยอยู่เหนือพื้นผิวดาวอังคารเพียง 1 เมตร (ภาพจาก รอยเตอร์)
2. "ฟีนิกซ์" ปฏิบัติการค้นหาสัญญาณชีวิตบนดาวแดง

ไฮไลต์การสำรวจอวกาศขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ หรือนาซา (NASA) ในปีนี้พุ่งเป้าไปที่ดาวอังคารภายใต้ปฏิบัติการของยาน "ฟีนิกซ์ มาร์ส แลนเดอร์" (Phoenix Mars Lander) ที่ออกเดินทางจากโลกเมื่อวันที่ 4 ส.ค. 50 และถึงจุดหมายในวันที่ 26 พ.ค. 51 จากนั้นฟีนิกซ์ก็เริ่มภารกิจในการขุดชั้นดินบนดาวแดง เพื่อวิเคราะห์หาสัญญาณของชีวิต

ปฏิบัติการครั้งแรกของฟีนิกส์ก็ทำท่าว่าจะรุ่ง เพราะเอานักวิทยาศาสตร์บนโลกตื่นเต้นกันยกใหญ่ เมื่อขุดเจอร่องรอยคล้ายน้ำแข็ง ต่อมาก็ตรวจจับสัญญานของหิมะได้ พร้อมกับพบแร่ธาตุที่พอจะเป็นหลักฐานการเคยมีหรือมีอยู่ของน้ำบนดาวอังคาร แต่หนทางการสำรวจดาวแดงของฟีนิกส์ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด เพราะเกิดเหตุติดขัดอยู่เรื่อยๆ อาทิ ระบบสื่อสารขัดข้อง ตักดินส่งไม่ถึงช่องวิเคราะห์ ทำให้ต้องชะงักการทำงานชั่วคราวเป็นระยะๆ แต่ฟีนิกซ์ก็ปฏิบัติภารกิจได้นานเกินกว่า 90 วัน ตามที่นาซากำหนดไว้ ก่อนจะยุติบทบาทอย่างถาวรเมื่อเดือน พ.ย. 51
เครก เวนเทอร์ ผู้นำนักวิทยาศาสตร์ทำการสังเคราะห์จีโนมของแบคทีเรียเป็นผลสำเร็จครั้งแรก นับเป็นการบุกเบิกนวัตกรรมประดิษฐ์สิ่งมีชีวิตใหม่ (ภาพจากแฟ้ม)
3. "สิ่งมีชีวิตสร้างได้" ปรากฏการณ์ใหม่แห่งโลกเทคโนโลยีชีวภาพ

ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อโครงการจีโนมมนุษย์ จีโนมของแบคทีเรียก็คงเป็นเรื่องขี้ประติ๋วสำหรับ "เครก เวนเทอร์" (Craig Venter) นักวิทยาศาสตร์ผู้มักสร้างความฮือฮาให้กับวงการเทคโนโลยีชีวภาพอยู่บ่อยครั้ง และยังติด 1 ใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลของโลก 2 ปีซ้อน จากการจัดอันดับโดยนิตยสารไทม์ โดยในปีนี้เขาประกาศความสำเร็จในการสังเคราะห์จีโนมทั้งหมดของสิ่งมีชีวิตได้เป็นครั้งแรกด้วยวิธีการในห้องแล็บ โดยการเลียนแบบจีโนมของแบคทีเรีย "ไมโคพลาสมา เจนิทาเลียม" (Mycoplasma genitalium) ที่มีอยู่ประมาณ 582,000 คู่เบส

แม้เป้าหมายของเวนเทอร์คือพัฒนาเทคนิคการสร้างเซลล์ที่มีชีวิตขึ้นมาจากกระบวนการสังเคราะห์ทางเคมีในห้องแล็บ รวมทั้งการดัดแปลงหรือออกแบบสิ่งมีชีวิตใหม่ได้ตามต้องการ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยทั้งด้านการแพทย์และสิ่งแวดล้อม แต่ก็เป็นที่น่าจับตามองว่าการทดลองสร้างโครโมโซมของจุลชีพในครั้งนี้อาจเป็นการปูทางไปสู่การสร้างและออกแบบสิ่งมีชีวิตใหม่ที่ใหญ่กว่านี้ได้ในอนาคต ทว่าก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะเกิดขึ้น ทั้งเหตุผลทางด้านเทคโนโลยี จริยธรรม และการยอมรับของสังคม ดังตัวอย่างที่มีให้เห็นก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการตัดต่อพันธุกรรม และการโคลนนิง
มองตากนิแยร์ และ กัลโล แม้ว่าจะช่วงชิงตำแหน่งผู้ค้นพบเอชไอวีเป็นคนแรก แต่ทั้งคู่ก็ยังร่วมมือเขียนงานวิจัยด้วยกันหลายชิ้น แต่สุดท้ายก็ไม่ได้รับโนเบลร่วมกันอยู่ดี (ภาพจากแฟ้ม)
4. รอยด่าง "รางวัลโนเบล 51"

ประกาศและมอบรางวัลเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับ "รางวัลโนเบล ประจำปี 2551" สุดยอดรางวัลอันทรงเกียรติที่มีมานานกว่าร้อยปี และเป็นเวทีที่ใฝ่ฝันของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก

ทว่าเมื่อมีการเริ่มต้นประกาศรางวัลแรกเมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ในสาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์ ที่ปีนี้มอบให้กับ 3 นักวิทย์ผู้ค้นพบเชื้อเอชพีวี (HPV) และ (HIV) ที่ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์ เพราะขาดรายชื่อโรเบิร์ต กัลโล (Robert Gallo) จากสหรัฐฯ ในฐานะผู้ค้นพบไวรัสเอชไอวีร่วมกับ ลุค มองตากนิแยร์ (Luc Montagnier) และ ฟรังซัวร์ แบร์เร-ซีนอยซี (Francoise Barre-Sinoussi) จากฝรั่งเศสที่ได้ครองรางวัลกันทั้งสองคน

ไม่กี่วันถัดมาก็ถึงคราวสาขาฟิสิกส์บ้าง เมื่อรางวัลทั้งหมดตกเป็นของ 3 นักวิทย์เชื้อสายญี่ปุ่น จากการค้นพบต้นกำเนิดการทำลายสมมาตรที่เกิดขึ้นเอง (Spontaneous symmetry breaking) ทำให้วงการนักวิทยาศาสตร์เมืองมะกะโรนีขุ่นเคืองขึ้นมาทันที เพราะว่าไม่มี นิโคลา คาบิบโบ (Nicola Cabibbo) นักฟิสิกส์อิตาลี รวมอยู่ด้วย ทั้งที่จริงแล้วคาบิบโบคือบุคคลแรกที่เข้าใจกลไกปรากฏการณ์ของควาร์ก ซึ่งได้รับการต่อยอดโดยผู้ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ของปีนี้

เมื่อย้อนกลับไปทบทวนการมอบรางวัลในอดีต ก็พบว่ามีนักวิทยาศาสตร์ไม่น้อยที่สมควรได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ แต่กลับพลาดไปอย่างน่าเสียดายและไม่สมเหตุสมผลเท่าที่ควร
ผู้บริหารโครงการอวกาศอินเดีย ชูมือไชโย ภายหลังส่ง จันทรายาน 1 ทะยานฟ้ามุ่งสู่ดวงจันทร์เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 22 ต.ค. 51 (เอเอฟพี)
5. "จันทรายาน" ยานอวกาศสำรวจดวงจันทร์ลำแรกแห่งแดนภารตะ

เริ่มเข้าสู่ยุคทองของการชิงชัยความเป็นเจ้าอวกาศแห่งเอเชียแล้ว เมื่อทั้งญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ลงสนามแข่งขันกันส่งยานอวกาศออกไปสำรวจดวงจันทร์ โดยญี่ปุ่นและจีนออกสตาร์ตไปก่อนตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และปีนี้อินเดียก็ตามไปสมทบ โดยส่ง "จันทรายาน 1" (Chandrayaan-1) ออกเดินทางไปเมื่อ 22 ต.ค. 51 และถึงดวงจันทร์เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 51

ก่อนหน้านี้มีเพียงสหรัฐฯ และรัสเซียเท่านั้นที่ขับเคี่ยวกันด้านเทคโนโนโลยีอวกาศมาตลอด 50 ปี โดยที่ระยะหลังมีกลุ่มประเทศในยุโรปโดดเข้าไปร่วมวงด้วย ส่วนประเทศในแถบเอเชียมักเข้าร่วมโดยการส่งนักบินอวกาศของตนเองไปร่วมปฏิบัติงานบนสถานีอวกาศ แต่หลังจากนี้ไปการชิงชัยตำแหน่งผู้นำด้านสำรวจอวกาศของเอเชียจะเข้มข้นขึ้นเรื่อย เมื่อญี่ปุ่น จีน และอินเดีย พร้อมใจกันส่งยานไปสำรวจดวงจันทร์ในเวลาไล่เลี่ยกัน

โดยเฉพาะรายหลังสุดเป็นที่ฮือฮาและน่าจับตามากเป็นพิเศษ เพราะแต่ก่อนในสายตาชาวโลกมองเห็นแต่ความอดอยาก ความยุ่งเหยิง และความขัดแย้งในอินเดีย แต่ท่ามกลางสิ่งเหล่านั้นก็ผลักดันให้อินเดียเจริญก้าวหน้าและกำลังขึ้นแท่นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีรายใหม่แห่งเอเชีย
กำลังโหลดความคิดเห็น