xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาประเทศกำลังพัฒนาต้องรับภาระ ลดก๊าซเรือนกระจก 60% ต่อหัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

Stavros Dimas คณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป ขณะเข้าร่วมประชุมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทีประเทศโปแลนด์ เมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา (เอเอฟพี)
จะหวังให้ประเทศอุตสาหกรรมลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนเพียงลำพังไม่ได้เสียแล้ว เหล่าประเทศกำลังพัฒนา ต้องเร่งดำเนินการด้วย เพราะเสร็จสิ้นการประชุมที่โปแลนด์ ก็มีรายงานทางวิชาการออกมาว่า แค่มาตรการของ 2 ยักษ์ใหญ่ สหรัฐฯ-อียู ไม่เป็นผลอย่างแน่นอน

การประชุมนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ที่เมืองปอซนัน ประเทศโปแลนด์ ระหว่างวันที่ 1-12 ธ.ค. 51 ได้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการแล้ว โดยบีบีซีนิวส์ได้เผยสรุปรายงานของนักวิชาการ จาก 2 เครือข่ายองค์กร ว่ามาตรการของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมที่มีอยู่ตอนนี้ยังไม่เพียงพอ และประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือ “ไอพีซีซี” (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่าทั่วโลกจะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งของปริมาณในปี 2533 ให้ได้ภายในปี 2593 ซึ่งน่าจะช่วยให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอีกไม่เกิน 2.5 องศาเซลเซียสได้ และหลีกเลี่ยงมหันตภัยรุนแรงอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้

กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมในจี 8 (G8) ยอมรับในมติดังกล่าว ขณะที่บางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร ยังคงต้องการรักษาระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตนภายในปี 2593 ให้ลดลง 80% จากปี 2533

องค์กรประเทศโลกที่ 3 (Third World Network) ได้ประเมินแล้วพบว่าหากว่ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมทั้งหมดในโลกเห็นชอบกับฉันทามตินี้ กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ประมาณ 23% เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่จะลดลงได้ 50% ทั่วโลก และเมื่อคิดเฉลี่ยต่อหัวแล้วแต่ละคนจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ประมาณ 60%

หากประเทศกำลังพัฒนาทำได้พอประมาณ จะทำให้ค่าเฉลี่ยต่อหัวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีอัตราคงที่เท่ากับในปี 2533 ซึ่งการเติบโตของประชากรนั้นจะส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมทั้งหมดของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในปี 2593 ซึ่งเป็นปัญหาอย่างยิ่งต่อเป้าหมายของโลกที่วางไว้

นอกจากนี้ยังมีปัญหาอีกว่า แม้ว่าจะมีบางประเทศที่กำลังพัฒนา และกำหนดแผนการพัฒนาพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับควบคุมอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปด้วย แต่ก็ขาดความกระตือรือร้นในหมู่ประชาชน โอกาสทำสำเร็จได้จึงยากมาก

เอวาห์ เอเลอรี (Ewah Eleri) ผู้อำนวยการบริหารศูนย์นานาชาติด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนา (International Centre for Energy, Environment and Development) เมืองอาบูจา ประเทศไนจีเรีย กล่าวว่ายังพอมีหนทางสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนสุดๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ ลดการใช้เตาถ่านแบบดั้งเดิม แล้วเปลี่ยนเป็นเตาที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งน่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วทั้งไนจีเรียได้ราว 20-30%

ขณะที่ทั่วโลกมีประชากรประมาณ 2 พันล้านคน ที่ยังใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิงหลัก และหากจะเปลี่ยนให้ประชาชนในจำนวนนี้ทั้งหมดเปลี่ยนมาใช้เตาที่มีประสิทธิภาพดีกว่า อาจต้องใช้งบประมาณ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นายเอเลอรี ยังระบุอีกด้วยว่าแม้ประเทศกำลังพัฒนาจะสามารถดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจำได้ แต่อย่างไรก็ดี ผู้นำในเรื่องนี้ก็ควรจะเป็นกลุ่มประเทศตะวันตกที่พัฒนาแล้ว

ทั้งนี้กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป (EU) มีมติแล้วว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% เป็นอย่างน้อยภายในปี 2563 ขณะที่นายบารัค โอบามา (Barack Obama) ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไปก็วางเป้าไว้แล้วว่าจะทำให้สหรัฐฯ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้น้อยกว่าในปี 2533 ภายในปี 2563

เครือข่ายภูมิอากาศโลก (Global Climate Network) วิเคราะห์ว่าเพียงแค่มาตรการดังกล่าวของประเทศที่พัฒนาแล้วยังไม่เพียงพอที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ครึ่งหนึ่งในปีที่กำหนดเอาไว้อย่างแน่นนอน แม้ว่าทั้งอียูและสหรัฐฯ จะทำสำเร็จตามเป้าหมายก็ตาม

"พวกเราจะต้องปลดล็อคเพื่อลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา ทว่าเราต้องหาวิถีทางที่เป็นธรรมในการจะทำเช่นนั้น" ข้อเสนอแนะของแอนดรูว์ เพนเดิลตัน ผู้ประสานงานของไอพีพีอาร์ (Institute for Public and Policy Research: IPPR) ในกรุงลอนดอน

ท้ายที่สุดเพนเดิลตันก็ให้ข้อสรุปว่า ประเทศที่ร่ำรวยกว่าจะต้องช่วยเหลือทางด้านการเงินและเทคโนโลยีพลังงานสะอาดแก่ประกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ถ้าหากพวกเขาต้องการไปให้ถึงจุดหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 50% ในปี 2593 อย่างแท้จริง.
รูปแกะสลักจากน้ำแข็งที่ตั้งอยู่ในเมืองพอซแนน โปแลนด์ ขณะจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ (UNFCCC) (บีบีซีนิวส์)
บารัค โอบามา (ซ้าย) ขณะหารือกับ อัล กอร์ อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เกี่ยวกับเรื่องการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา ในชิคาโก (เอพี)
ไอพีซีซีตั้งเป้าว่าทั่วโลกจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ครึ่งหนึ่งของปี 2533 ภายในปี 2593 แต่มาตรการของแต่ละประเทศที่มีอยู่ในขณะนี้ยังไม่มีวี่แววว่าจะทำได้ตามเป้า (เอเอฟพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น