“นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ" นักวิจัยธาลัสซีเมียไทย เผยตั้งเป้า ลดการเกิดใหม่ของโรคให้ได้ 100% หลังทำสำเร็จแล้ว 50% แต่ยังต้องใช้เวลา เผยเด็กไทยเกิดใหม่ปีละ 8-9 แสนราย เป็นพาหะของโรค 30-40% ระบุนอกจากวิธีตรวจเมื่ออายุครรภ์ 8 สัปดาห์ว่าทารกป็นโรคหรือไม่แล้ว ยังมีวิธีตรวจเซลล์จากการผสมเทียมด้วย
เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ทางสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ประกาศรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2551 ซึ่งประกอบด้วยรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม และรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเยี่ยม และนักวิจัยระดับปรมาจารย์อย่าง ศ.นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ โครงการวิจัยธาลัสซีเมีย สถาบันวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เป็นหนึ่งใน 5 ผู้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ที่มอบให้กับนักวิจัยผู้สั่งสมผลงานยาวนานกว่า 5 ปี
ศ.นพ.สุทัศน์ซึ่งศึกษาและวิจัยโรคธาลัสซีเมียร่วม 30 ปี บอกกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลว่า เขาได้ผ่านการรับรางวัลมาหลายครั้ง จึงไม่รู้สึกตื่นเต้นนัก ซึ่งสิ่งที่สำคัญกว่าสำหรับเขาคือการได้ทำงาน
ทั้งนี้ ศ.นพ.สุทัศน์ ได้ศึกษาโรคธาลัสซีเมีย โดยการชักชวนของ ศ.นพ.ประเวศ วะสี และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติให้ข้อมูลกับเราว่า เริ่มมีงานวิจัยธาลัสซีเมียในไทยตั้งแต่ปี 2493 และมาถึงทุกวันนี้ ไทยมีองค์ความรู้เรื่องโรคนี้ โดยสมบูรณ์ตั้งแต่ระดับโมเลกุลไปจนถึงระดับชุมชน และมีผลงานวิจัยตีพิมพ์ต่อเนื่องมากที่สุดในภูมิภาค
“ธาลัสซีเมียเป็นโรคทางพันธุกรรมซึ่งพบมากในไทย โดย 30-40% ของประชากรไทยเป็นพาหะของโรคนี้ พบได้้ทั้งในหญิงและชาย เพราะเป็นโรคที่ถ่ายทอดโดยไม่เกี่ยวกับยีน x ยีน y ตอนนี้เราเข้าใจในพยาธิสภาพของโรค ซึ่งปัญหาใหญ่ๆ คืออาการซีดเรื้อรังและภาวะเหล็กเกิน สำหรับคนที่ซีดมาก ทำได้อย่างเดียวคือเติมเลือด และตอนนี้เรากำลังทดสอบ "ยาขับเหล็ก” ที่สังเคราะห์ขึ้น ถ้าสามารถใช้กับคนได้จะลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้ายาจากต่างประเทศถึง 100 ล้านบาท"
อย่างไรก็ดี ศ.นพ.สุทัศน์ระบุว่า ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้ที่นำไปสู่การควบคุมโรคมาตั้งแต่เกือบ 30 ปีก่อน ซึ่งธาลัสซีเมียเป็นโรคทางพันธุกรรมโรคแรกของไทยที่มีการพัฒนาวิธีการตรวจทดสอบ โดยสามารถตรวจวิเคราะห์อายุครรภ์ตั้งแต่ 8 อาทิตย์ขึ้นไปว่า ทารกในครรภ์เป็นโรคหรือไม่ ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจที่จะตั้งครรภ์ต่อหรือยุติการตั้งครรภ์
“จากองค์ความรู้เรื่องการควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียที่มี เราสามารถลดอุบัติการณ์ของการเกิดใหม่ของธาลัสซีเมียได้ 50% แล้ว ซึ่งอนาคตตั้งเป้าไว้จะทำให้ได้ 100% แต่คงใช้เวลาอีกสักระยะกว่าจะทำได้ถึงเป้าหมาย" ศ.นพ.สุทัศน์กล่าวและบอกว่าไทยมีเด็กเกิดใหม่ปีละ 8-9 แสนคน ซึ่งในจำนวนนั้น 30-40% เป็นพาหะของโรค
นอกจากวิธีตรวจวิเคราะห์ครรภ์ว่าทารกในท้องเป็นโรคธาลัสซีเมียหรือไม่ ศ.นพ.สุทัศน์เผยว่า นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พัฒนาวิธีตรวจจากเซลล์ที่ได้จากการผสมเทียม แต่ปัญหาคือวิธีดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่ผู้รับการตรวจต้องจ่ายค่าผสมเทียมและค่าตรวจวิเคราะห์เซลล์จากการผสมเทียมเอง ขณะที่การตรวจเมื่ออายุครรภ์ได้ 8 สัปดาห์นั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด