xs
xsm
sm
md
lg

สาธิตจุฬาฯ เปิด "ศูนย์โลกและอวกาศ" จัดกิจกรรมโดยเด็กเพื่อเด็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักเรียนในศูนย์สังเกตการณ์โลกและอวกาศ อธิบายข้อมูลสื่อภายในศูนย์ให้กับ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เปิดศูนย์สังเกตการณ์โลกและอวกาศ ณ สาธิตจุฬาฯ ร่วมกับโรงเรี่ยนในแพร่และเพชรบูรณ์ ขยายผลการเรียนเครือข่ายลีซา ติดตั้งสื่อศึกษาดาราศาสตร์จากภาพถ่ายดาวเทียม-อินเทอร์เน็ต จัดกิจกรรมโดย "เด็ก” เพื่อ "เด็ก” หวังขยายผลการเรียนรู้สู่ชุมชน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สนับสนุนการจัดตั้ง "ศูนย์สังเกตการณ์โลกและอวกาศเพื่อการเรียนรู้” (Center for research-based learning on Global Environment Observation: CGEO) ณ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ (ลีซา) เป็นพี่เลี้ยง ทั้งนี้ได้มีพิธีเปิดศูนย์ดังกล่าวเมื่อเช้าวันที่ 29 พ.ย.51 ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมด้วย

ศูนย์สังเกตการณ์โลกและอวกาศเพื่อการเรียนรู้ดังกล่าว เป็นแหล่งข้อมูลสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกและข้อมูลดาราศาสตร์ โดยทำหน้าที่เชื่อมโยงและรวบรวมข้อมูลจากโรงเรียนต่างที่มีสถานีรับสัญญาณต่างๆ แล้วนำมาสร้างเป็นฐานข้อมูลของท้องถิ่น เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของโลกจากข้อมูลที่เชื่อมโยงเป็นภาพ โดยมีทั้งข้อมูลระดับท้องถิ่นและข้อมูลระดับโลกที่ใช้ฐานข้อมูลจากต่างประเทศตรวจคลื่นแผ่นดิน

เบื้องต้นมีความร่วมมือกับโรงเรียนที่มีสถานีรับสัญญาณ 2 แห่งคือ โรงเรียนอนุบาลแพร่ จ.แพร่ ซึ่งรับหน้าที่เฝ้าระวังตรวจคลื่นแผ่นดินไหวจากอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้แล้ว และโรงเรียนเทศบาล 3 (ชาญวิทยา) จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งรับหน้าที่เฝ้าตรวจติดตามพายุในเวลาจริง (Real-time) ด้วยภาพถ่ายดาวเทียมโนอา (NOAA) และเอ็มแซท (MSAT) และรับคำแนะนำจากศูนย์ลีซา ซึ่งรับหน้าที่พี่เลี้ยง

นอ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์หรือลีซา กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ศูนย์แห่งนี้จะเป็นการขยายผลของเยาวชนในโครงการลีซา ซึ่งดำเนินการโดยเยาวชนเอง จากเดิมที่จะมีการอบรมให้ความรู้ที่ศูนย์ลีซา ศูนย์สังเกตการณ์โลกและอวกาศในโรงเรียนนี้ก็สามารถจัดกิจกรรมขึ้นมาเองได้

ทั้งนี้มีหลายโรงเรียนในเครือข่ายของลีซาที่มีศักยภาพจัดตั้งศูนย์ ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะแยกย้ายกันตรวจวัดข้อมูลในส่วนที่รับผิดชอบและแลกเปลี่ยนระหว่างกัน โดยมีศูนย์สังเกตการณ์โลกและอวกาศของโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ เป็นศูนย์กลาง

“เป็นการขยายแนวคิดของลีซาสู่โรงเรียน มาถึงจุดนี้ เขาก็จะเชี่ยวชาญกว่าเราแล้ว เพราะเขาอยู่กับท้องถิ่น สำหรับศูนย์ที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วคือ สาธิตจุฬาฯ อนุบาลแพร่ และเทศบาล 3 จ.เพชรบูรณ์ ส่วนยังก้ำกึ่งคือโรงเรียนทางภาคใต้ ซึ่งเขามีศูนย์ดาราศาสตร์อิสลามอยู่แล้ว หรือโรงเรียนศึกษานารีในกรุงเทพฯ ซึ่งมีงานวิจัยอยู่เยอะ แต่ยังต้องดูความพร้อมของโรงเรียนในการตั้งศูนย์" นอ.ฐากูรกล่าว

ผู้อำนวยการศูนย์ลีซากล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์อีกว่า งานของลีซานั้นเป็นงานของเด็กเพื่อเด็ก โดยเครือข่ายของลีซาจะเริ่มจากเด็กก่อนที่จะขยายสู่ระดับโรงเรียน เช่น นักเรียนบางคนในเครือข่ายของลีซาสอบเข้าเตรีียมทหารได้ ก็ทำให้เกิดเครือข่ายขึ้นในโรงเรียนเตรียมชทหารเป็นต้น ซึ่งการสร้างเครือข่ายลักษณะนี้จะทำให้เกิดความมั่นคง แต่ที่สำคัญคืออยากให้เกิดเครือข่ายที่ไปถึงชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทาง สกว.อยากเห็น แต่ยังต้องใช้เวลา

พร้อมกันนี้ในพิธีเปิดศูนย์ดังกล่าว นักเรียนในเครือข่ายลีซาจากโรงเรียนมูลนิธิอาซิซสถาน จ.ปัตตานี ได้เข้าร่วมเสนอผลงานวิจัยด้วย โดยนายกาบาล บาฮะ นักเรียนชั้น ม.3 ซึ่งเดินมาพร้อมเพื่อนๆ และครู 4-5 คน บอกกับเราว่า ได้ นำเสนองานวิจัยซึ่งศึกษาบริเวณอ่าวปัตตานีเกี่ยวกับการวิเคราะห์สเปกตรัมจากภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อดูสิ่งที่ปกคลุมอ่าว อาทิ ป่าชายเลน ต้นมะพร้าว บ่อกุ้ง ซึ่งแต่ละสิ่งนั้นสะท้อนรังสีอินฟราเรดออกมาในค่าที่ต่างกัน

“งานวิจัยของเราทำเพื่อศึกษาว่าป่าชายเลยหายไปปีละเท่าไหร่ ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าป่าชายเลนหายไปถึงปีละ 0.45 ตารางกิโลเมตร และหายไปเป็นบ่อกุ้ง ข้อมูลตรงนี้เราก็จะนำไปแจ้งศูยน์อนุรักษ์" กาบาลกล่าวและบอกด้วยว่า ภาพถ่ายดาวเทียมที่ใช้คือภาพถ่ายดาวเทียมแลนด์แซท (Landsat) 4 5 และ 7 ซึ่งแต่ละดวงให้ช่วงคลื่นที่ต่างกันตั้งแต่ช่วงคลื่นที่ตามองเห็นไปจนถึงช่วงคลื่นอินฟราเรด

ทางด้าน รศ.ศิลปชัย บูรณพานิช หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม เผยกับเราว่า ภายในศูนย์มีระบบสารสนเทศสำหรับเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ต เกี่ยวกับอวกาศ ธรณีวิทยา แผ่นดินไหว โดยเชื่อมโยงกับโรงเรียนเครือข่ายซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 7 โรงเรียน

“คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ร่วมกับ สกว.และลีซา สร้างเครือข่ายกับโรงเรียนต่างๆ ที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับโลกและอวกาศ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการเียนรู้โดยใช้งานวิจัยเป็นฐานได ซึ่งเป็นการเติมเต็มการเรียนวิทยาศาสตร์ในประเทศของเราให้อยู่ในระดับสากล" รศ.ศิลปชัยกล่าว

สำหรับ 7 โรงเรียนที่เป็นเครือข่ายของศูนย์สังเกตการณ์โลกและอวกาศเพื่อการเรียนรู้ ได้แก่ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ซึ่งเป็นศูนย์ข้อมูลดาราศาสตร์และดาวเทียมแลนด์แซท รวมถึงควบคุมกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติที่ติดตั้งในต่างประเทศ โรงเรียนอนุบาลแพร่ เฝ้าตรวจคลื่นแผ่นดินไหว โรงเรียนเทศบาล 3 (ชาญวิยา) จ.เพชรบูรณ์ เฝ้าตรวจและติดตามพายุด้วยภาพถ่ายดาวเทียมโนอา โรงเรียนศึกษานารี ศึกษาการกัดเซาะแม่น้ำและชายฝั่งอ่าวไทย โรงเรียนมูลนิธิอาซิซสถาน จ.ปัตตานี ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของป่าชายเลน และโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จ.ยะลา ศึกษาสภาพแวดล้อมอ่าวปัตตานี
นอ.ฐากูร เกิดแก้ว
 ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล ชมสื่อไอทีภายในศูนย์
นายกาบาล บาฮะ (ที่ 2 จากขวา) และเพื่อนๆ จากโรงเรียนมูลนิธิอาซิซสถาน จ.ปัตตานี
พิธีแถลงข่าวเปิดศูนย์สังเกตการณ์โลกและอวกาศเพื่อการเรียนรู้
รศ.ศิลปชัย บูรณพานิช
กำลังโหลดความคิดเห็น