xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ เสด็จเปิดงานไบโอเอเชีย 2008 พร้อมตรัสให้ร่วมมือกันพัฒนาวิทย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานไบโอเอเชีย 2008 โดยมี ศ.ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ประธานกรรมการทีเซลส์ (ที่ 2 จากขวา) พร้อมด้วย ศ.ดร.ฮารัลด์ ซูร์ เฮาเซน และ ดร.ฮวน เอนริเกซ์ ถวายการต้อนรับ (ภาพโดย บางกอกพีอาร์)
เจ้าฟ้านักวิทยาศาสตร์เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานไบโอเอเชีย 2008 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทรงสนพระทัยงานวิจัยด้านโรคมะเร็ง ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ การควบคุมมลภาวะเป็นพิเศษ ด้าน ศ.เฮาเซน นักวิทย์โนเบลแนะนักวิจัยให้ร่วมกันพัฒนาวิธีใหม่ ทำให้วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกถูกลง เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้เข้าถึงได้

เมื่อวันที่ 25 พ.ย.51 เวลา 9.30 น. ศ.ดร. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานไบโอเอเชีย 2008 (BioAsia 2008) ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และทรงฟังปาฐกถาพิเศษโดย ศ.ดร.ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซน เรื่อง "วัคซีนใหม่เพื่อการป้องกันมะเร็งปากมดลูก" และ ดร.ฮวน เอนริเกซ์ ที่บรรยายเรื่อง "ชีววิทยาศาสตร์เปลี่ยนเศรษฐกิจโลกได้อย่างไร

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ ทรงมีพระราชดำรัสใจความว่า การเชื่อมโยงจากงานวิจัยพื้นฐานสู่การพัฒนาประเทศชาติ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างหลายฝ่าย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติอยู่จำนวนมาก หากเราสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ได้ด้วยตัวเองมากยิ่งขึ้น จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างยิ่ง และยังเป็นรากฐานที่ช่วยให้ไทยพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ต่อมา ศ.ดร.พรชัย มาตังคสมบัติ ประธานกรรมการ ศูนย์ชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (ทีเซลส์) กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมว่า พระองค์ทรงให้กำลังใจพวกเราในการร่วมมือกันทางวิชาการ เพื่อพัฒนางานวิจัยพื้นฐานให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ

อีกทั้งพระองค์ยังสนพระทัยเป็นพิเศษในเรื่องการพัฒนาสารฤทธิ์ทางชีวภาพที่ได้จากธรรมชาติให้เป็นยารักษาโรค รวมทั้งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความเป็นพิษในสภาพแวดล้อม เพื่อหาวิธีการควบคุมไม่ให้เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตนอกจากนี้พระองค์ยังสนพระทัยทางด้านโรคมะเร็ง ตั้งแต่การวิจัยพื้นฐาน ระบาดวิทยา ไปจนถึงการหาวิธีป้องกันและบำบัดรักษา

ส่วนเนื้อหาในการบรรยายพิเศษของ ศ.ดร.เฮาเซน นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์ ประจำปี 2551 เกี่ยวมะเร็งปากมดลูก ศ.ดร.พรชัย สรุปให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ฟังว่า เริ่มแรก ศ.เฮาเซน สงสัยว่าโรคติดเชื้อจะเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งหรือไม่ เพราะมีกรณีที่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อบางโรคเป็นมะเร็งร่วมด้วย

เมื่อพบว่าบริเวณที่ติดเชื้ออยู่ใกล้เคียงกับบริเวณที่เป็นมะเร็ง จึงศึกษาจนพิสูจน์ได้ว่าไวรัสแพ็บพิลโลม่า หรือเอชพีวี (human papillomavirus: HPV) ที่ทำให้เกิดหูดในคน เป็นเหตุให้เกิดมะเร็งปากมดลูก และต่อมา ศ.เฮาเซน ก็สามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้

ทว่าวัคซีนดังกล่าวยังมีราคาแพงอยู่มาก โดยการฉีดวัคซีน 3 เข็มในสหรัฐอเมริกา มีค่าใช้จ่ายประมาณ 360 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนในยุโรปมีราคากว่า 400 ยูโร ทำให้หลายประเทศไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนดังกล่าวได้ แต่สำหรับประเทศไทยเรียกได้ว่าเข้าถึงได้บ้าง ศ.เฮาเซน จึงเสนอแนวทางให้นักวิทยาศาสตร์หันมาให้ความสนใจพัฒนาวัคซีนและวิธีการผลิตวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้มีราคาถูกลงเพื่อให้ผู้ที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสเข้าถึงวัคซีนกันทุกคน

ในส่วนของ ดร.ฮวน เอนริเกซ์ ที่กล่าวถึงชีววิทยาศาสตร์กับเศรษฐกิจของโลก ศ.ดร.พรชัย สรุปได้ใจความว่า ดร.เอนริเกซ์ แนะว่าไม่ต้องเป็นห่วงกังวลกับความยุ่งเหยิงในปัจจุบันมากจนเกินไป แต่ควรหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะทำให้เกิดการพัฒนาในระยะยาว นั่นคือการศึกษา และการวิจัยพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะไม่มีประเทศไหนจะสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ หากไม่เน้นการสร้างคนและผลงานวิจัย

ดร.เอนริเกซ์ ยกประเทศอินเดียเป็นตัวอย่างว่าถึงแม้สังคมอินเดียจะมีความสับสนวุ่นวาย เต็มไปด้วยผู้คนอดหยากหิวโหย แต่สิ่งหนึ่งที่ประเทศอินเดียให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องคือส่งเสริมเรื่องการศึกษา จนปัจจุบันมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีขึ้นมาก

นอกจากนี้เขายังได้เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นโดยยกตัวอย่างประเทศบราซิลที่ถือว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในอเมริกาใต้ และร่ำรวยทรัพยากรธรรมชาติ ทว่ายังให้ความสำคัญด้านการศึกษาไม่มากเท่าบางประเทศ เช่น ประเทศเล็กๆ อย่างเกาหลีใต้ ที่เติบต้นขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่สิบปีจากการที่ส่งเสริมการศึกษาและวิจัยพัฒนา

ทั้งนี้ ชีววิทยาศาสตร์ก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนา และเป็นสาขาที่มีศักยภาพสูงมากที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจโลกได้ ทั้งเรื่องการพัฒนายารักษาโรค การรักษาหรือการปลูกถ่ายอวัยวะจากเซลล์ต้นกำเนิด หรือการสร้างสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวเพื่อกำหนดทิศทางการใช้ประโยชน์ เช่น การผลิตพลังงานทดแทนจากแบคทีเรีย เป็นต้น

ทั้งนี้ งาน "ไบโอเอเชีย" (BioAsia 2008) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 พ.ย. นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยไฮไลต์ภายในงานได้แก่ ผลงานการค้นพบยีนแพ้ยาต้านไวรัสเอดส์ การค้นพบยีนแพ้ยาต้านโรคมะเร็งในคนไทย การจัดแสดงเครื่องมือตรวจหายีนแพ้ยาต้านไวรัสเอดส์เครื่องแรกในประเทศไทย เครื่องเก็บข้อมูลพันธุกรรมของคนไทยและโปรแกรมฐานข้อมูลผู้ป่วนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ การวิจัยและพัฒนาครีมหน้าขาวจากยางพารา การบรรยายความจำชราภาพ, การชะลอความชรา งานวิจัยค้นหาสารต้านเชื้อไข้เลือดออก การควบคุมยุงลาย เป็นต้น.
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสในการเปิดงานไบโอเอเชีย 2008 ใจความว่า ต้องให้ความสำคัญกับความร่วมมือกันในการพัฒนาวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศชาติให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ (ภาพโดย บางกอกพีอาร์)
ดร.ฮวน เอนริเกซ์ (ภาพโดย บางกอกพีอาร์)
ศ.ดร.ฮารัลด์ ซูร์ เฮาเซน (ภาพโดย บางกอกพีอาร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น