ทำไมนักการเมืองบางคนจึงมีคะแนนนิยมมากกว่าคนอื่น อะไรทำให้เรารู้สึกบวกหรือลบต่อนักการเมือง เนื้อหาสาระจากคำพูดของเขาสำคัญหรือไม่ แล้วสิ่งที่เราได้ฟังจากปากนักการเมืองจะเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน สิ่งเหล่านี้อาจมีซ่อนอยู่ในอวัจนภาษาของนักการเมืองแต่ละคน
"ภาษากายของนักการเมือง" ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์สัญชาติฝรั่งเศส ที่ฉายในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 4 ได้เจาะลึกลงไปถึงความสำคัญของการสื่อสารผ่านอวัจนภาษาของนักการเมือง รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้ผู้นำประเทศแต่ละคนมีเสน่ห์เฉพาะตัว ซึ่งการสร้างเสน่ห์ในแวดวงการเมือง นักการเมืองจะต้องพยายามทำให้ตัวเองดูมีความเชื่อมั่น น่าเชื่อถือ เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำของประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลของเนื้อหาที่พูดกับท่าทางที่แสดงออกในช่วงเมื่อหลายสิบปีก่อน พบว่าเนื้อหาจากการพูดมีอิทธิพลกับผู้ฟังเพียง 7% เท่านั้น ทว่าการสื่อสารด้วยอวัจภาษากลับมีผลต่อการพูดถึง 93% โดยเฉพาะการแสดงออกทางสีหน้าที่มีผลมากกว่า 55% ที่เหลือเป็นอากัปกิริยา ท่าทาง น้ำเสียง ท่วงทำนองในการพูด
เมื่อร้อยกว่าปีก่อนที่ยังไม่มีเทคโนโลยีการสื่อสารทันสมัยเช่นทุกวันนี้ การปราศัยของนักการเมืองดำเนินขึ้นบนเวทีที่อยู่ห่างไกลจากประชาชนผู้ฟังส่วนมาก จึงมองไม่เห็นลีลาท่าทางของนักการเมืองมากเหมือนในยุคนี้ ที่เราสามารถมองเห็นได้อย่างใกล้ชิดผ่านหน้าจอโทรทัศน์ พฤติกรรมการแสดงท่าทางของนักการเมืองในยุคปัจจุบันจึงหลบไม่พ้นกล้อง
นักวิจัยอธิบายว่าลักษณะการแสดงออกทางสีหน้าท่าทางในทางการเมืองของคนคล้ายกับในลิงชิมแปนซี ซึ่งมีการเรียกคะแนนนิยมเพื่อคัดเลือกผู้นำฝูงเช่นกัน และสภาวะการเป็นผู้นำก็มีความขัดแย้งอยู่ในตัวเอง นั่นคือการร่วมมือและการแข่งขัน โดยร่วมมือกับฝ่ายที่เห็นพ้องต้องกัน และแข่งขันเพื่อที่จะเอาชนะฝ่ายตรงข้าม
ตามธรรมชาติของทั้งชิมแปนซีและคน เพศผู้จะไม่ค่อยสนใจคลุกคลีกับผู้เยาว์เท่าใดนักเมื่อเทียบกับเพศเมีย แต่หากชิมแปนซีเพศผู้ตัวใดต้องการขึ้นเป็นจ่าฝูง ก็จะให้ความสนใจกับชิมแปนซีน้อยมากกว่าปกติ เพื่อเรียกคะแนนให้ตัวเอง และก็เป็นเช่นเดียวกันในนักการเมืองชายที่หวังจะเป็นผู้นำ ทว่ามนุษย์มีอารมณ์ซับซ้อนกว่าชิมแปนซี และใบหน้าของคนเราก็มีกล้ามเนื้อมากกว่า จึงแสดงอารมณ์ผ่านทางสีหน้าได้หลายหลายรูปแบบกว่า
ปัจจุบันนักวิจัยสามารถสร้างแบบจำลองสีหน้าได้แล้ว เมื่อนำมาทาบบนภาพใบหน้าจริงของนักการเมือง ก็จะช่วยสะท้อนสีหน้าที่แท้จริงให้ชัดเจนขึ้นได้ ซึ่งจากการทดลองนักวิจัยระบุว่าโรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นนักการเมืองที่แสดงอารมณ์ออกมาทางสีหน้าได้อย่างลงตัวมากๆ เลยทีเดียว ส่วนใบหน้าอันเป็นเอกลักษณ์ที่สั้นข้างยาวข้างหรืออาจเรียกว่าบิดเบี้ยว ของจอร์จ บุช นั้นก็มักแสดงสีหน้าเศร้าหรือวิตกกังวลอยู่บ่อยครั้ง ขณะที่โทนี แบลร์ ตรงกันข้ามกับบุช เพราะหน้าตาของเขาดูมีความสุขอยู่ตลอดเวลา
ท่าทางในขณะพูดก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากนักการเมืองพูดโดยไร้ท่าทาง นอกจากจะดูแข็งทื่อแล้วยังไม่สื่อสารกับผู้ฟังเท่าที่ควร ฉะนั้นยิ่งมีทางทางซับซ้อนมาก ก็ยิ่งสื่อสารกับผู้ฟังได้มากด้วย และนักวิจัยยังตั้งข้อสังเกตว่านักการเมืองในปัจจุบันชอบแสดงท่าทางหยิบของ ท่าสับหรือหั่นเป็นจังหวะ ซึ่งอาจแสดงถึงการเน้นยำในสิ่งที่กำลังพูดอยู่
โดยปรกติเมื่ออยู่ต่อหน้าสังคม นักการเมืองหญิงจะมีความสงบเสงี่ยมมากกว่า ไม่แสดงอำนาจ แต่เน้นการแสดงความรู้สึก การมีส่วนร่วม และเปิดกว้างมากกว่า ขณะที่นักการเมืองชายจะเน้นแสดงอำนาจ และความก้าวร้าว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับฐานเสียงของแต่ละคน เช่น อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่มักแสดงความก้าวร้าวอย่างรุนแรง แต่เพราะผู้ชายมักมีบทบาททางการเมืองมากกว่า และในปัจจุบันผู้หญิงก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น จึงพยายามแสดงอำนาจและท่าทีก้าวร้าวในแบบฉบับผู้ชายเพื่อให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น ดังเช่น ฮิลลารี คลินตัน ที่แสดงออกได้อย่างสมดุล
ส่วนเจตนาของผู้พูด เราสามารถรับรู้ได้ด้วยน้ำเสียง และเสียงก็เป็นเครื่องแสดงสมดุลของอารมณ์อย่างหนึ่งด้วย จากการวิเคราะห์น้ำเสียงของฮิลลารี คลินตัน เธอมีน้ำเสียงที่ค่อนข้างมั่นใจในตัวเอง ขณะเดียวกันก็แสดงถึงความบอบบางด้วย ด้านโรนัลด์ เรแกน จัดว่าเป็นนักการเมืองที่มีเสียงสมดุลและกลมกลืนกับท่าทางอย่างยิ่ง
นอกจากนี้จำนวนคำที่พูดในแต่ละนาทีก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยปรกติแล้วควรอยู่ระหว่าง 140-180 คำต่อนาที หากต่ำกว่า 140 คำ จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกเบื่อหน่าย แต่ถ้ามากกว่า 180 คำ จะเร็วเกินไป ผู้ฟังตามไม่ทัน และขาดความชัดเจนในเนื้อหา
อีกสิ่งหนึ่งที่สร้างเสน่ห์ให้นักการเมืองก็คือรอยยิ้ม โดยเฉพาะรอยยิ้มแห่งความสุขอย่างจริงใจ แต่ส่วนมากมักเป็นยิ้มในทางสังคมหรือยิ้มเห็นด้วยมากกว่า ซึ่งความแตกต่างจะอยู่ตรงหนังหุ้มเปลือกตา หากเป็นยิ้มที่มาจากความสุข หนังหุ้มเปลือกตาจะหย่อนลงด้านล่างมากกว่า ทว่าสังเกตได้ยากยิ่งเหลือเกิน ฉะนั้นจึงแยกแยะยากมาก
ส่วนคำพูดของนักการเมืองน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหนก็ตอบได้ยากยิ่ง เพราะคนส่วนใหญ่บอกไม่ได้ว่าใครพูดโกหกโดยดูจากท่าทาง แต่น่าสังเกตอย่างหนึ่งตรงที่การกัดริมฝีปากก่อนพูด ดังเช่น บิล คลินตัน เคยทำก่อนที่จะปฏิเสธความสัมพันธ์อื้อฉาวระหว่างเขากับโมนิกา เลวินสกี ซึ่งการกัดริมฝีปากก่อนพูดนี้เป็นพฤติกรรมที่มักพบเห็นบ่อยครั้งในเด็กที่กำลังจะพูดโกหก
นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องเหล่านี้มีความเห็นกันว่า ไม่มีนักการเมืองคนไหนที่จะยอมบอกความจริงแก่เราว่าเขาโกหก และนักการเมืองส่วนใหญ่ก็จัดเป็นนักแสดงที่เก่งมากๆ เสียด้วย
แล้วท่าทางของนักการเมืองที่คุณเห็นทุกวันนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง?