มิตรภาพและความรัก โดยส่วนใหญ่แล้วมักเป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่าการคิดคำนวณ เพราะเป็นความรู้สึก สิ่งกีดขวาง-ไม่ว่าจะในเชิงรูปธรรมหรือนามธรรม-จึงเป็นเพียงสิ่งย่อยสลายได้เมื่ออยู่ต่อหน้าความรู้สึก พรมแดนประเทศ ขอบฟ้า ฐานะ กำแพง ศาสนา หรือเพศ ถึงที่สุดก็เป็นแค่สิ่งย่อยสลายได้
โลกมีอายุราวๆ 4.5 พันล้านปี ทั้งที่เป็นโลกใบเดิมแต่มันกลับซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ตามปริมาณมนุษย์ มิตรภาพและความรักระหว่างมนุษย์ด้วยกันก็เลยมีรูปแบบหลายหลากยากคาดเดา
เปล่าเลย มันไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด ไม่จำเป็นต้องมีนิยามหรือชื่อเรียกเฉพาะ แต่มนุษย์คงเป็นสิ่งมีชีวิตที่จะดำรงชีวิตอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่รู้ว่าจะเรียกสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าอะไร มิตรภาพและความรักในรูปแบบที่ไม่คุ้นเคยระหว่างเกย์จริง-หญิงแท้ จึงต้องถูกตั้งชื่ออะไรสักอย่าง
เขาเรียกผู้หญิงที่คบเกย์ รักเกย์ว่า Faghag
Faghag?
โตมร ศุขปรีชา เจ้าของหนังสือแรงๆ อย่าง ‘Genderism’ และบรรณาธิการบริหาร นิตยสาร GM พูดให้ฟังว่า Faghag เป็นคำอเมริกันจ๋าสุดๆ ที่ไม่ปรากฏในฝั่งยุโรป
มันไม่ได้ผุดขึ้นจากความว่างเปล่าหรืออาการไม่มีอะไรจะทำของมนุษย์ ก็เลยหาอะไรทำด้วยการตั้งชื่อความสัมพันธ์รูปแบบนี้ แต่มันเกิดจากการต่อสู้ทางการเมืองเรื่องเพศของคนอเมริกัน เมื่อทั้งผู้หญิงและคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นเกย์ เลสเบี้ยน หรืออื่นๆ ต่างถูกกดขี่ด้วยอริคนเดียวกันคือผู้ชายและความสัมพันธ์แบบชาย-หญิง
“Faghag มันเป็นคำที่เกิดขึ้นในอเมริกาก่อนที่อื่นเลย ในช่วงที่เกิดอาการ Homophobia พอหลังจากที่คนเริ่มเข้าใจก็ไม่มีอาการ Homophobia แต่จะเกิดอาการต่อต้านในอีกลักษณะหนึ่งเรียกว่า Homophobia phobia”
Wikipedia บอกว่า Faghag เป็นคำแสลง ใช้เรียกผู้หญิงที่มักมีปฏิสัมพันธ์เฉพาะหรือส่วนใหญ่กับเกย์ หรือมีเพื่อนสนิทเป็นเกย์ ซึ่งผู้หญิงบางคนก็ชอบที่จะถูกเรียกด้วยคำคำนี้ ขณะที่อีกบางคนก็เกลียด
Faghag อภิรมย์การแฮงก์เอาต์กับเพื่อนเกย์ หรือบางหล่อนก็เผลอใจหลงรักเกย์อย่างปิดบัง แต่ถึงกระนั้น Faghag ก็ยังคงมีความสัมพันธ์กับผู้ชายแท้ๆ ได้ (หรือแม้แต่กับผู้หญิงด้วยกัน)
ผู้หญิงบางคนพูดว่า ‘ผัวชั้นให้เงินกับเซ็กส์ แต่เกย์ให้ความสนุกสนาน’
เพราะฉันรักเกย์
1
ฤดูหนาวโปรยไอเย็นไว้ทั่วกลางเมืองเชียงใหม่
ผมนั่งคุยกับ ฟาง (นามสมมติ) หญิงวัย 54 ปีที่เคยผ่านชีวิตคู่ที่ไม่น่าทรงจำ ในร้านอาหารไฟสลัวๆ ของโรงแรมแห่งหนึ่ง เธอยอมรับว่าเป็น Faghag
“ถ้าถามว่าฉันรักมั้ย ฉันรัก ฉันชอบ ประทับใจ เพราะเขาแตกต่างกับผู้ชายทั่วๆ ไป ความรู้สึกของพี่ พี่ก็ผ่านครอบครัวมาแล้ว การผ่านครอบครัวทำให้เราเกิดการเปรียบเทียบกับผู้ชายจริงๆ ความสะอาด ความเนี้ยบ อะไรหลายๆ อย่างที่เราไม่เคยได้รับจากผู้ชายจริงๆ มันบอกไม่ถูกนะ แต่มันเป็นความรู้สึกที่ประทับใจ”
ฟางมีความสัมพันธ์ทางใจกับเกย์คนหนึ่งที่อายุมากกว่าเธอ 6 ปี ฝ่ายเกย์คนนี้ก็มีแฟนเป็นเกย์อยู่แล้ว และแฟนเกย์คนนี้ก็รู้ว่ามีฟาง แต่ความรักแบบ 1 หญิง 2 เกย์ ก็เป็นไปอย่างราบรื่น เธอเองยังเปิดตัวแฟนเกย์กับเพื่อนสนิทบางกลุ่มด้วยซ้ำ
“เขาดูแลเรา เขาห่วงใยเรา แต่เขาก็มีภาระ มีพันธะของเขาอยู่ เขาก็มีคนของเขาอยู่ แฟนเขาก็รู้ แต่ฉันก็รักน่ะ (หัวเราะ) เรารับสภาพของเราได้ ไม่อึดอัด มันเป็นเรื่องของจิตใจ”
ความสัมพันธ์ระหว่างฟางและเกย์ล่องไหลอย่างนุ่มนวลและอบอุ่นมาตลอด 30 ปีโดยไม่มีเซ็กซ์เข้ามาเกี่ยวข้อง
“พี่ไม่มีอารมณ์ความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ พี่รู้ว่าเราต้องยอมรับสภาพ ถ้าไม่ยอมรับเราก็ไม่มีคนคนนี้อีกแล้ว พี่นอนในอ้อมแขนของเขา ความรู้สึกเรื่องเพศเราไม่มีให้กัน แต่ความรู้สึกอื่นๆ เขามีให้กับเรา ความห่วงหาอาทรมีให้ ทุกอย่างมีให้ ก็มีแค่เรื่องเดียวที่ไปกันไม่ได้เท่านั้นเอง ความอบอุ่นที่เขามีให้กับเรา มันชดเชยได้ทุกอย่าง จริงๆ ผู้ชายบางคนมีเรื่องนี้ แต่ไม่ได้คิดถึงอารมณ์ของเรานี่ มีใช่มั้ยที่บางทีนอนกับเมียแล้วข่มขืนเมีย แต่เขาคนนี้มีแต่ความอบอุ่นให้เรา ตรงนั้นมันเต็ม มันอิ่มแล้ว”
ฟางรู้ตัวว่าเป็น Faghag มีความรู้สึกดีๆ กับเกย์มาตั้งอายุยี่สิบสี่ยี่สิบห้า ตอนเรียนก็คบหาแต่เพื่อนเป็นเกย์ บวกกับประสบการณ์การมีครอบครัวกับผู้ชายแนวเห็นแก่ตัว ซึ่งเธอบอกว่านั่นก็เห็นสาเหตุนิดหน่อยที่ทำให้เธอรักเกย์ ส่วนเรื่องความเนี้ยบ ความสุภาพ ความสะอาด เรียบร้อย เกย์กินขาดมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว
ไอ้ที่จะมานั่งแคร์สังคมจะซุบซิบนินทา เมาธ์แตกแหกโค้ง ฟางไม่เคยสนใจ เพราะว่าเป็นเรื่องส่วนตัว (มีคนพูดว่าความรักเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เป็นเรื่องของเราคนเดียว คนอี่นไม่เกี่ยว) การงานไม่เสียหาย ไม่ทำให้ใครเสียหาย แล้วทำไมจะต้องมานั่งกลุ้มใจเพราะรักเกย์
“มันเป็นความรักที่บริสุทธิ์ รักได้ และไม่เป็นพิษเป็นภัย เรามีแต่สิ่งที่ดีๆ ให้กัน อย่าไปคิดถึงสิ่งที่จะเป็นทุกข์ ถ้าคิดแล้วมันจะมี เราต้องยอมรับสภาพ เราพอใจคนคนนี้มั้ย ถ้ายอมรับก็จบ ไม่ต้องไปแสวงหาอย่างอื่นมาชดเชย รักก็คือรัก”
2
กับ Faghag ที่เฉดอ่อนลงมาอย่าง พีรนุช เจ้าของธุรกิจเครือข่ายวัยเกือบ 30 เธอยังไม่มั่นพอจะบอกว่าตัวเองเป็น Faghag ถึงอย่างนั้นก็เถอะ เธอก็บอกว่ามีแฟนเป็นเกย์ก็ไม่มีปัญหา รับได้ สบายมาก ...แต่ต้องมีลิมิต
“ในความรู้สึกเวลาที่เราจะชอบใครสักคนหนึ่ง แล้วจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเขา เขาอาจจะมีโลกส่วนตัวของเขาอีกโลกหนึ่งที่เขามีความสุข ถ้าเขาได้ทำในสิ่งสิ่งนั้น แต่ถ้าเกิดเราคุยกันแล้วว่าเราจะใช้ชีวิตร่วมกัน การใช้ชีวิตร่วมกัน เราก็ไม่ใช่เจ้าของชีวิตเขา เขาก็ไม่ใช่เจ้าของชีวิตเรา แต่มันเหมือนอยู่กับเพื่อนคนหนึ่งตลอดชีวิต ที่สามารถจะดูแลกันได้ตลอดไป”
เธอเล่าว่าแฟนคนหนึ่งที่เธอเคยคบ ใครๆ เห็นก็ชี้ว่าเป็นเกย์ เป็นเกย์ และเป็นเกย์ เธอบอกว่าเธอไม่รู้ อาจจะเป็นมั้ง แต่แล้วยังไงล่ะ เธอคบได้หมด “เพราะทุกคนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน”
พีรนุชยังอธิบายด้วยว่า เกย์ส่วนใหญ่จะเป็นคนมีเสน่ห์ เข้าอกเข้าใจผู้หญิงดีกว่าผู้ชาย มีมารยาทและสุภาพ
“ถ้าเป็นแฟนกัน เขาจะเปิดเผยว่าเขาเป็นเกย์ก็ไม่ว่ากัน แต่ถ้าวันหนึ่งมีลูกด้วยกันก็ต้องรักษาภาพลักษณ์ รักษาจิตใจลูกด้วย แต่ในความสัมพันธ์ของเขาในช่วงเวลาหนึ่งที่เขาขอไปมีความสุขตามความต้องการของเขาเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ว่ากัน เพราะวันนี้สังคมไทยยอมรับในระดับหนึ่ง อนาคตถ้ายอมรับมากกว่านี้ คุณจะเป็นอะไรก็ไม่ว่า แต่วันนี้ วัฒนธรรมไทย สิ่งที่เป็นกรอบ สิ่งที่ดีงามยังมีอยู่ เราก็ควรจะยังอยู่ในกรอบนั้น เพราะเราอยู่ประเทศไทย แต่ถ้าเราเป็นฝรั่งจะไม่ว่าเลย ยังไงก็ได้”
3
ถาม ณภัทร เอเยนซีโฆษณานางหนึ่งว่า ผมเรียกคุณว่าเป็น Faghag ได้หรือเปล่า
“ได้ เรียกได้ ส่วนใหญ่ก็มีเพื่อนเป็นเกย์”
ณภัทรเป็น Faghag แบบที่มีเฉดสีอ่อนลงมาอีก เธอไม่ได้มีเจตนาอันมุ่งมั่นที่จะสานความสัมพันธ์กับเกย์ให้เลยไกลกว่าความเป็นเพื่อน
“ไม่ใช่ว่าเราคบกับพวกนี้เพราะอยากจะเป็นแฟนเขา บางคนก็หน้าตาดี หรือบางคนเขาก็เทกแคร์เราดีมาก เราก็โอเค ยอมรับว่ามีหวั่นไหวบ้าง แต่เราก็ไม่ได้มีความรู้สึกว่าอยากจะไปมีอะไรกับเขา มันไม่ใช่ เราก็รู้อยู่แล้วว่าเขาเป็นเกย์”
ความหมาย Faghag ของณภัทรหยุดอยู่แค่ความเป็นเพื่อนสนิท ประมาณว่าคบเกย์เป็นเพื่อนแล้วสบายใจ ไม่เหมือนผู้หญิงที่จู้จี้จุกจิก อีกทั้งเพื่อนเกย์ของเธอดูจะเป็นพหูสูต ผู้สามารถให้คำปรึกษากับเธอได้ทุกๆ เรื่อง ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ แฟชั่น การงาน หนัง เพลง ถึงไลฟ์สไตล์ กับณภัทร การคบหาเกย์เป็นเพื่อนดูจะเป็นเรื่องของรสนิยม ไลฟ์สไตล์ และทัศนคติที่คล้ายๆ กัน
“ใครจะเรียกเราว่า Faghag ก็เฉยๆ มันไม่ใช่อะไรที่ไม่ดีในสายตาเรา เพื่อนๆ หลายคนก็รู้ว่าเรามีเพื่อนเป็นเกย์เยอะ ไปดูหนัง ดูคอนเสิร์ต ไปชอปปิ้ง ไปกินข้าวกัน ที่ทำงานไม่มีปัญหา แต่ที่บ้าน พ่อแม่อาจจะหัวโบราณนิดหนึ่ง ก็จะบ่นๆ บ้าง”
Faghag in Thailand
สังคมไทยนำเข้าคำว่า Faghag จากอเมริกาซึ่งเป็นคำที่มีประวัติศาสตร์ของมันเอง แต่ก็เช่นเดียวกันอีกหลายๆ คำที่เรานำเข้าสู่ไทยแลนด์แดนสไมล์ คือเราไม่จำเป็นต้องรู้หรือสนใจที่มาและแก่นกระดูกสันหลังของคำ มากไปกว่าคำนิยามบุคคลที่หยิบใช้ได้สะดวก
ความหมายของ Faghag ของแต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไป
นที ธีระโรจนพงษ์ ประธานกลุ่มเกย์การเมือง บอกผมว่า Faghag คือผู้หญิงที่ชอบเกย์ รักเกย์ และต้องการสานสัมพันธ์ถึงขนาดสร้างครอบครัวด้วยกัน
วิทยา แสงอรุณ คอลัมนิสต์และโปรดิวเซอร์ บอกผมว่า Faghag คือผู้หญิงที่ชอบคบเกย์เป็นเพื่อน มีเกย์เป็นเพื่อนสนิท แฮงก์ไหนแฮงก์กัน แต่ไม่ได้ต้องการเป็นแฟนกับเกย์
โตมร บอกผมว่า Faghag แต่ดั้งเดิมไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความรักแบบโรแมนติก แต่เรามักจะเข้าใจว่า Faghag คือผู้หญิงที่หลงรักเกย์ ทั้งที่จริงๆ Faghag ไม่ได้มีแค่แบบเดียว
ความหมายต่างกัน การมองปรากฏการณ์ย่อมต่างกัน นทีในบทบาทของผู้รณรงค์ประเด็นสิทธิของเกย์ มองว่า Faghag ตอบจุดประสงค์ของเหล่าผู้ชายมีองค์แบบแอบๆ ได้
“FagHag มันมีอยู่จริง แล้วก็สามารถตอบสนองว่าเกย์เหล่านี้ก็สามารถมีลูกได้กับผู้หญิงเหล่านี้ ซึ่งบังเอิญสังคมไทยเป็นสังคมที่พยายามยัดเยียดความเป็นพ่อให้กับเกย์ แล้วเกย์เองก็มี Mentality ที่จะต้องมีเมียเพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นผู้ชายส่วนหนึ่ง เมื่อมี FagHag เกิดขึ้นมันก็เลยสอดรับกับวัตถุประสงค์ของเกย์ ได้คนที่เขาไม่ถือไม่สาเรื่องนี้มาเป็นเมีย ได้ผลิตลูกตามที่หลายคนปรารถนา ได้ทำให้พ่อแม่เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในระดับหนึ่ง”
แต่หัวใจเกย์ไม่ได้มีที่ทางให้ผู้หญิงในฐานะแฟน แต่หัวใจหญิงกลับมีความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ สุดท้ายก็เกิดภาวะนกผิดฟ้า ปลาผิดน้ำ ปัญหาบานปลาย
“สิ่งที่ FagHag ต้องรู้และเตรียมตัวก็คือ หัวใจของคนที่เป็นเกย์เขาไม่ได้ดีไซน์ไว้สำหรับผู้หญิง เขาดีไซน์ให้กับผู้ชาย เพราะฉะนั้นคุณไม่ Fit In คุณไม่ได้รับความรักที่มาจากก้นบึ้งของหัวใจอย่างแน่นอน มันจะรุนแรงมั้ยล่ะสำหรับบางคนที่อยู่กับเขาทั้งชีวิต แต่ไม่ได้รับความรักเลย เขาอาจจะเสแสร้งทำเป็นชอบคุณมากก็ได้หรือคิดว่าคุณสามารถตอบสนองบางส่วนของเขาได้ แต่หัวใจของเขาไม่ได้มีให้คุณเลย สุดท้าย เกย์คนนี้ก็ต้องไปหาผู้ชาย โอกาสที่เขาจะทิ้งผู้หญิงมีมากมาย หนำซ้ำยังโยงไปถึงลูกด้วย เมื่อลูกเกิดมา ใครจะรับผิดชอบกับครอบครัวที่แตกแยกจากการที่พ่อและแม่มีเพศที่ไม่สอดคล้องต้องกัน ลูกจะช้ำใจมั้ยล่ะที่ต้องเห็นพ่อเป็นแต๋วแหวว แล้วลูกจะต้องเผชิญหน้ากับอะไร”
แต่วิทยามอง Faghag จำกัดอยู่ในกรอบของความเป็นเพื่อนเท่านั้น เขาบอกด้วยว่าการที่เกย์ต้องการให้ผู้หญิงมาเป็นเกราะกำบังทางสังคมน่าจะเป็นเรื่องเฉพาะกรณี จะเหมารวมว่าผู้หญิงเป็น Faghag คงมิได้
ความเห็นที่น่าสนใจอีกอย่างของวิทยาอยู่ตรงที่ว่า แล้วทำไมล่ะ ผู้หญิง Faghag ถึงชอบแฮงก์เอาต์กับเกย์
“ผู้หญิงอาจจะรู้สึกไม่สบายใจเวลาไปเที่ยวกับกลุ่มผู้ชาย ผู้หญิงที่คบกับเกย์เพราะเขาอยากจะเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องคอยระวังว่าจะต้องทำตัวเป็นผู้หญิงให้ผู้ชายมาสนใจ เขาจะโลดโผนโจนทะยานยังไงก็ไม่มีผู้ชายมามองเขาว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ซึ่งจุดนี้มันเป็นอิสระของผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มเกย์ เพราะเกย์ไม่มองผู้หญิงเหล่านี้ว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี แล้วผู้หญิงคนนี้ก็ไม่ต้องไปแคร์สายตาคนอื่น
“ถ้าไปตามผับจะเห็นตลอด ในก๊วนจะมีเกย์อยู่สองสามคน แล้วจะมีผู้หญิงอยู่คนเดียว จะไม่มีผู้หญิง 2 คนอยู่ในก๊วนเกย์ เพราะว่ามันไม่ได้มีผู้หญิงเยอะแยะมากมายที่ชอบแฮงก์กับเกย์ ผู้หญิงที่อยู่ในก๊วนเกย์คนเดียว เธอจะเป็นเหมือนกับไข่ในหิน เพื่อนเกย์จะต้องปกป้องฉัน ลองไปเดินดูตามผับสิ”
แต่พอมอง Faghag ในประเด็น Gender ผ่านแว่นของโตมร นอกจากเขาจะมองในเชิงประวัติศาสตร์ของคำ เขายังมองกระบวนการเกิดขึ้นของ Faghag และการนำไปใช้ในบริบทของสังคมไทย
“ถ้าย้อนกลับไปสมัยโบราณหน่อย โดยเฉพาะในสังคมไทยก็จะเจอ Faghag อีกแบบหนึ่ง เช่น เป็นแม่บ้านที่ต้องทนอยู่กับกรอบของ Heterosexual อย่างเช่นสามีไปมีเมียน้อย แล้วก็อาจไปเป็น Faghag ไปเป็นเพื่อนกับกระเทยในร้านทำผม ซึ่ง Faghag แบบนี้เป็นแบบตั้งต้นในสังคมไทย เป็นแบบที่เหมือนกับเราดูขอทานแล้วเราก็บอกว่าไม่เป็นไร ชีวิตเรายังดีกว่าขอทาน เหมือนกัน ผู้หญิงที่ถูกกดขี่ในสมัยก่อน ก็มาเป็นเพื่อนกับเพศที่ถูกกดขี่มากกว่า แล้วก็อาจเกิดความรู้สึกสบายใจ แต่นี่มันเป็นบริบทสำหรับสังคมไทยมากๆ ถ้าเป็นฝรั่งมันจะมีความเป็นการเมืองมากกว่านี้ จะมีการถูกตั้งแง่รังเกียจ Faghag ก็เป็นหนึ่งในส่วนหนึ่งของ Homophobia ด้วย
“ที่ผมสนใจ Faghag อีกแบบหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลา 10 ปีนี้ คือเป็น Faghag แบบที่ผู้หญิงเกิดกระบวนการกลายเป็นกะเทย เช่น นักแสดงหญิงคนหนึ่ง ผมรู้สึกว่าเขาเป็นคนที่สมาทานเอาวัฒนธรรมย่อยแบบกะเทยเข้าไปในตัวเยอะ แล้วเราจะเห็นผู้หญิงอีกเยอะมากที่ทำท่าทางเหมือนกะเทย คือใช้วิธีแบบกระเทยที่จะดีลกับคนอื่น ไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดีนะครับ แต่กรณีนี้จะเห็นได้ชัดว่าเธอสามารถสร้างตัวตนออกในวงการได้”
เขาบอกอีกว่าแก่นความคิดของคำคำนี้ไม่มีเรื่องเซ็กซ์เข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด
“แต่ถ้าจะถามเรื่องผู้หญิงที่มีเซ็กซ์กับเกย์ มันก็ต้องไปอีกเรื่องหนึ่ง เพราะเรื่องแบบนี้ก็จะเจอเยอะ เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เจอมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ไปเที่ยวผับ แล้วผู้หญิงก็ชอบเกย์ เต้นรำด้วยกัน แล้วชวนไปมีเพศสัมพันธ์ ผู้ชายก็อาจจะบอกว่าเป็นเกย์นะ แต่ผู้หญิงก็ไม่ได้สนใจ แต่แบบนี้ไม่ใช่ Faghag”
ว่าแต่ว่าเรา-เราในที่นี้หมายถึงสังคมไทย-จะเอายังไงกับ Faghag ตอนนี้คงยังไม่มีใครตอบได้ เพราะเป็นคำค่อนข้างใหม่ สำหรับนที เขาจึงต้องการเน้นการให้ความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศแก่สังคม แก่ Faghag
ว่าแต่ว่า...ทำไมเราถึงต้องตีตราว่าคนนั้นคนนี้เป็น Faghag
.............
“เวลาเรารับอะไรมาจากตะวันตก เราไม่ได้เอาฐานคิดมาด้วย เอามาแต่สิ่งที่เราเห็นภายนอก Faghag ก็คล้ายๆ กัน ถ้าในผู้หญิงที่มีกระบวนการกลายเป็นกะเทย เราก็สมาทานมาแต่ความสนุกสนาน แต่เราไม่ได้หยิบเอาการต่อสู้ทางการเมือง การต่อรองทางอำนาจ อย่างเรื่อง Homophobia ในอเมริกา ซึ่งมีส่วนทำให้เกิด Faghag ขึ้นมา แต่อย่างของไทยถ้าเกิดหยิบเอามาแค่คำมาเพื่อใช้เรียกผู้หญิงที่เป็นเพื่อนกับเกย์ หรือแม้แต่ผู้หญิงที่เป็นเพื่อนกับเกย์ก็ไม่ได้สนใจเท่าไหร่ ซึ่งเราอาจจะมองว่ามันพัฒนามากกว่าอเมริกา เพราะเราไม่ต้องสนใจเรื่องนี้ มองแบบนี้ก็ได้ หรือจะมองว่าเราเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลยก็ได้เหมือนกัน เช่นเดียวกับเรื่องอื่นๆ ในสังคมไทยทั้งหลาย ที่ยอมให้สิ่งที่มองไม่เห็นเข้ามาควบคุม แล้วเราก็เห็นความจริงครึ่งเดียว แล้วเราก็ยอมรับมัน” โตมรทิ้งท้ายอย่างแสบและคัน
***********
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล