xs
xsm
sm
md
lg

ยิ่งเศร้ายิ่งเฝ้าหน้าจอ งานวิจัยชี้คนมีทุกข์ติดทีวีมากกว่าคนมีสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนที่มีกิจกรรมทางสังคมน้อย อาจติดทีวีได้ง่าย และอาจเป็นการกันตัวเองออกจากกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ในระยาวต่อจิตใจมากกว่าการดูทีวีได้ (ภาพจาก guardian.co.uk)
นักวิจัยสหรัฐฯ เผยคนสุขน้อยติดทีวีมากกว่า ชี้ยิ่งดูทีวีมาก อาจพาตัวห่างไกลจากสังคมและกิจกรรมที่เป็นประโยชน์มากกว่า ทว่าคนที่จิตใจสุดเศร้าสร้อย ทีวีก็เป็นเครื่องพึ่งพิงทางใจได้เป็นอย่างดี ที่หาได้ง่ายสุด

นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (University of Maryland) ในคอลเลจ ปาร์ค มลรัฐแมรีแลนด์ สหรัฐอเมริกา ศึกษาวิจัยพฤติกรรมของประชากรชาวอเมริกันกว่า 30,000 คน ตั้งแต่ปี 2518 -2549 พบว่า ผู้ที่อมทุกข์หรือไม่ค่อยมีความสุข จะชอบดูโทรทัศน์มากกว่าคนที่มีความสุข ชอบสนุกสนาน โดยไลฟ์ไซน์ด็อตคอมระบุว่างานวิจัยนี้ ได้ตีพิมพ์ในวารสารโซเชียล อินดิเคเตอร์ส รีเซิร์ช (Social Indicators Research) ฉบับเดือน ธ.ค. นี้

จากรายงานการวิจัยระบุว่า ผู้ที่มีอารมณ์แจ่มใสร่าเริง จะดูโทรทัศน์เฉลี่ยอาทิตย์ละ 19 ชั่วโมง ขณะที่คนซึมเศร้า อมทุกข์ หรือหาความสุขไม่ค่อยได้ จะดูโทรทัศน์มากถึง 25 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งผลการวิจัยนี้ได้พิจารณาจากระดับการศึกษา อายุ รายได้ และสถานภาพการสมรสด้วย

จอห์น โรบินสัน (John Robinson) นักสังคมศาสตร์ผู้ทำงานวิจัยเรื่องนี้ อธิบายว่า คนที่มีความสุขนั้น จะกระตือรือร้นต่อกิจกรรมทางสังคมมากกว่า เช่น สนใจกิจกรรมทางศาสนา การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรืออ่านหนังสือพิมพ์มากกว่าคนอื่นๆ ที่ดูมีความสุขน้อยกว่า

อย่างไรก็ดี นักวิจัยยังไม่แน่ใจว่า เป็นเพราะการที่ไม่ค่อยมีความสุข จึงทำให้ดูโทรทัศน์มากกว่า หรือเป็นเพราะการดูโทรทัศน์มากเกินไป ทำให้คนเรามีความสุขน้อยลงกันแน่

ที่จริงแล้วงานวิจัยในอดีตเคยระบุไว้ว่า หากใครบอกว่าชอบดูโทรทัศน์นั้น แสดงว่ายามใดที่เขาเหล่านั้นได้ดูโทรทัศน์ เขาจะสนุกไปกับมันด้วย ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมให้ข้อมูลในงานวิจัยดังกล่าว จะให้คะแนนการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ชอบหรือทำแล้วไม่มีความสุข ตั้งแต่ระดับ 0 คะแนน ไปจนถึงกิจกรรมที่ชื่นชอบหรือทำแล้วมีความสุขมากที่สุด 10 คะแนน โดยที่การดูโทรทัศน์จะมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 8 คะแนน

"แต่บางทีนั่นอาจไม่ใช่บทสรุปที่แท้จริงก็ได้ ข้อมูลที่ขัดแย้งกันนี้ ชี้ให้เห็นว่าทีวีอาจช่วยให้ผู้ชมมีความสุขหรือพึงพอใจได้ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่เป็นค่าใช้จ่ายที่เสียไปให้กับความรู้สึกไม่สบายในระยะยาว" โรบินสันอธิบาย

อย่างไรก็ดี ในงานวิจัยนี้ แม้ว่าผู้ที่มีความสุขมากที่สุดแล้ว ก็อาจจะรู้สึกจิตใจห่อเหี่ยวลงได้ หากเขาจดจ้องอยู่หน้าจอโทรทัศน์ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน ซึ่งนักวิจัยเสนอแนะว่า การดูโทรทัศน์มากเกินไปอาจทำให้เราออกห่างจากกิจกรรมอื่นๆ ที่ให้ประโยชน์ในระยะยาวมากกว่าการดูโทรทัศน์ เช่น การออกกำลังกาย กิจกรรมนันทนาการ งานเลี้ยงสังสรร หรือกิจกรรมทางสังคมรูปแบบอื่นๆ ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ในทางด้านจิตวิทยา

ทว่าบางที ทีวีก็สามารถเป็นที่พึ่งทางใจที่หาได้ง่ายให้กับคนที่รู้สึกจิตใจห่อเหี่ยวไปแล้วก็ได้เช่นกัน

"ทีวีไม่ใช่ทั้งเครื่องพิพากษาหรืออุปสรรค ฉะนั้นคนที่มีทักษะทางสังคมไม่มาก หรือไม่รู้แหล่งสำหรับการทำกิจกรรมอื่นๆ สามารถผูกติดตัวเองไว้กับทีวีได้โดยง่าย ยิ่งไปกว่านั้น หากปล่อยให้อาการจิตใจหดหู่ ไร้ความสุขใจเป็นเวลาต่อเนื่องกันเนิ่นนาน อาจทำให้สูญเสียบุคลิกภาพ หรือบั่นทอนการเข้าสังคม และจะส่งผลต่อหน้าที่การงานและการทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นส่วนตัวและของสังคม" โรบินสันระบุ

นอกจากนี้ เขายังชี้ให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งที่ตรงกันข้ามว่า หากเป็นบุคคลที่จิตใจเศร้าหมองอย่างที่สุด สามารถเปิดทีวีเพื่อเรียกหาสิ่งบันเทิงเริงรมย์เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น