ภาพความน่าสะพรึงกลัวของไดโนเสาร์จาก "จูราสสิค ปาร์ค" ที่เสกขึ้นโดยพ่อมดแห่งฮอลลีวูด จะติดตาจนกลายเป็นต้นตำรับแห่งหนังไดโนเสาร์ไม่ได้ หากขาด "ไมเคิล ไครช์ตัน" ผู้เขียนผู้สร้างตำนานทั้ง 2 ภาค ทว่าบัดนี้เขาจากโลกไปแล้ว "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" จะนำพาผู้อ่านไปย้อนรำลึกถึงชีวิตและผลงานของเขากันอีกครั้งหนึ่ง
การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ "ไมเคิล ไครช์ตัน" (Michael Crichton) นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกัน วัย 66 ปี ด้วยโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 4 พ.ย.51 สร้างความตกตะลึง ปนความโศกเศร้าเสียใจ ให้แก่ครอบครัว เพื่อนพ้อง รวมทั้งแฟนหนังสือและผลงานภาพยนตร์ของเขาเป็นอย่างยิ่ง เฉพาะที่แฟนชาวไทยรู้จักกันดีก็คือเรื่อง จูราสสิค ปาร์ค, เดอะ ลอส เวิลด์ และ อีอาร์ ห้องฉุกเฉิน (ER) ซีรีส์เรื่องดัง
ก่อนจะรำลึกถึงผลงานและความสำเร็จของเขา "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ขอพาย้อนเส้นทางของนักเขียนที่มีผลงานส่วนใหญ่เชิงวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี แนวสะพรึงกลัว (thriller) จากผลกระทบของความก้าวหน้า
ไครช์ตัน เกิดเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2485 ในเมืองชิคาโก มลรัฐอิลลินอยด์ สหรัฐอเมริกา ตามที่ระบุไว้ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของไครช์ตัน (www.michaelcrichton.net) เขาสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) เมืองแคมบริดจ์ มลรัฐแมสซาชูเซตต์ส ในปี 2507
จากนั้นเขาจบการศึกษาปริญญาเอกทางด้านการแพทย์ จากวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด (Harvard Medical School) ในปี 2512 ซึ่งเขาสนใจศึกษาแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ และมีผลงานการศึกษาวิเคราะห์กะโหลกของชาวอียิปต์โบราณ ตีพิมพ์ลงในวารสารของพิพิธภัณฑ์พีบอดี (Paper of the Peabody Museum) ในปี 2509
ไครช์ตันได้เข้าทำงานวิจัยหลังปริญญาเอกอยู่ที่ สถาบันซอล์ก (Salk Institute for Biological Studies) เมืองลา โฮยา (La Jolla) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในระหว่างปี 2512-2513 นอกจากนี้ยังเคยได้รับเชิญเป็นวิทยากรพิเศษเรื่องมานุษยวิทยาให้กับมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ (Cambridge University) สหราชอาณาจักร และเป็นนักเขียนรับเชิญให้กับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตต์ส (Massachusetts Institute of Technology)
ไครช์ตันสนใจงานเขียนมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา โดยผลงานนวนิยายเรื่องแรก ดิ แอนโดรเมดา สเตรน (The Andromeda Strain) ของเขาได้รับการตีพิมพ์ในปีเดียวกับที่เขาเรียนจบ จากวิทยาลัยแพทย์ฮาร์วาร์ด และในภายหลังเขาก็ผันตัวเองมาเป็นนักเขียนเต็มตัว
นับได้ว่าไครช์ตันเป็นนักเขียนยอดนิยมที่สุดของโลกคนหนึ่ง หนังสือของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากถึง 36 ภาษา และพิมพ์มากกว่า 150 ล้านเล่ม รวมถึงถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ถึง 13 เรื่องด้วยกัน
ดิ แอนโดรเมดา สเตรน เป็นนวนิยายเรื่องแรกที่ไครซ์เขียนขึ้น และเป็นเรื่องแรกของเขาที่ถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เมื่อปี 2514 นำมาฉายในชื่อภาษาไทยว่า "แอนโดรเมด้า สงครามสยบไวรัสล้างโลก ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามหาทางต่อกรกับจุลชีพร้ายกาจที่มาจากนอกโลก และหลังจากนั้นเขาก็มีผลงานออกมาอีกมากมายทั้งหนังสือและภาพยนตร์
ที่น่าสนใจคือเรื่อง เวสต์เวิลด์ (Westworld) ซึ่งไครช์ตันเป็นผู้เขียนบท และสร้างเป็นภาพยนตร์ด้วยตัวเองในปี 2516 โดยนับเป็นเรื่องแรกที่นำคอมพิวเตอร์มาใช้สร้างเทคนิคพิเศษของฮอลลีวูด จึงเรียกได้ว่าไครช์ตัน เป็นผู้บุกเบิกการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในวงการภาพยนตร์เลยทีเดียว และส่งผลให้เขาได้รับรางวัลออสการ์ สาขาเทคนิคยอดเยี่ยมไปครองในปี 2538 (Technical Achievement Academy Award) และยังได้รับอีกหลายรางวัลตามมา จากผลงานอีกหลายเรื่องของเขาเอง
ทว่าผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากที่สุดคือ จูราสสิค ปาร์ค และ เดอะ ลอสต์ เวิลด์ ที่เขียนขึ้นเมื่อปี 2533 และ 2538 ตามลำดับ โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความพยายามของนักวิทยาศาสตร์ ที่ต้องการทำให้สัตว์โลกล้านปีกำเนิดขึ้นมาอีกครั้ง บนเกาะห่างไกลไร้ผู้คน จนทำให้เกิดเรื่องราวน่าสะพรึงกลัวขึ้น
ทั้ง 2 เรื่องถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์โดยสตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ในปี 2536 และ 2540 จนโด่งดัง กลายเป็นตำนานอีกเรื่องหนึ่งของฮอลลีวูด โดยไครช์ตันมีส่วนร่วมในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง จูราสสิค ปาร์ค ด้วย
"พรสวรรค์ของเขาปรากฏออกมาอย่างโดดเด่นในเรื่องจูราสสิค ปาร์ค เขาทำได้ยอดเยี่ยมที่สุด ในการนำเอาวิทยาศาสตร์มาผสมผสานกับแนวคิดของการสร้างภาพยนตร์เรื่องยิ่งใหญ่ ซึ่งทำให้ผู้ชมเชื่อได้สนิทว่าไดโนเสาร์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว กลับมามีชีวิตบนโลกยุคปัจจุบันได้อีกครั้ง" ข้อความที่สปิลเบิร์กกล่าวถึงไครช์ตันผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์ หลังจากที่รู้ข่าวการเสียชีวิตของไครช์ตัน
นอกจากนี้ ยังมีการนำชื่อของไครช์ตันไปตั้งชื่อให้กับไดโนเสาร์สปีชีส์ใหม่ที่มีการค้นพบฟอสซิลในปี 2545 โดยมีชื่อว่า ไครช์ตันซอรัส โบห์ลินิ (Crichtonsaurus bohlini)
ส่วนชีวิตครอบครัวนั้น ไครช์ตันผ่านการสมรสทั้งสิ้น 5 ครั้ง และมีบุตรสาวเพียงคนเดียวคือ เทย์เลอร์ แอนน์ (Taylor Anne) ซึ่งเกิดกับแอนน์-แมรี มาร์ติน (Anne-Marie Martin) ภรรยาคนที่ 4 ของเขา ส่วนภรรยาคนล่าสุดคือ เชอร์รี อเล็กซานเดอร์ (Sherri Alexander) ที่เพิ่งแต่งงานกันไปเมื่อ 3 ปีก่อน
คนทั่วโลกอาจรู้จักไครช์ตันในฐานะนักเล่าเรื่องที่มีพรสวรรค์ และมากความสามารถ ทว่าภรรยา ลูกสาว ญาติ และเพื่อนพ้องของไครช์ตัน ต่างยกย่องเขาว่า เป็นบุคคลที่น่ารักน่าชื่นชม และสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรอบข้าง ให้เกิดความพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อให้พบเห็นเรื่องราวมหัศจรรย์บนโลกใบนี้
ผลงานทั้งหมดของไครช์ตัน*
นวนิยาย
- ดิ แอนโดรเมดา สเตรน (THE ANDROMEDA STRAIN, 2512) หรือ ชีววิกฤต แปลโดย อารียา นกพลับ
- เดอะ เทอร์มินอล แมน (THE TERMINAL MAN, 2515) หรือ มนุษย์สมองแฝด แปลโดย บุญนวรัตน์
- เดอะ เกรท เทรน รอบเบอรี (THE GREAT TRAIN ROBBERY, 2518) หรือ ปล้นเหนือเมฆ แปลโดย ชนาธิป สินธนาชีวะ
- อีเตอร์ ออฟ เดอะ เดด (EATERS OF THE DEAD, 2519) หรือ ไอ้คลั่งคืนถิ่น แปลโดย อัครเดช รณชัย
- คองโก (CONGO, 2523)
- สเฟียร์ (SPHERE, 2530) หรือ มิติทะลุโลก แปลโดย พันธุ์ อรรณพ หรือ สเฟียร์ แปลโดย กำจาย ตะเวทิพงศ์
- จูราสสิค ปาร์ค (JURASSIC PARK, 2533) หรือ จูราสสิกปาร์ก แปลโดย กำจาย ตะเวทิพงศ์
- ไรซิง ซัน (RISING SUN, 2535)
- ดิสโคลสเซอร์ (DISCLOSURE, 2537) หรือ เดิมพันชีวิต แปลโดย สุวิทย์ ขาวปลอด
- เดอะ ลอสต์ เวิลด์ (THE LOST WORLD, 2538) จูราสสิกปาร์ก ภาค 2 แปลโดย สุวิทย์ ขาวปลอด
- แอร์เฟรม (AIRFRAME, 2539) หรือ 545 เที่ยวบินนรก แปลโดย สุวิทย์ ขาวปลอด
- ไทม์ไลน์ (TIMELINE, 2542) หรือ ข้ามเวลาฝ่ามิติอันตราย แปลโดย ขจรจันทร์
- เพรย์ (PREY, 2545) หรือ เหยื่อ แปลโดย ขจรจันทร์
- สเตต ออฟ เฟียร์ (STATE OF FEAR, 2547)
- เน็กซ์ (NEXT, 2549)
นวนิยายที่เขียนขึ้นโดยใช้นามปากกา จอห์น แลงจ์ (John Lange) หรือ เจฟฟรี ฮัดสัน (Jeffery Hudson)
- ออดส์ ออน (Odds On, John Lange, 2509)
- สแครทช์ วัน (Scratch One, John Lange, 2510)
- อีซี โก (Easy Go, John Lange, 2511)
- อะ เคส ออฟ นีด (A Case of Need, Jeffery Hudson, 2511) หรือ ฆาตกรรมช้ำสวาท แปลโดย สุวิทย์ ขาวปลอด
- ซีโร คูล (Zero Cool, John Lange, 2512)
- เดอะ เวนนัม บิสสิเนส (The Venom Business, John Lange, 2512)
- ดรัก ออฟ ชอยซ์ (Drug of Choice, John Lange, 2513)
- ดีลลิง (Dealing, 2513) เขียนร่วมกับน้องชายคือ ดักลาส ไครช์ตัน จึงใช้นามปากการ่วมกันว่า ไมเคิล ดักลาส (Michael Douglas)
- เกรฟ ดิเซนด์ (Grave Descend, John Lange, 2513)
- ไบนารี (Binary, John Lange, 2515)
ผลงานเขียนอื่นๆ ที่ไม่ใช่นวนิยาย
- ไฟวฟ์ เพเชียน (FIVE PATIENTS: The Hospital Explained, 2513)
- แจสเปอร์ จอห์น (JASPER JOHNS, 2520)
- อิเล็กทรอนิก ไลฟ์ (ELECTRONIC LIFE, 2526)
- เทรฟเวิล (TRAVELS, Knopf, 2531)
- แจสเปอร์ จอห์น (JASPER JOHNS (revised edition), 2537)
ภาพยนตร์ ที่ไครช์ตันมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นผู้เขียนบท, ผู้กำกับ หรือผู้อำนวยการสร้าง
- เพอร์ซูท (PURSUIT, 2515)
- เวสต์เวิลด์ (WESTWORLD, 2516)
- โคม่า ธนาคารคนดิบ (COMA, 2521)
- ปล้นผ่าราง (THE GREAT TRAIN ROBBERY, 2522)
- ลุคเกอร์ (LOOKER, 2524)
- รันอะเวย์ (RUNAWAY, 2527)
- ฟิสิคัล อิวิเดนซ์ (PHYSICAL EVIDENCE, 2532)
- จูราสสิค ปาร์ค (JURASSIC PARK, 2536)
- ไรซิง ซัน กระชากเหลี่ยมพระอาทิตย์ (RISING SUN, 2536)
- ดิสโคลสเซอร์ (DISCLOSURE, 2537)
- ทวิสเตอร์ ทอร์นาโดมฤตยูถล่มโลก (TWISTER, 2539)
- สเฟียร์ (SPHERE, 2541)
- พลิกตำนานสงครามมรณะ (13TH WARRIOR, 2542) สร้างจากผลงานหนังสือเรื่อง อีเตอร์ ออฟ เดอะ เดด (EATERS OF THE DEAD, 2519)
ภาพยนตร์ที่สร้างจากหนังสือของไครช์ตัน
- แอนโดรเมด้า สงครามสยบไวรัสล้างโลก (THE ANDROMEDA STRAIN, Universal, 2514)
- เดอะ แครีย์ ทรีตเมนต์ (THE CAREY TREATMENT, 2515)
- ดีลลิง (DEALING: OR THE BERKLEY TO BOST0N FORTY-BRICK LOST BAG BLUES, 2515)
- เดอะ เทอร์มินอล แมน (THE TERMINAL MAN, 2517)
- คองโก มฤตยูหยุดนรก (CONGO, 2538)
- เดอะ ลอสต์ เวิลด์: จูราสสิค ปาร์ค ภาค 2 (LOST WORLD: JURASSIC PARK II, 2540)
- ข้ามมิติเวลาฝ่าวิกฤติอันตราย (TIMELINE, 2546)
ละครชุดทางโทรทัศน์
- อีอาร์ ห้องฉุกเฉิน (ER, 2537)
งานเขียนที่ถูกนำไปสร้างเป็นเกมคอมพิวเตอร์
- อะเมซอน (AMEZON, 2525)
- ไทม์ไลน์ (TIMELINE, 2543)
(*ข้อมูลจาก michaelcrichton.net และ wikipedia.org)