เจ้าของโรงงานกล้วยตากไทไท เตรียมแจ้งเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ "ไซรัปกล้วย" น้ำหวานจากผลไม้ไทยชนิดแรก ได้จากกระบวนการผลิตกล้วยตาก ให้กลิ่นรสหอมหวาน หวังลดการนำเข้าไซรัปจากเมืองนอก พร้อมเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค ผู้ป่วยเบาหวานก็รับประทานได้ไม่เพิ่มโทษ
นายศิริ วนสุวานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศิริวานิช (เอส แอนด์ ดับเบิลยู) จำกัด เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ในงานแนะนำ 10 นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติของไทย เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่าในกระบวนการผลิตกล้วยตาก จะได้น้ำหวานจากกล้วย จึงคิดทำไซรัปกล้วย เพื่อช่วยลดการนำเข้าไซรัปจากต่างประเทศ และเป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภค
"ไซรัปที่นิยมนำบริโภคส่วนใหญ่เป็นไซรัปเมเปิล ไซรัปแอปเปิล ซึ่งประเทศไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศปีละนับพันล้านบาท โดยอาจนำมาบริโภคโดยตรง หรือใช้เป็นส่วนผสมในอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อให้มีรสหวานและมีกลิ่นหอม ซึ่งไซรัปเป็นน้ำหวานที่ได้จากผลไม้แท้ๆ 100% จึงให้กลิ่นหอมตามธรรมชาติ และได้ความหวานจากน้ำตาลฟรุกโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ขณะที่น้ำเชื่อมทั่วไปเกิดจากการละลายน้ำตาลซูโครส ซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่" นายศิริ เจ้าของผลิตภัณฑ์กล้วยตากไทไทอธิบาย
ในกระบวนการผลิตกล้วยตากในแต่ละวัน จะได้น้ำหวานตามธรรมชาติของกล้วยซึมออกมาจากเนื้อกล้วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการหมักบ่มโดยธรรมชาติของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติที่เปลี่ยนแป้งในกล้วยให้เป็นน้ำตาล จึงเกิดแนวคิดที่จะนำน้ำหวานจากกล้วยตากนี้มาผลิตเป็นไซรัปกล้วย โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ในการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์
นายศิริอธิบายต่อว่า การผลิตกล้วยตากในตู้อบลมร้อนวันละ 1,500 กิโลกรัม สามารถแยกเอาน้ำหวานเบื้องต้นจากกล้วยได้ประมาณ 100 กิโลกรัม จากนั้นนำไปหมักบ่มตามธรรมชาติต่ออีก 7 วัน ในสภาวะที่ควบคุมให้เหมาะสม โดยไม่มีการเติมแต่งสารใดๆ ทั้งสิ้น
จากนั้น ทำให้เข้มข้นด้วยความร้อน ซึ่งจะได้น้ำหวานจากกล้วยเข้มข้นหรือไซรัปกล้วยประมาณ 40 กิโลกรัม มีลักษณะสีน้ำตาลอ่อนใส และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวของกล้วยน้ำว้าสายพันธุ์มะลิอ่อง และมีรสชาติอมเปรี้ยวเล็กน้อยของกรดมาลิก ซึ่งเป็นกรดผลไม้ตามธรรมชาติ
ไซรัปกล้วยนี้ มีค่าความหวานมากกว่า 70 องศาบริกซ์ มีส่วนประกอบของน้ำตาลฟรุกโตส ซึ่งเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว เมื่อรับประทานเข้าไปร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ทันที ทำให้มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดน้อยกว่าการบริโภคน้ำตาลซูโครส (น้ำตาลทราย) ที่ต้องอาศัยอินซูลินในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เหมาะสม ดังนั้นจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภค รวมทั้งผู้ป่วยเบาหวาน
อย่างไรก็ตาม นายศิริกล่าวต่อว่าก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยและการผลิตไซรัปกล้วยมาแล้ว แต่กระบวนการดังกล่าวต้องใช้เอนไซม์เข้าช่วยทำปฏิกิริยา และใช้เทคโนโลยีสูง จึงทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง ส่วนของตนเองนั้นอาศัยกระบวนการอบและหมักโดยธรรมชาติเป็นหลัก จึงมีต้นทุนต่ำกว่า ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายในเดือน ธ.ค. นี้ ในชื่อว่า "นาส์ อัพ" (Na's up) โดยจะมีราคาถูกกว่าไซรัปนำเข้าประมาณครึ่งหนึ่ง.