xs
xsm
sm
md
lg

Innovative Teachers 9 ครูไทยใช้ “ไอที” สร้างสื่อดีระดับนานาชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โฉมหน้า Innovative Teachers จากไทยทั้ง 9 คน
แม้ว่าความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะติดดาบด้านลบมาด้วย แต่ประโยชน์จากการสื่อสารไฮเทคก็มีคุณูปการเหลือคณานับ หากเราสามารถเลือกใช้ให้เป็น โดยเฉพาะประโยชน์ทางด้านการศึกษา ที่เทคโนโลยีสารสนเทศถูกหยิบมาเป็นสื่อการเรียนการสอน และเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น

เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกับ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดโครงการ “Innovative Teachers Leadership Award 2007” ขึ้น เปิดโอกาสให้ครูผู้สอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั่วประเทศ ส่งผลงานด้านการนำเทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนเข้าร่วมประกวด ซึ่งโครงการดังกล่าวมีครูสนใจส่งผลงานเข้าประกวดถึงกว่า 800 ผลงาน โดยทางโครงการได้คัดผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ จำนวน 10 คน เพื่อเป็นตัวแทนครูจากประเทศไทยเข้าร่วมประชุม และนำเสนอผลงานของครูเพื่อประกวด ในระดับนานาชาติในงาน“Microsoft Regional Innovative Teacher’s Conference 2008” ณ เมืองฮานอย ประเทศเวียดนามในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

สำหรับตัวแทนครูจากประเทศไทยที่เข้าร่วมงาน “Microsoft Regional Innovative Teacher’s Conference 2008” ประกอบด้วย ครูประทิน ตั้งใจ จากโรงเรียนสงเคราะห์เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ครูปราโมทย์ ศรีดี โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยพิษณุโลก จ.พิษณุโลก ครูดรุณี ทุมมากรณ์ โรงเรียนบ้านขามเบี้ย จ.อุบลราชธานี ครูเสาวรักษ์ บุญรักษ์ โรงเรียนบ้านวังยวน จ.นครศรีธรรมราช ครูลดาวัลย์ เฮงวิจิตกุล โรงเรียนไผทอุดมศึกษา จ.กรุงเทพมหานคร ครูกุลนิษฐ์ วงศ์แก้ว โรงเรียนวัดจันทร์ประดิษฐาราม ครุชนารัตน์ คำอ่อน โรงเรียนระยองวิทยาคม จ.ระยอง ครูนาถฤดี แซ่ตัน โรงเรียนสตรีระนอง จ.ระนอง และครูพงศ์ปณต ผ่องพันธุ์งาม โรงเรียนจิตรลดา พระตำหนักสวนจิตรลดา จ.กรุงเทพฯ ส่วนครูธาตรี พิมพ์บึง โรงเรียนเมืองพลพิทยาคม จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศด้วยเช่นกัน แต่ขอสละสิทธิ์ไม่เดินทางไปร่วมงานที่เวียดนามด้วยเนื่องจากติดภารกิจสำคัญ

การเดินทางเข้าร่วมงานของครูไทยในครั้งนี้ นอกจากนำผลงานของตัวเองไปประกวดหาอันดับ 1 ของประเทศไทยแล้ว คุณครูทั้ง 9 คน ยังมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และติดตามความก้าวหน้าในการใช้ ICT เป็นสื่อการเรียนการสอนจากเพื่อนครูจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเดียวกันอีกด้วย

ครูน้ำหวานคว้าที่ 1 ของครูไทย
ในการประชุมครั้งนี้ “ครูนาถฤดี แซ่ตัน” หรือ “ครูน้ำหวาน” จากโรงเรียนสตรีระนอง จ.ระนอง เป็นผู้คว้ารางวัลชนะเลิศเหนือครูไทยจากประเทศเดียวกัน เพื่อเข้าแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในการประชุมระดับนานาชาติ ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีนี้

ครูน้ำหวาน เล่าถึงผลงานของตนเองที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในกลุ่มประเทศไทยว่า เป็นการใช้บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือ CAI ในการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กระดับช่วงชั้นที่ 3 โดยครูน้ำหวานใช้สอนเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งเด็กทุกคนจะได้เรียนเนื้อหาวิชาในชั้นเรียนก่อน จากนั้นจะแบ่งกลุ่มให้เด็กเขียนสตอรี่บอร์ดในเรื่องที่เรียนออกมา

“ยกตัวอย่างเรื่องการระบบหายใจ เมื่อเด็กได้เรียนเนื้อหาแล้ว เราก็ให้เขาจับกลุ่มเขียนออกมาเป็นสตอรี่บอร์ดตามจินตนาการที่เขาเข้าใจ เด็กก็จะเขียนออกมาเป็นรูปการ์ตูน ตั้งแต่เราสูดลมหายใจเข้าไป ภาพที่เด็กวาดออกมานั้น จะทำให้เรารู้ด้วยว่า เด็กเข้าใจเนื้อหาที่เราสอนถูกต้องหรือไม่ เพราะหากเด็กไม่เข้าใจ เขาจะถ่ายทอดออกมาไม่ได้ หรือหากเข้าใจผิด สอรี่บอร์ดที่ส่งมาให้ครูก็จะผิดมาด้วย เราก็จะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อให้เขากลับไปแก้ไข เมื่อสตรอรี่บอร์ดถูกต้องแล้ว เราจึงให้เด็กได้ใช้โปรแกรม CAI ผลิตเป็นแอนิเมชันง่ายๆ ออกมาเป็นบทเรียนเรื่องนั้นๆ”

ครูน้ำหวาน เล่าต่อไปว่า เด็กจะได้ลงมือผลิตแอนิเมชันเองทุกขั้นตอน จนออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหว ซึ่ง CAI ที่นำมาใช้นั้น ไม่ยากเกินไปสำหรับเด็ก ม.2 จะทำความเข้าใจ นอกจากนั้น เด็กจะคิดคำถามเกี่ยวกับบทเรียนรูปของเกมให้เพื่อนๆ ได้ตอบคำถาม เมื่อตอบถูกก็จะได้คะแนน และผ่านด่านไปยังข้อต่อไป เป็นต้น

เมื่อบทเรียนแอนิเมชั่นของเด็กๆ ออกมาเป็นรูปร่างสำเร็จแล้ว ครุน้ำหวานจะนำเอาบทเรียนดังกล่าว ใส่ไว้ในเว็บไซต์ www.numwan.gurugurucom.com เพื่อให้เด็กทั้งในโรงเรียนและโรงเรียนอื่นๆ ได้เข้ามาเรียนรู้ ขณะเดียวกัน ก็จัดเก็บในรูปของซีดี-รอม เพื่อให้เด็กที่บ้านไม่มีอินเทอร์เน็ตได้นำกลับไปใช้เรียนที่บ้านด้วย ซึ่งเด็กที่เข้าไปทำแบบฝึกหัดหรือใช้บทเรียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ของครูน้ำหวาน ระบบจะบันทึกข้อมูล คะแนนแบบฝึกหัดที่เด็กเข้าไปทำเพื่อทบทวน ซึ่งครูน้ำหวานจะนำผลจากหน้าเว็บไซต์มาเป็นส่วนหนึ่งในการให้คะแนนเด็กนักเรียนด้วย

“วิธีการเรียนการสอนแบบนี้ เราได้ประโยชน์ไม่เฉพาะโรงเรียนเราเท่านั้น เด็กและครูจากโรงเรียนอื่นก็เข้ามาใช้งานได้ เพราะเราเปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาใช้ได้ และยังช่วยแก้ปัญหาเด็กไม่สนใจเรียนได้ดีอีกด้วย เพราะทุกห้องเรียนจะมีเด็กประเภทตัวป่วนประจำห้อง เวลาเรียนจะเล่นคุย นั่งหลังห้อง แต่พอเราเอา ICT และรูปแบบการสอนแบบนี้ไปใช้ เด็กกลุ่มนี้จะสนใจ ขยับมานั่งหน้าห้อง รีบจองคอมพิวเตอร์ และอาสาที่จะช่วยคลิกเมาธ์ให้ครู และยิ่งได้เห็นผลงานตัวเองออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหว เขายิ่งภาคภูมิใจ และทำให้ผลการเรียนดีขึ้นตามไปด้วย”

ยูเนสโกหนุนใช้ ICT แก้ปัญหาการศึกษา
ด้าน ดร.เชลดอน เชฟเฟอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิกขององค์การยูเนสโก กล่าวถึงบทบาทของยูเนสโกว่า ยูเนสโกสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค นำเอา ICT มาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการของแต่ละประเทศ อย่างไรก็ตาม การนำเอา ICT มาใช้นั้น ต้องมีการวางแผนและปรับให้เหมาะกับลักษณะเฉพาะของแต่ละประเทศ เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีความพร้อมที่แตกต่างกัน แต่เชื่อว่า ต่อไปในอนาคต ICT จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาการศึกษา ซึ่งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงของรัฐบาลในประเทศนั้นๆ ด้วย ในส่วนของรัฐบาลไทย เรามีการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการของไทยอยู่หลายโครงการ อันจะช่วยในการพัฒนา และสร้างการวัดผลด้านการศึกษาที่ดีให้เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

“ส่วนผลกระทบในทางไม่ดีที่เกิดจากการ ICT ไม่ถูกทางนั้น ควรมีระเบียบ หรือกฎเกณฑ์ที่จะช่วยตรวจทานการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด นอกจากนี้พ่อแม่ และครูก็ต้องช่วยกันสอดส่องดูแล และแนะนำบุตรหลานให้ใช้ ICT ในทางที่ถูกและก่อประโยชน์ เพราะระบบในการดูแลที่ดีนั้น ไม่ได้เกิดจากการทำงานของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เกิดจากความร่วมมือของทุกคนในสังคม”

ดร.เชลดอน กล่าวอีกว่า ICT อาจจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่มีเหตุการณ์ไม่สงบเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ เพราะเมื่อพื้นที่ดังกล่าวเกิดความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้ประชาชนถูกตัดขาดไปด้วย แต่หากเราเอา ICT เข้าไปช่วย ให้เขาได้รับการศึกษา และได้เรียนรู้ร่วมกับเพื่อนในพื้นที่อื่นๆ ไม่เพียงแต่การศึกษาของคนในพื้นที่เท่านั้นที่จะพัฒนาดดยไม่ขาดตอน แต่ยังเป็นการแลกเปลี่ยนด้านภาษา ดึงเอาจิตใจของคนในชาติกลับมา และความแตกแยกก็จะลดน้อยลงด้วย

ตั้งเป้าสร้างสังคมครูเชื่อมโยงทั่วโลก
ขณะที่ วินเซนต์ กัวห์ Director,Public Sector Programs Microsoft Asia Pacific ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการ Innovative Teachers ในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการ Innovative Teachers Leadership ของไมโครซอฟท์นั้น มีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายของครูในแต่ละประเทศทั่วโลกเชื่อมโยงกัน ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำกลับไปใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนของตนเอง ซึ่งการประชุมที่จัดขึ้นแต่ละครั้งนั้น ครูที่เข้าร่วมประชุมจะมีผลงานของตนเองเพียง 1 ชิ้น แต่เขาสามารถมาเรียนรู้ผลงานจากเพื่อนครูจากประเทศอื่นๆ ได้อีกหลายสิบชิ้น ขณะที่เขาเองก็สามารถแบ่งปันสิ่งที่เขาทำให้ครูคนอื่นได้ด้วยเช่นกัน ถือเป็นผลสำเร็จที่ทางไมโครซอฟท์ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการต้องการจะเห็น

“การประชุมครั้งล่าสุดที่ประเทศเวียดนามนั้น ผมมีความพอใจค่อนข้างมาก เพราะการดำเนินโครงการนี้ทำมาเป็นปีที่ 4 แล้ว ผมได้เห็นพัฒนาการของครูในแต่ละประเทศในเอเชียแปซิฟิคในการประยุกต์ใช้ ICT กับการเรียนการสอน มีผลงานที่มีคุณภาพมากขึ้น และสิ่งเหล่านี้ส่งผลไปถึงคุณภาพการศึกษาของเด็กได้จริงๆ”
วินเซนต์ ฝากให้กำลังคุณครูด้วยว่า การจะนำเอา ICT ไปใช้ให้ประสบความสำเร็จนั้น คุณครูต้องไม่กลัวที่จะผิดพลาด และต้องกล้าที่จะถาม ขณะเดียวกัน ก็ต้องพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยคุณครูจะต้องมีความสนใจในสิ่งที่จะทำอย่างเต็มที่ และต่อเนื่อง เพียงเท่านี้ทุกคนก็จะสามารถสร้างผลงานที่มีคุณภาพได้แล้ว
ครูน้ำหวาน “นาถฤดี แซ่ตัน”รับรางวัลจาก ดร. เชลดอน เชฟเฟอร์
ครูที่ได้รับรางวัลชนะเลิศแต่ละประเทศ
ดร.เชลดอน เชฟเฟอร์ ผอ.สำนักงานศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชีย และแปซิฟิกขององค์การยูเนสโก
วินเซนต์ กัวห์ Director,Public Sector  Programs Microsoft Asia Pacific
กำลังโหลดความคิดเห็น