“บรรหาร” เผยเหตุไม่ร่วมประชุมสภา เมื่อเช้า อ้าง พปช.ยังไม่นิ่ง หวั่นถึงตอนโหวตเสียงแตก เรื่องราวบานปลายไม่จบ และอยากได้นายกฯที่สมานฉันท์ ไม่เอา “ส.สมัคร” แต่ถ้าเป็น “3 ส.” ที่มาเชิญถึงพรรคพอไหว ยืนยันไม่เปลี่ยนใจจับขั้วประชาธิปัตย์ อ้างต้องรักษาสัจจะที่มีมาตลอด 30 ปี
วันนี้ (12 ก.ย.) นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการหาตัวนายกฯคนใหม่ ว่า เชื่อว่า ภายใน 4 วันนี้ จะได้ตัวผู้ที่เหมาะสมที่จะมาเป็นนายกฯ ส่วนสาเหตุที่สมาชิกพรรคชาติไทยไม่ไปร่วมประชุมสภา เมื่อเช้าที่ผ่านมา เนื่องจากพรรคพลังประชาชนยังไม่นิ่ง ไม่เป็นเอกภาพว่าจะให้ใครเป็นนายกฯ ดังนั้น หากไปร่วมประชุมแล้วเสียงก็จะแตก ไม่รู้ว่าจะโหวตให้ใคร และไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เรื่องก็ไม่จบ ตนขอฝากข้อคิดว่าเขาจะทำอะไรก็อย่าให้เกิดปัญหาในอนาคต ตอนนี้ก็ต้องรอให้พรรคพลังประชาชนทำทุกอย่างให้นิ่ง และคิดให้รอบคอบ ส่วนคนที่จะมาเป็นนายกฯ ตนก็ยังยืนว่า ต้องเป็นคนที่สมานฉันท์และมีความอะลุ้มอะล่วย อย่างไรก็ตาม เมื่อคืนตนนอนไม่ค่อยหลับ เนื่องมาจากคิดถึงบ้านเมืองว่าจะไปอย่างไร แต่ไม่ใช่นอนไม่หลับแต่คิดมากหลับๆ ตื่นๆ
เมื่อถามว่า “3 ส.” ของพรรคพลังประชาชน พอจะเป็นนายกฯได้หรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า 3 ส.พอไหว เมื่อถามต่อว่าแล้วเป็น “ส.สมัคร” ได้หรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า อย่ามาถามหาเรื่อง ต้องเป็น 3 ส.ที่มาพบตนที่พรรค
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า วันนี้ เราจะเจอแสงสว่างทางปลายอุโมงค์แล้วหรือยัง นายบรรหาร กล่าวว่า น่าจะมีทางออก เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะตั้งรัฐบาลแห่งชาติ นายบรรหารกล่าวว่า ไม่จำเป็น ถ้าสถานการณ์คลี่คลายไปในทางทีดีได้
เมื่อถามต่อว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่พรรคชาติไทยจะไปจับขั้วกับพรรคประชาธิปัตย์ นายบรรหารกล่าวว่า ไม่จริง จับกันไม่ได้ เห็นเหตุการณ์เมื่อเช้าก็รู้แล้ว ส่วนที่ตนพูดว่าหวานคอแร้งในการปราศรัยกับลูกพรรคก็ไม่ได้พูดกระทบใคร เพียงแต่ตนกินน้ำหวานมากแล้วคอเลยแห้ง พร้อมทั้งยืนยันว่า จะไม่เปลี่ยนขั้ว เพราะตนรักษาสัจจะมา 30 ปีแล้ว ไม่เคยเบี้ยวใคร
นายบรรหาร กล่าวต่อว่า ตนอยากให้รักษาการนายกฯ ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะหลายฝ่ายเขาก็เรียกร้อง เพราะมันกระทบกับปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อเวลา 15.30 น. วันเดียวกัน นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ได้กล่าวปราศรัยต่อสมาชิกพรรคในการประชุมใหญ่พรรคชาติไทยประจำปี 2551 ว่า บางคนอาจมองว่าทำไมคราวนี้ขั้นตอนในการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคและคณะกรรมการต่างๆจึงยุ่งเหยิงแบบนี้ ซึ่งก็เป็นเพราะรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งผู้ร่างเป็นนักวิชาการจึงได้วางหลักเกณฑ์ไว้ยุ่งยากเช่นนี้ ในรัฐธรรมนูญปี 50ในมาตรา 190 เรื่องสนธิสัญญาที่จะเข้าสภาฯก็ไม่ชัดเจนจนทำให้เกิดกรณีเขาพระวิหารเกิดขึ้น อย่างมาตรา 237 (2) ว่าหากกรรมการบริหารไปกระทำความผิดและ กกต.ให้ใบแดงต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคทำให้กรรมการบริหารพรรคอื่นติดร่างแหไปด้วย จะเห็นได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็ลดจำนวนกรรมการบริหารพรรคเหลือ 18 คน ซึ่งพรรคชาติไทยก็ต้องลดจำนวนรองหัวหน้าพรรคลงด้วย จึงมีหลายเรื่องหลายราวที่ต้องแก้ไข ตอนที่รัฐธรรมนูญปี 50 ประกาศใช้ตนจึงประกาศว่าหากเลือกตั้งเสร็จจะเข้าไปแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไอ้คนที่ไม่อยากให้แก้ไม่เห็นลงเลือกตั้ง จึงอยากท้าให้คนเหล่านี้มาลงเลือกตั้งบ้าง การที่มีกลุ่มหนึ่งบอกว่าจะเอาการเมืองใหม่ 70: 30 ไม่มีใครยอมรับ แบบนี้มันถอยหลังเข้าคลอง ระบบรัฐสภา มีวุฒิสภาเป็นเรื่องที่ถูกต้อง จึงบอกว่าคนที่ร่างไม่ได้มาจากผู้แทนราษฎรเป็นการร่างสมัย คมช.จึงเกิดความยุ่งยากเกิดขึ้น
นายบรรหาร กล่าวต่อว่า หลายคนสงสัยเรื่องการโหวตนายกฯว่าทำไมประธานสภาฯนัดให้มีประชุมสภาเพื่อเลือกนายกฯแต่กลับไม่โหวต ตนจะบอกว่าการเลือกนายกฯวันนี้มันด่วนเกินไป พรรคชาติไทยมีจุดยืนหากพรรคไหนมีจำนวนส.ส.สูงสุดเราจะเปิดให้พรรคนั้นจัดตั้งรัฐบาลแต่หากตั้งไม่ได้พรรคที่มีคะแนนรองจึงจัดตั้งรัฐบาลเรายึดแนวทางนี้มาตั้งแต่ปี 2531 เป็นเวลา 30-40 ปีแล้วไม่เคยคิดเปลี่ยนกติกาดังกล่าว เมื่อสมัยปี 2531 พรรคชาติไทยได้เสียง 87 เสียงได้คะแนนรองลงมา แล้วพรรคกิจสังคมจะเสนอแข่งแต่บังเอิญผู้ใหญ่ขอให้พรรคชาติไทยถอนเราก็ถอน ต่อมาในปี 2538 พรรคชาติไทยได้เสียง 81 เสียงส่วนพรรคประชาธิปัตย์ 77เสียงซึ่งคราวนี้พรรคชาติไทยได้เป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล และมาในปี 2550 ได้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ทั้งที่เราได้มีการจับมือระหว่างพรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อแผ่นดิน และได้ประเมินว่าน่าจะได้เสียงเกิน 280 กว่าเสียงและพรรคพลังประชาชนน่าจะได้ 160 เสียงแต่เหตุการณ์ผ่านไปพรรคพลังประชาชนได้ส.ส.เข้ามามากเป็นอันหนึ่งหนึ่งเราก็ต้องปล่อยให้เขาจัดตั้งรัฐบาล
นายบรรหาร กล่าวต่อว่า จึงเป็นที่มาว่าทำไมต้องให้พรรคพลังประชาชนจัดตั้งรัฐบาล แต่ฝ่ายโจมตีก็บอกว่านายสมัครเป็นนอมินี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีการปลุกระดมกระจายไปทุกแห่ง ซึ่งก็น่าเห็นใจพ.ต.ท.ทักษิณ อยู่เมืองนอกก็ลำบากพอสมควร ตนไม่ได้แก้ตัวแทน ท่านก็เจอคดีก็ไม่รู้ว่าจะออกหัวหรือก้อย คงไปช่วยท่านไม่ได้ เรามีจุดยืนว่าท่านต้องเข้ากระบวนการยุติธรรม เมื่อ 2 วันที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่านายสมัคร เราก็ได้หารือมาตลอดว่าจะทำอย่างไร วันนี้กระแสสังคม นักเรียนนักศึกษาก็ไม่เห็นด้วยให้นายสมัครกลับมาเป็นนายกฯ แล้วพรรคพลังประชาชนก็มาเชิญพรรคชาติไทยเมื่อวันสองวันนี้ว่าในฐานะพรรคชาติไทยร่วมรัฐบาลก็ขอให้ร่วมต่อไป เราก็ยินดี เราไม่สลับขั้วเพราะสลับอย่างไรคะแนนก็ไม่ถึง
หัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า แต่ก็ฝากรัฐบาลว่าคนที่จะมาเป็นผู้นำรัฐบาลต่อไปต้องเป็นคนมีมนุษย์สัมพันธ์ ถ้อยทีถ้อยอาศัย สมานฉันท์ ลดความขัดแย้ง ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองไปไม่รอด ตนก็ถูกกดดันจากหลายฝ่าย ในการประชุมพรรคชาติไทยก็พูดกันมาก บางคนก็ถึงกับน้ำตาคลอ ซึ่งในพรรคพลังประชาชนก็แตกเป็นหลายฝ่ายและไม่เห็นด้วย จึงเห็นว่าควรขยายเวลาออกไป 3-4 วันจะดีกว่า เพื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้ โดยให้คำนึงถึงความสงบสุขของประเทศ อันนี้จึงเป็นที่มาขององค์ประชุมไม่ครบ
“ ส่วนอีกพรรคหนึ่งไม่ต้องพูดถึงคิดว่าหวานคอแร้ง กูได้เป็นนายกฯแน่ เกมต่อเกมก็ต้องแก้เกมกัน แต่ตอนนี้มันก็จบแล้ว ตอนนี้ผู้คนแตกแยกกันมาก บางเวทีก็ให้ข้อมูลที่ผิด ผมเคยพูดว่าวันนี้ประเทศชาติแย่อยู่แล้ว ในหลวงรับสั่งว่าบ้านเมืองใกล้ล้มจมแล้ว แต่ผมเชื่อในพระสยามเทวาธิราชว่ายังมีอยู่ อย่างไรเราก็ต้องช่วยกันกอบกู้ เมื่อคืนผมไม่ได้นอนทั้งคืน ไม่ได้ทำอะไรหรอกแต่นั่งปรึกษาหารือกันว่าจะทำอะไร ”นายบรรหารกล่าว