xs
xsm
sm
md
lg

เก็บตก "สิ่งทอนาโน" ในงาน "นาโนไทยแลนด์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถุงมือนาโน ผสม นาโนซิลเวอร์ ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรีย



จัดงานครบ 3 วันเต็ม สำหรับ "นาโนไทยแลนด์" แม้ภาพรวมของงานจะโดน "สารอาหารบำรุงรากผม" ที่ได้พรีเซนเตอร์ระดับ "รัฐมนตรี" ออกมา "การันตี" คุณภาพ แต่ภายในงานก็ยังมีงานวิจัยทางด้านนาโนเทคโนโลยีอื่นๆ ที่น่าสนใจให้ได้ชม หลังจากเดินวนชมนิทรรศการอยู่หลายรอบ "ผู้จัดการวิทยาศาสตร์" ก็เห็นว่ามี "สิ่งทอนาโน" หลากหลายรูปแบบมาจัดแสดงในงานนี้

เริ่มตัวอย่างของ "สิ่งทอนาโน" ภายในงานการประชุมและนิทรรศการ "นาโนไทยแลนด์" (NanoThailand Symposium 2008) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 พ.ย.51 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่บูธของบริษัท ครีเอทีฟ เทคโนโลยี โซลูชัน จำกัด ที่ขนสารพัดผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับนาโนมาจัดแสดง อาทิ สบู่ เซรัมบำรุงผิว เจลอาบน้ำ แต่ที่สะดุดตาเราก็คือ "ถุงมือนาโน" ที่สวมใสโดย "พริตตี้" สาวสวยประจำบูธ

นายสุรพงษ์ ฉินทองประเสริฐ กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ถุงมือดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ทีได้จากสิ่งทอซึ่งเคลือบ "นาโนซิลเวอร์" (nanosilver) ระหว่างกระบวนการทอก่อนตัดเย็บ ซึ่งทำให้ได้สิ่งทอที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย และนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอุตสาหกรรมอาหารที่ต้องการความสะอาดและปลอดเชื้อ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคในกระบวนการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมรถยนต์ ทั้งนี้บริษัทเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากเกาหลีทั้งหมด




มาถึงบูธที่เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มีตัวอย่างของสิ่งทอที่อยู่ในขั้นตอนของงานวิจัย แต่ดูเป็นความหวังสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ในอนาคต เริ่มจากเส้นใยผสมผงถ่านกะลามะพร้าวซึ่งเป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทำให้ได้เส้นใยสีเทาๆ ที่มีคุณสมบัติดูดกลิ่น ดูดซับความชื้นและต้านแบคทีเรีย ซึ่งนำไปทอเป็นถุงเท้าได้

สำหรับสิ่งทอของสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาฯ มีด้วยกันถึง 3 ผลงาน ซึ่งยังคงเป็นสิ่งทอในระดับงานวิจัยเช่นกัน นั่นคือ "เสื้อกันยุง" ที่ใช้เทคโนโลยีนาโนแคปซูลผสมเข้ากับเส้นใยของสิ่งทอ เพิ่มคุณสมบัติในการดักเก็บกลิ่น ทำให้ฉีดกลิ่นตะไคร้ที่ยุงเกลียดและรักษากลิ่นได้นานขึ้น โดยกลิ่นที่ฉีดให้สิ่งทอที่ผสมนาโนแคปซูลนี้จะเลือนหายไปตามการซักครั้งละ 25% และเมื่อหมดกลิ่นก็ฉีดเพิ่มได้อีก ทั้งนี้นาโนแคปซูลจะคงอยู่ตามอายุใช้งานของเสื้อผ้า

ปกติเส้นใยโพลีโพรพีลีน (Polypropylene) จะย้อมสีดิสเพอร์ส (Disperse dye) ได้ยาก แต่ทางสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ ได้พัฒนาเส้นใยโพลีโพรพีลีนที่ผสมแร่ดินเหนียวนาโนหรือนาโนเคลย์ (nanoclay) ทำให้การย้อมสีติดได้ดีขึ้น และสุดท้ายคือสิ่งทอที่ผสมนาโนซิลเวอร์ในเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียได้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้นำผลงานมาจัดแสดงด้วย เนื่องจากจัดแสดงได้ลำบาก




ปิดท้ายด้วยตัวอย่างสิ่งทอนาโนจากไต้หวันของสถาบันวิจัยสิ่งทอไต้หวัน (Taiwan Textile Research Institute) ซึ่งนำสิ่งทอหลายชนิดมาจัดแสดง อาทิ สิ่งทอที่ผสมสารหน่วงไฟซึ่งประยุกต์เป็นสิ่งทอสำหรับเฟอร์นิเจอร์ได้ สิ่งทอผสมสารป้องกันไฟฟ้าสถิต และสิ่งทอที่ป้องกันเชื้อแบคทีเรียและกลิ่นไปพร้อมๆ กัน เหมาะสำหรับประยุกต์ใช้กับสิ่งทอที่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง
นายสุรพงษ์ ฉินทองประเสริฐ สวมถุงมือนาโน พร้อมโชว์ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ผสมสารนาโน



คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia เพื่อรับชมภาพ สิ่งทอและนวัตกรรมนาโนเพิ่มเติมเพิ่มเติม

ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia

เสื้อกันยุงที่เส้นใยผสมนาโนแคปซุล ซึ่งกักเก็บกลิ่นได้ดี โดยเฉพาะกลิ่นตะไคร้ที่ยุงเกลียด
เส้นใยโพลีโพรพีลีนซึ่งผสมนาโนเคลย์ ช่วยให้ย้อมสีติดได้ดีขึ้น โดยเนื้อผ้าทางซ้าย เห็นความแตกต่างของสีสันอย่างชัดเจน เมื่อผสมสีให้กับเนื้อผ้าในส่วนที่ไม่ผสมนาโนเคลย์ (ด้านซ้ายที่สีซีดกว่า) และเนื้อผ้าที่ผสมนาโนเคลย์ซึ่งมีสีสดกว่า (ด้านขวา)
เส้นใยสิ่งทอผสมผงถ่านกะลามะพร้าว ซึ่งยังคงต้องพัฒนาในเรื่องของสีสัน
ตัวอย่างสิ่งทอจากไต้หวัน (ซ้าย) สิ่งทอที่ผสมสารหน่วงไฟ (ขวา) สิ่งทอที่ผสมสารป้องกันเชื้อแบคทีเรียและสารป้องกันกลิ่น (ใต้ตุ๊กตาสุนัข)
สิ่งทอผสมสารป้องกันไฟฟ้าสถิต ซึ่งเหมาะกับสภาพอากาศแห้งแล้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น