xs
xsm
sm
md
lg

“รถพยาบาลนาโน" คันไม่เล็กแต่ปลอดเชื้อด้วย "สีนาโน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล กับรถพยาบาลนาโน
ไม่ใช่แค่เสื้อนาโน แต่ "ซิลเวอร์นาโน" ยังนำไปผสมสีใช้ทา "รถพยาบาล" ได้รถปลอดเชื้อโรค ไฮไลท์งานประชุม "นาโนไทยแลนด์” ผอ.นาโนเทคระบุ ยังไม่มีรายงานอันตรายของอนุภาคนาโน ด้านนักวิจัยจุฬาผลิตอนุภาคนาโนไซส์เหมาะผสม ทารถได้ "สีขาว” ตามต้องการ

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) เปิดเผยกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ระหว่างแถลงข่าวจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการ "นาโนไทยแลนด์ ซิมโพเซียม 2008” (NanoThailand Symposium: NST2008) ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อวันที่ 29 ต.ค.51 นี้ว่า นาโนเทคได้ร่วมกับนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบริษัท สุพรีม โปรดักส์ จำกัด พัฒนา "รถพยาบาลนาโน” ซึ่งจะจัดแสดงเป็นไฮไลท์ของงานประชุมนาโนไทยแลนด์ด้วย

ทั้งนี้ ศ.นพ.สิริฤกษ์อธิบายว่า รถพยาบาลนาโนมีคุณสมบัติเป็นนาโนเทคโนโลยีตรงที่ใช้ "สีนาโน” ซึ่งมีส่วนผสมของซิลเวอร์นาโน ทาภายในตัวรถ ทำให้มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรคได้ เนื่องจากรถพยาบาลมีการสัมผัสเชื้อและคนป่วยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำความสะอาดยาก จึงนำซิลเวอร์นาโนที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อมาใช้ประโยชน์ โดยฆ่าเชื้อได้ถึง 99.99% และยังนำซิลเวอร์นาโนไปประยุกต์ใช้อย่างอื่นได้อีก

ส่วนอนุภาคนาโนจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยหรือไม่ ศ.นพ.สิริฤกษ์ตอบผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า นาโนเทคโนโลยีเป็นของใหม่ ซึ่งมีทั้งที่ทราบฤทธิ์และยังไม่ทราบฤทธิ์ จึงต้องมีการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัย และจากที่ประเมินมาพบว่าปลอดภัย แต่ก็ต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และในศูนย์นาโนเทคก็มีศูนย์วิจัยเรื่องความปลอดภัยด้านนาโนเทคโนโลยีโดยเฉพาะ

ด้าน นายพรชัย สุชาติวัฒนชัย ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท สุพรีม โพรดักส์ จำกัด ซึ่งร่วมพัฒนารถพยาบาลนาโน ระบุว่า ทางบริษัทซึ่งปกติขายอุปกรณ์การแพทย์อยู่แล้ว ได้พัฒนาในส่วนโครงสร้างรถพยาบาล และใช้อนุภาคนาโนที่นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผสมสีทาภายในตัวรถ โดยพัฒนาเป็นรถต้นแบบ และจะผลิตเพื่อจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ที่ต้องการได้ราวต้นปีหน้า

รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์นักวิจัยหน่วยปฏิบัติการวิจัย โครงการศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมพัฒนารถพยาบาลนาโน กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ได้พัฒนาอนุภาคซิลเวอร์นาโนที่มีขนาดอนุภาค 70-100 นาโนเมตร ซึ่งมีสีเหลืองๆ เทาๆ และเมื่อผสมกับ "เจลโค้ท” หรือสีทารถพยาบาลของบริษัท สุพรีม จะได้ "สีขาว” ตามความต้องการ ทั้งนี้อนุภาคซิลเวอร์นาโนมีหลายสี ตามขนาดของอนุภาค แต่รถพยาบาลต้องใช้สีขาวเท่านั้น ซึ่งทางศูนย์ผลิตอนุภาคนาโนได้วันละ 100 ลิตร โดยรถ 1 คันใช้สีทาประมาณ 2 ลิตร

นอกจากรถพยาบาลที่นับเป็นไฮไลท์ของงานประชุมนาโนไทยแลนด์แล้ว ศ.นพ.สิริฤกษ์ ระบุว่า การประชุมจัดเป็นหัวข้อเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยี 6 ด้าน ได้แก่ พลังงาน สิ่งทอ ระบบนำส่งยา อุปกรณ์นาโน ความปลอดภัย และการจำลองระดับนาโนเมตรเพื่อประยุกต์ใช้เชิงอุตสาหกรรม และแบ่งการประชุมเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ การประชุมวิชาการ การแสดงนิทรรศการด้านนาโนเทคโนโลยี และการเจรจาเพื่อสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชน

ภายในการประชุมยังได้เชิญนักวิชาการด้านนาโนเทคโนโลยีจากทั่วโลกเข้าร่วมประมาณ 300-400 คน โดยมีวิทยากรมาร่วมบรรยาย อาทิ ศ.ไมเคิล เกรทเซล (Prof.Michael Gratezel) จาก สถาบันอีโคลโพลีเทคนิคแห่งโลซานน์ (Ecole Polytechnique de Losanne) สวิตเซอร์แลนด์ ผู้บุกเบิกด้านพลังงานและค้นพบโซลาร์เซลล์แบบใหม่, ดร.ฮิเดกิ คัมบารา (Dr.Hideki Kambara) จากบริษัท ฮาตาชิ ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

พร้อมกันนี้ นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งร่วมแถลงข่าวการจัดงานนาโนไทยแลนด์ ว่าเขาได้ร่วมกับบริษัทเอกชนพัฒนา "อาหารบำรุงรากผมและหนังศรีษะ” ซึ่งใช้รักษาอาการศรีษะล้าน โดยภายในงานจะขออาสาสมัคร 1,000 คนมารับแจกสารอาหารบำรุงรากผมนี้ ซึ่งที่ปรึกษารัฐมนตรีของเขาที่มีอาการศรีษะล้านได้ทดลองใช้มา 3 เดือน ปรากฏว่ามีผมงอกขึ้น

สำหรับงานประชุมนาโนไทยแลนด์นี้จะจัดขึ้นระหว่าง 6-8 พ.ย.51 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยเปิดให้ประชาชนและเอกชนทั่วไปได้เข้าร่วมงานด้วย
รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ กับเงิน (ซ้ายมือ) วัตถุดิบสำหรับผลิตอนุภาคซิลเวอร์นาโน และ สารละลายอนุภาคซิลเวอร์นาโน ที่มีขนาดอานุภาค 70 นาโนเมตรและมีรูปร่างอนุภาคเป็นรูปสามเหลี่ยม ทำให้ได้สารละลายสีฟ้า เหมาะสำหรับประยุกต์ใช้ผลิตเซนเซอร์เพื่อการเกษตรและการแพทย์ (ขวามือ)
ภายในรถพยาบาลนาโน ที่เคลือบสีนาโน ซึ่งเป็นสีที่ผลิตอานุภาคซิลเวอร์นาโนขนาดอนุภาค 70-100 นาโนเมตร ทำให้ได้สีขาวตรงกับความต้องการ
สารละลายอนุภาคซิลเวอร์นาโนที่มีรูปร่างและขนาดอนุภาคแตกต่างกัน ทำให้ได้สารละลายที่มีสีต่างกัน ซึ่งเป็นผลงานของ รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์
กำลังโหลดความคิดเห็น