xs
xsm
sm
md
lg

นักไบโอเทค "นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล" นั่ง ผอ.นาโนเทค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล
หลายคนคุ้นเคย "นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล" ในฐานะที่เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญ "ไบโอเทค" แต่คราวนี้เปลี่ยนบทบาท มาเป็นผู้บริหาร "นาโนเทค" ทำให้อาจสงสัยได้ว่า อนาคตศูนย์แห่งชาติ ที่มุ่งพัฒนา "เทคโนโลยีจิ๋ว" จะมุ่งเน้นสู่งานวิจัย ด้านการแพทย์เป็นหลักหรือไม่

หลังจาก ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล หมดวาระ ในการดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็ได้ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้ช่วย ผอ.สวทช. เข้ารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการนาโนเทคคนใหม่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.51 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ได้เปิดโอกาสให้ผู้จัดการวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยสื่อมวลชนจากฉบับอื่น เข้าสัมภาษณ์ ณ อาคารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (อาคารโยธี) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อบ่ายวันที่ 6 ส.ค.51

จากบทบาททางด้านการแพทย์ และชีวภาพทำให้เกิดคำถามว่า แนวทางวิจัยต่อไปของนาโนเทค จะเน้นด้านการแพทย์และชีวภาพเป็นหลักหรือไม่? ซึ่ง ศ.นพ.สิริฤกษ์ เผยว่า ทิศทางการวิจัยของนาโนเทค จะมุ่งไปทางด้านชีวภาพมากขึ้น แต่ก็ยังคงมีงานวิจัยสาขาอื่นๆ อย่างพลังงาน อิเล็กทรอนิกส์ และวัสดุศาสตร์

อย่างไรก็ดี จะมีการแบ่งสัดส่วนงานวิจัยชีวภาพ วัสดุศาสตร์และอิเล็กทรอนิกส์ ด้านละ 1 ใน 3 อย่างละเท่าๆ กัน

"แนวทางบริหารระยะสั้น ใน 1-2 ปีข้างหน้า จะผลักดันให้นาโนเทคโนโลยี เป็นฐานในการพัฒนา 2 อุตสาหกรรมนำร่อง คือ อุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งนาโนเทคโนโลยี สามารถเพิ่มคุณสมบัติในการกันน้ำ กันแบคทีเรีย ปรับสภาพให้ผู้สวมใส่รู้สึกสบาย และอุตสาหกรรมสารสกัดจากธรรมชาติ โดยสารสกัดมีข้อจำกัดหลักๆ คือการเสื่อมสภาพได้ง่าย แต่ใช้นาโนเทคโนโลยีทำให้สารสกัดเหล่านี้คงสภาพได้นานขึ้นและมีคุณสมบัติดีขึ้น" ศ.นพ.สิริฤกษ์กล่าว

ส่วนแผนการบริหาระยะกลาง-ยาวนั้น ศ.นพ.สิริฤกษ์ระบุว่า เลือกที่จะนำนาโนเทคโนโลยีไปพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านพลังงาน โดยยกตัวอย่างการพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งปัจจุบันเซลล์แสงอาทิตย์เปลี่ยนแสงเป็นพลังงานได้ 7% ส่วนงานวิจัยชั้นสูงทำได้ 14-15% และตอนนี้มีความพยายามใช้นาโนเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพให้แผงเซลล์แสงอาทิตย์มากขึ้น แต่ในทางทฤษฎีทำได้ไม่เกิน 25% แต่จะพยายามทำให้ได้ถึง 45-50%

นอกจากนี้ ยังจะนำนาโนเทคโนโลยีไปพัฒนายาในหลายๆ ด้าน ทั้งหาสารออกฤทธิ์ชนิดกใหม่ หรือหาทางเพิ่มประโยชน์ในการออกฤทธิ์ของยามากขึ้น รวมถึงการพัฒ นาระบบนำส่งยาด้วย

ศ.นพ.สิริฤกษ์ระบุว่ามี 3 แนวทางในการบริหารนาโนเทคคือ มุ่งวิจัยและพัฒนาที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อชาติเป็นหลัก (National Importance) และตั้งเป้าเป็นศูนย์ที่มีความสามารถระดับโลก (International Excellence)

ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเลิศทุกอย่าง แต่เรื่องที่ทำต้องดีจริง ซึ่งมีหลายเรื่องที่ไทยมีความสามารถในระดับชั้นนำของโลก อาทิ เทคโนโลยีคงสภาพของสารธรรมชาติ ระบบนำส่งยาวบางชนิด เป็นต้น และการเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถทั้งในและต่างประเทศ (Global Visibility)

สำหรับความเห็น ต่อการบริหารงานที่ผ่านมาของนาโนเทค ศ.นพ.สิริฤกษ์ไม่ได้ให้ความเห็นโดยตรง แต่ระบุว่านาโนเทคกำลังอยู่ในช่วงเติบโต โดยเป็นศูนย์แห่งชาติน้องใหม่ที่มีอยู่แค่ 4 ปี ตอนนี้เปรียบเหมือนอยู่ในช่วงวัยรุ่น ในส่วนของการตอบสนองความต้องการประเทศนั้นนาโนเทคก็เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เสื้อนาโน และเป็นแว่นตานาโน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องทำให้เกิดผลงานมากขึ้น

การเข้ารับตำแหน่งผู้บริหารใหม่ของนาโนเทคในครั้งนี้ ศ.นพ.สิริฤกษ์ระบุว่าไม่ได้เปลี่ยนแนวทางการทำงานไปจากเดิม เพราะเมื่อครั้งศึกษาอยู่ระดับปริญญาเอกที่อังกฤษ ก็ศึกษาเรื่องการดัดแปลงโมเลกุลของแอนติบอดี ซึ่งรูปร่างเหมือนตัว Y และมีความสามารถในการจับกับอะไรได้อย่างจำเพาะ ทั้งนี้มีความพยายามนำแอนติบอดีไปใช้รักษาโรคมะเร็ง โดยเขาเองได้ดัดแปลงให้แขนซ้ายของแอนติบอดี  จับกับมะเร็งและแขนขวาจับยา เมื่อฉีดแอนติบอดีเข้าร่างกายให้ไปจับกับเซลล์มะเร็งแล้วก็ฉีดยารักษาตามเข้าไปเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง

"แอนติบอดีนี้บางคนเขาก็เรียกว่านาโนบอดี (nano body) ดังนั้นงานที่ทำก็มีลักษณะที่เป็นนาโนมาตั้งแต่ต้น" ศ.นพ.สิริฤกษ์กล่าว พร้อมทั้งเผยว่าการได้ทำงานในส่วนกลางของ สวทช. มาก่อน ทำให้ทราบว่าแต่ละศูนย์แห่งชาตินั้นมีอะไรคืบหน้า ทำให้เห็นว่าจะประยุกต์อะไรเข้าด้วยกันได้บ้าง

ส่วนผู้บริหารนาโนเทคคนเดิม ฝากงานอะไรไว้ให้บ้างนั้นเขาตอบว่ามีงานให้สานต่อคืองาน "นาโนไทยแลนด์" (Nano Thailand) ซึ่งเป็นงานประชุมวิชาการทางด้านนาโนเทคโลยีที่จะจัดขึ้นปลายปีนี้ พร้อมทั้งเผยว่าในการบริหารนั้นไม่จำเป็นต้องเริ่มงานใหม่ แต่จะทำให้องค์กรมีความแข็งแกร่ง และทำให้แผนกลยุทธ์ที่มีอยู่แล้วเกิดผลได้ในทางปฏิบัติ

สำหรับ ศ.นพ.สิริฤกษ์ จบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นได้รับทุน "มูลนิธิอานันทมหิดล" ไปศึกษาต่อในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge University) สหราชอาณาจักร และได้ปฏิบัติงานหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยโคโลราโด (Colorado University) สหรัฐฯ

ศ.นพ.สิริฤกษ์ มีความเชี่ยวชาญในการวิจัยระดับโมเลกุลของโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อไวรัสตับอักเสบ เชื้อก่อโรคเมดิออยโดซิสและเชื้อไวรัสไข้หวัดนก และก่อนดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.ได้เข้าทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค).

กำลังโหลดความคิดเห็น